×

Ai Weiwei is watching you นิทรรศการศิลปะ Hansel & Gretel ที่เรากลับกลายเป็นผู้ถูกดู

19.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • อ้ายเว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ศิลปินผู้สร้างชื่ออย่างอื้อฉาวจากข่าวการต่อต้านรัฐบาลจีน เขาจับมือกับสถาปนิกชาวสวิตเซอร์แลนด์ชื่อดัง Jacques Herzog และ Pierre de Meuron เลือกหยิบประเด็น ‘การสอดแนม’ มาแปลงเป็นผลงานนิทรรศการศิลปะ ‘Hansel & Gretel’
  • ห้องเปิดโล่งขนาดใหญ่ที่ปิดไฟมืด มีแสงเล็กน้อยจากโดรนที่บินอยู่ด้านบน กระจายตัวอยู่รอบๆ ห้อง โดรนเหล่านี้จะเป็นตัวจับทุกการเคลื่อนไหวของผู้เข้าชมงาน ไม่ว่าเราจะเดินไปทางไหน ทำท่าทางอย่างไร ก็จะถูกบันทึกไว้ผ่านกล้องโดรน และกล้องอื่นๆ กว่า 56 ตัวที่ซ่อนอยู่ในห้อง
  • ถ้าเราเปรียบเทียบนิทรรศการห้องมืดในส่วนแรกเป็น ‘ผู้ถูกดู’ ในนิทรรศการส่วนที่สองนี้ก็จะเป็นเหมือน ‘ผู้ดู’ ที่จะเฉลยเบื้องหลังทั้งหมดของงาน

     ย้อนกลับไปในสมัยที่ผู้เขียนเริ่มอ่านงานของ ‘ต้องการ’ ผ่านนิตยสาร a day  และมันได้กลายเป็นความสุขของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ในทุกๆ ฉบับ ต้องเปิดหาหน้ากระดาษ 2 หน้าคู่ที่เต็มไปด้วยภาพวาดผู้คนจากมุมไกล ภาพวาดผู้คนที่อยู่ในสวนสาธารณะ หรือผู้คนที่อาศัยอยู่ในตึก และต่างกำลังใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง โดยที่เราทำหน้าที่แอบมองตัวละครเหล่านั้นผ่านช่องหน้าต่างเล็กๆ นี่อาจจะเป็นความรู้สึกแรกเริ่มในฐานะผู้สังเกตการณ์ และเป็นจุดเริ่มต้นความเกี่ยวข้องกับ ‘Surveillance’ หรือ ‘การสอดแนม’

     ตัดภาพมาในปัจจุบันเมื่อผู้ถูกสังเกตการณ์ไม่ได้เป็นแค่ตัวละคร หรือภาพวาดในหนังสือ การ ‘การสอดแนม’ จึงกลายเป็นประเด็นร้อนทั้งในหนังสือพิมพ์ และโลกออนไลน์ มีข่าวที่นำเสนอการสอดส่องประชาชนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือเพื่อผลประโยชน์แฝงบางอย่าง ทำให้เหล่าศิลปินและนักเคลื่อนไหวออกมาสร้างผลงานเพื่อสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

     เช่นเดียวกับ อ้ายเว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ศิลปินผู้สร้างชื่ออย่างอื้อฉาวจากข่าวการต่อต้านรัฐบาลจีน เขาจับมือกับสถาปนิกชาวสวิตเซอร์แลนด์ชื่อดัง Jacques Herzog และ Pierre de Meuron เลือกหยิบประเด็น ‘การสอดแนม’ มาแปลงเป็นผลงานนิทรรศการศิลปะ ‘Hansel & Gretel’ ให้ผู้เข้าชมงานได้ลองเป็นทั้งผู้สังเกตการณ์ และผู้ถูกสังเกตการณ์ ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบต่างๆ ที่ศิลปินได้ติดตั้งไว้ ผลงานดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เข้าชมงานตระหนักถึงปัญหาการสอดแนมประชาชน และการคงไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวในยุคแห่งเสรีภาพ ผ่านวิธีการนำเสนอที่เข้าใจง่ายและเพลิดเพลิน

 

     

     Hansel & Gretel จัดขึ้นที่ The Park Avenue Armory ในเมืองแมนฮัตตัน นิวยอร์ก จากสถานีรถไฟใต้ดิน 68th Street–Hunter College ปกติแล้วสถานที่แห่งนี้ใช้จัดนิทรรศการศิลปะมากมาย อย่างปีที่แล้วเราอาจจะเคยเห็นภาพห้องที่เต็มไปด้วยลูกโป่งสีขาวในอินสตาแกรมของหลายๆ คน ผลงานของศิลปิน Martin Creed ซึ่งก็จัดที่นี่เช่นเดียวกัน แต่ครั้งนี้ประตูหลักของตึกจะถูกปิดเอาไว้ ซึ่งจะต้องซื้อตั๋วสำหรับเข้างานอีกฝั่งของตึก ก่อนจะวนไปทางเข้าซึ่งจะอยู่ด้านหลังของ The Park Avenue Armory ราคาตั๋วเข้างานนั้นอยู่ที่ 17 เหรียญดอลลาร์ และพนักงานจะแจ้งให้พกตั๋วนี้ติดตัวตลอดเวลา เพราะงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ซึ่งจะต้องแสดงตั๋วก่อนเข้าชมงานทั้งสองส่วน

