×

‘ไม่มีอะไรจะพูด’ ละครเวทีในห้องคู่ขนาน: เมื่อคนกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกัน พวกเขาแค่ทำการแสดง

10.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ละครเวทีในห้องคู่ขนานที่คนดูถูกจับแยก ผลงานชิ้นใหม่ล่าสุดของ วิชย อาทมาท ผู้กำกับเจ้าของรางวัล ITAC Awards จากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงแห่งประเทศไทย ในสาขาละครยอดเยี่ยมติดกันถึง 2 ปีซ้อน
  • ละครเรื่องนี้มีนักเขียนบทที่เข้าร่วมในโปรเจกต์ถึง 5 คน ได้แก่ คำ ผกา, โตมร ศุขปรีชา, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งเป็นทั้ง นักคิด นักเขียน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายนักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่หลายคนรู้จักกันดี

     ว่ากันว่านักออกแบบมักจะนำข้อจำกัดหรือปัญหามาขบคิดเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ตอบโจทย์จนก่อให้เกิดเป็นงานดีไซน์ใหม่ๆ เช่นเดียวกับนวัตกรรมในด้านต่างๆ

     และการแสดงร่วมสมัยหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นอะไรที่คล้ายๆ กันในแง่นั้นด้วยว่าการแสดงในกลุ่มนี้ ได้หยิบยกเอาปัญหาข้อจำกัดจากความอึดอัดที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดขึ้น

     รวมถึงการแสดงละครเวทีเรื่อง ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ ของผู้กำกับ วิชย อาทมาท ที่เพิ่งเปิดการแสดงรอบแรกไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

 

     การแสดงเกิดขึ้นในห้องคู่ขนาน: พื้นที่การแสดงไม่ได้มีเพียงหนึ่ง เพราะพวกเขาใช้องค์ประกอบทางการแสดง จัดสรรการจราจรในพื้นที่ แยกคนดูออกไปเป็น 2  ฝั่งโดยให้อิสระกับผู้ชมว่าจะเลือกนั่งดูในห้องฝั่งซ้ายหรือขวาก็ได้ ทั้งยังบอกอีกว่าหากมีนักแสดงมาชักชวนให้ย้ายไปอีกห้อง ก็สามารถย้ายเปลี่ยนห้องได้ตามใจ โดยตลอดเกือบ 2 ชั่วโมงที่ทำการแสดงคู่ขนาน มีการโยกย้ายเช่นนี้เกิดขึ้นประมาณ 4-5 ครั้ง

     ในระหว่างที่ทำการแสดงนั้น: เนื่องจากทั้งสองห้องมีกระจกใสที่เปิดโล่ง จึงทำให้ในระหว่างที่ชมการแสดงในห้องที่ตนเลือก ผู้ชมยังจะมองเห็นการแสดง ที่บางจังหวะเวลาจะเกิดขึ้นบริเวณทางเดินระหว่างห้องทั้งสอง เลยไปจนถึงอีกห้องหากชะแง้มอง รวมถึงบางช่วงบางจังหวะอาจจะได้ยินเสียงของนักแสดงจากห้องข้างๆ ด้วยระบบเสียงที่ทำเชื่อมต่อกันระหว่างห้อง เรายังสามารถเห็นได้แม้กระทั่งปฏิกิริยาของผู้ชมในห้องคู่ขนาน แต่จะไม่ทราบแน่ชัดว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ด้านนั้นบ้าง เอาเข้าจริงๆ แล้วคนดูไม่ได้เลือกหรอก แค่ถูกทำให้คิดว่าได้เลือกเสียมากกว่า

     บทการแสดงไม่ได้มีเพียงหนึ่ง: หากมีเรื่องราวที่มีเส้นเรื่องพอให้ติดตามได้อยู่ 5 เรื่อง ตามจำนวนของผู้เขียนบทละครที่ถูกเชื้อเชิญมาร่วมโปรเจกต์ อันได้แก่ คำ ผกา,โตมร ศุขปรีชา, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งคนทั่วไปก็น่าจะพอทราบว่าคนเหล่านี้มีทั้งที่เป็นนักคิด นักเขียน ทนายความนักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ได้อยู่ในแวดวงของละครร่วมสมัยในบ้านเรา คำถามของหลายคนที่พอจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการแสดงเรื่องนี้ก็คือ แล้วพวกเขามารวมตัวกันทำละครเวทีเพื่อที่จะสร้างสรรค์เรื่องราวที่เกี่ยวกับอะไร

 

 

     เรื่องของผู้เขียนบทละครแต่ละคน: เขียนขึ้นจากโจทย์ที่ผู้กำกับมอบหมายให้ (แต่ละคนได้รับโจทย์ที่แตกต่างกัน) ถูกนำไปปรับโฉมใหม่ โดยยังคงแก่นของเรื่องเดิมเอาไว้ ทั้งยังไม่ได้ถูกเล่าทีละเรื่อง หากถูกตัดเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ แล้วนำมาร้อยเรียงขึ้นมาใหม่ในจักรวาลอันแสนจะยุ่งเหยิง เส้นเรื่องหลักที่คนดูพอจะจับได้นั้น ได้แก่

     ประวัติศาสตร์การค้นพบ ‘หอยสุมอย’: ในปีเจริญศักราช 2050 ณ กรุงศิวิไลซ์ ประเทศเจริญแล้ว มีการค้นพบที่สำคัญยิ่งกว่าการค้นพบไหนๆ นั่นคือการค้นพบหอยสุมอย หอยชนิดนี้เป็นของวิเศษ ซึ่งใครที่หาหอยสุมอยเจอจะ ‘ตื่นรู้’ เพราะหอยดังกล่าวมีแสงสว่างในตัวเอง มีขนเรืองแสงสีทองสวยงาม จึงเกิดยุค ‘ตื่นหอย’ ต่อมามีการใช้หอยนี้เพื่อเป็นทั้งเสื้อผ้า นำไปแกล้งเพื่อน นำไปใช้เป็นอาวุธสงคราม ไปจนถึงก่อการร้าย ทางรัฐมาร (เขียนถูกแล้ว) จึงได้พยายามเก็บหอยให้ไปไกลหูไกลตาประชาชน ผู้ใดที่อ้างว่าพบหอยสุมอยจะต้องโทษหนัก (ต้นเรื่องโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ)

     เรื่องราวของเมรีมีเกี๊ยว: ลูกครึ่งยักษ์-มนุษย์ ที่เป็นกระแสร่ำลือกันในเฟซบุ๊กว่าไส้เกี๊ยวซ่าสูตรลับจากบ้านคุณแม่สันทมารของเธอเป็นเกี๊ยวไส้เนื้อคน ทำให้เมรีเครียดมาก เพราะปกติสื่อก็ชอบกล่าวหายักษ์อย่างเธออยู่แล้ว (ต้นเรื่องโดย คำ ผกา) จนต้องไปเชิญ เชฟวิลสัน เชฟผู้เชี่ยวชาญเรื่องเนื้อทุกชนิด มาพิสูจน์ว่าไส้เกี๊ยวของเธอเป็นอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ (ต้นเรื่องโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์)

     ปีศาจหมอยทองคำ: เป็นบทสนทนาของชายกลุ่มหนึ่งที่นัดกันมามีเซ็กซ์ แล้วก็พบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อมีสมาชิกในวงคนหนึ่งที่ชื่อ ‘ไผ่’ และสมาชิกอีกคนหนึ่งที่ถ่ายคลิปวิดีโอระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ของทุกคนเอาไว้ (ต้นเรื่องโดย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา)

 

 

     คนดูต้องทำงานอย่างหนัก: เพราะนอกจากทั้ง 4 เรื่องข้างต้นจะถูกตัดสลับให้ต้องปะติดปะต่อเรื่องราวและแปลความหมายแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่ โตมร ศุขปรีชา เป็นต้นเรื่องเขียนขึ้นมานั้น ไม่ได้มีเส้นเรื่องให้จับ หากเป็นบทสนทนาแอ็บสแตรกต์เกี่ยวกับจับฉ่าย ผีของใครสักคนที่มาหลอกหลอนตัวเอง และอะไรบางอย่างอยู่อีกเรื่อง

     กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานเช่นนี้: ถือเป็นความยากที่ท้าทายทั้งทีมงานและคนดูเป็นอย่างมาก นี่จึงเป็นการแสดงละครเวทีที่กล้าหาญที่สุดเรื่องหนึ่งในแง่ของการเรียกร้องเอาจากคนดู

     ผู้ที่ทำหน้าที่แปลงโฉมบทละครทั้ง 5: คือ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ผู้กำกับหนังสั้นชื่อ ‘แหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน’ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักดูหนังสั้นและผู้ชมงานศิลปะ แม้เราจะไม่รู้ว่าบทร่างต้นของ ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ นั้นเป็นอย่างไร แต่คิดว่าผู้ปรับบทได้ ‘อำพราง’ และ ‘แปลงโฉม’ ให้บทที่ดูเหมือนว่าจะไร้สาระนั้นกลายเป็นอีกเรื่องที่มีศิลปะในการ ‘แซะ’ ได้สนุกสนานอย่างน่าชื่นชม

 

 

     ผู้กำกับการแสดง: วิชย อาทมาท เคยใช้พื้นที่การแสดงเดียวกันนี้ คือห้องบีฟลอร์ และโรงละครพระจันทร์เสี้ยว สตูดิโอ (ซึ่งทั้งสองห้องอยู่ภายในสถาบันปรีดี พนมยงค์ และตั้งอยู่ตรงข้ามกัน) สร้างสรรค์ผลงานในห้องคู่ขนานเรื่อง ‘บ้าน cult เมือง cult’ เมื่อหลายปีที่แล้ว สำหรับละครเวที ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ ผลงานชิ้นล่าสุดนี้ผู้กำกับสามารถใช้ข้อจำกัดของพื้นที่มาสร้างสรรค์ประสบการณ์ให้กับผู้ชมได้อย่างแปลกใหม่ ทั้งการจัดวางภาพปะติด (collage) อันแสนวุ่นวายสับสน ก็ทำได้อย่างมีจังหวะจะโคน ทั้งนี้วิชยยังเป็นเจ้าของผลงานรางวัล ITAC Awards จากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงแห่งประเทศไทย ในสาขาละครยอดเยี่ยมติดกันถึง 2 ปีซ้อน ได้แก่ ‘In เธอ’s view: a documentary theatre’ (2014) กับ ‘เพลงนี้พ่อเคยร้อง’ (2015)

     หากคนดูไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องแปลสัญญะ: หรือความหมายให้ได้หมดทุกเม็ด ก็สามารถสนุกกับการแสดงได้ไม่ยาก ต้องขอชื่นชมทีมนักแสดงซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีในแวดวงละครเวทีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น อรรถพล อนันตวรสกุล, สายฟ้า ตันธนา, สุมณฑา สวนผลรัตน์, ณัฐญา นาคะเวช, พันธุ์ชนะ สุนทรพิพิธ, อารยา พิทักษ์  ไม่น่าแปลกใจว่านักแสดงมือเก๋าทุกคนจะสามารถรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดี จะมีก็เพียงแต่ โตมร ศุขปรีชา ซึ่งแม้เราจะไม่เคยเห็นเขาในบทบาทนักแสดงมาก่อน แต่ก็คิดว่าเขาสามารถเบลนด์ตัวเองเข้ากับกลุ่มนักแสดงคนอื่นได้จนเป็นทีมเดียวกัน

     อีกอย่างที่น่ากล่าวถึงคือฉากและการใช้พื้นที่: ห้องทางซ้ายมีจุดเด่นของฉากคือโคมไฟใบบัวที่ห้อยลงมาจากบนเพดาน ทำให้เรานึกถึงนัยของสุภาษิตไทย ที่มีเซนส์ถึงเรื่องของการปกปิดอำพรางซ่อนเร้น ในขณะที่ห้องทางด้านขวานั้นเด่นชัดด้วยต้นไผ่ที่ถูกแขวนลอยไว้ ซึ่งผู้ชมบางคนอาจจะฉุกคิด เอะใจ สงสัยว่า เพราะเหตุใดต้นไผ่ซึ่งเป็นพืชที่แทงยอดในแนวพุ่งสูงขึ้นไปบนฟ้า จึงถูกเลือกที่จะนำมาแขวนลอยไว้ให้เห็นว่า ‘ไร้ราก’ หรือ ‘รากลอย’

 

 

     การกำหนดให้ผู้ชมสามารถเลือกด้ว่าจะดูจากพื้นที่ตรงไหน: ทำให้อิมแพ็กและประสบการณ์ที่คนดูแต่ละคนได้รับย่อมแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังเป็นการจำลองโมเดลของโลกภายนอก ที่คนในแต่ละฝั่งไม่มีทางล่วงรู้ข้อมูลทุกอย่างได้หมด จนทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด

     ความอัดอั้นยังถูกนำมาตอกย้ำอีกรอบ: เมื่อในช่วงท้ายๆ ของการแสดง มีการเพิ่มทางเลือกให้กับคนดูว่า นอกจากจะเลือกดูได้จากห้องฝั่งซ้ายหรือขวาแล้ว ผู้ชมยังสามารถเลือกเป็น ‘คนกลาง’ โดยจะนั่งดูอยู่ตรงทางเชื่อมระหว่างห้องก็ได้ และการเล่น ‘ตี่จับ’ ระหว่างห้องทั้งสองนั้นก็ราวกับเป็นการตั้งคำถามถึงสถานะต่อคนที่ไม่เลือกข้างว่าจะอยู่ฝ่ายซ้ายหรือขวา หากเลือกนั่งดูโดยไม่ขอเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า

 

     มันมักจะเป็นอย่างนี้เสมอเมื่อคนเราไม่สามารถพูดจากันได้ตรงๆ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที แต่ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็ย่อมสามารถหาวิธีการที่จะสื่อสารถึงกันได้เสมอ ซึ่งเราหวังว่ามันจะนำมาซึ่งบทสนทนาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ‘ไม่ว่าจะในพื้นที่ไหนก็ตาม’

 

Photo: จีรณัฐ เจียรกุล

FYI

จัดแสดงระหว่างวันที่ 8-24 มิถุนายน 2560 (ทุกวันยกเว้นวันอังคารและวันพุธ) เวลา 20.00 น. ณ ห้องพระจันทร์เสี้ยว และห้องบีฟลอร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ทองหล่อ บัตรราคา 680 บาท (ราคาโอน 620 บาท) นิสิต/นักศึกษา 580 บาท (โอนเท่านั้น) จองบัตรได้ทาง โทร. 08 3087 8847 เพจอีเวนต์: ละครเวที ไม่มีอะไรจะพูด

ITAC: ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงแห่งประเทศไทย (International Association of Theatre Critics Thailand Centre) เกิดจากการรวมตัวกันของนักวิจารณ์ศิลปะการแสดงชาวไทย ซึ่งได้ทำการขึ้นทะเบียนกับสมาคมนักวิจารณ์ระดับสากล ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2011 มีการมอบรางวัลประจำปีให้กับการแสดงและละครเวที คล้ายกับ Tony Awards ของบรอดเวย์ ของชาวอเมริกัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X