 

 

     เมื่อเดินถึงทางเข้าหลัก จะมีพนักงานอธิบายและชี้แจงถึงงานเล็กน้อย ก่อนจะให้ผู้เข้าชมเดินเข้าไปในอุโมงค์ที่มืดสนิท มีเพียงแสงส่องจากไฟฉายอยู่ปลายทาง

     ห้องแรกของงานแสดงเป็นห้องเปิดโล่งขนาดใหญ่ที่ปิดไฟมืด มีแสงเล็กน้อยจากโดรนที่บินอยู่ด้านบน กระจายตัวอยู่รอบๆ ห้อง โดรนเหล่านี้จะเป็นตัวจับทุกการเคลื่อนไหวของผู้เข้าชมงาน ไม่ว่าเราจะเดินไปทางไหน ทำท่าทางอย่างไร ก็จะถูกบันทึกไว้ผ่านกล้องโดรน และกล้องอื่นๆ กว่า 56 ตัวที่ซ่อนอยู่ในห้อง ภาพของเราจากมุมมองของโดรนจะถูกถ่ายทอดลงบนพื้นที่เราเหยียบอยู่ ภาพอินฟราเรดขาวดำ ตัดกับเส้นสีแดงที่เหมือนกล่องจับโฟกัสในกล้อง ถึงแม้เราจะย้ายที่ยืนและเดินไปรอบๆ ห้อง ร่องรอยของเราที่บอกตำแหน่งชัดเจนก็ยังถูกทิ้งเอาไว้บนพื้น เหมือนเป็นหลักฐานของการปรากฏตัวในตำแหน่งต่างๆ และจะค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด

     ผู้เข้าชมงานศิลปะในห้องนี้สามารถถ่ายรูปได้อย่างเต็มที่ เพราะภายในห้องจะมีทั้งส่วนที่มีแสงส่องลงมาสว่างบางพื้นที่ เพื่อให้ผู้เข้าชมงานสามารถไปยืนใต้แสงไฟ และให้โดรนเก็บภาพได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ผู้ที่เข้ามาชมงานส่วนใหญ่พยายามหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปคู่กับงานศิลปะ หรือแท้จริงแล้วก็คือการถ่ายรูปตัวเอง คู่กับรูปตัวเองที่สะท้อนบนพื้นอีกที ในขณะที่บางส่วนก็เลือกที่จะหลบไปตามมุมห้อง ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์อีกแรงหนึ่ง แต่สุดท้ายก็จะมีกล้องตามจับภาพได้ทั่วทุกมุมห้อง

 

 

     เมื่อเพลิดเพลินกับการถูกจ้องมองในห้องนิทรรศการส่วนแรกอย่างเต็มอิ่มแล้ว ก็จะมีทางออกไปยังส่วนที่ 2 ของนิทรรศการซึ่งอยู่ด้านหน้าของตึก The Park Avenue Armory ซึ่งต้องแสดงตั๋วก่อนเข้าชมอีกครั้ง

     บริเวณทางเข้าจะมีพนักงานแจ้งให้ผู้เข้าชมหยุดยืนหลังเส้นสีน้ำเงิน และมองไปยังกล้องเพื่อถ่ายภาพ คล้ายๆ กับการตรวจคนเข้าเมืองในสนามบิน ถึงแม้ว่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งข้างหน้าเป็นเพียงงานศิลปะ แต่การถูกสั่งให้ยืนหลังเส้น และตามองกล้อง ก็ทำให้เรารู้สึกตกอยู่ภายใต้อำนาจบางอย่างที่สูงกว่า

     ถ้าเปรียบเทียบนิทรรศการห้องมืดในส่วนแรกเป็น ‘ผู้ถูกดู’ ในนิทรรศการส่วนที่สองนี้ก็จะเป็นเหมือน ‘ผู้ดู’ ที่จะเฉลยเบื้องหลังทั้งหมดของงาน ในห้องโถงหลักของตึกจะมีสองปีกที่ถูกแยกตรงกลางด้วยบันไดขนาดใหญ่ นำไปสู่ชั้นสองของตึก ซึ่งมีประตูไม้บานใหญ่ และช่องตาแมวอยู่ 2 ช่อง ซึ่งทั้ง 2 ช่องจะถูกปิดด้วยแผ่นวงกลมสีทองสำหรับเลื่อนเปิดดูได้ (สำหรับคนที่ส่วนสูงไม่เท่าชาวอเมริกันอย่างผู้เขียน ก็ต้องย่อดูตาแมวช่องล่าง) เมื่อส่องผ่านช่องตาแมวก็จะเห็นภาพจากมุมบนของห้องมืดในส่วนแรกที่เราเพิ่งออกมา ทำให้นึกถึงสุภาษิตที่ว่า หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง เพราะนอกจากโดรน และกล้องที่ซ่อนอยู่รอบห้องมืดนั้น ก็ยังมีคนแปลกหน้าที่กำลังจ้องมองเราอยู่อีกเหมือนกัน

 

     

 

     นอกจากนี้หากผู้ชมงานเดินไปทางด้านปีกทั้งสองข้างของตึก ก็จะมีจอภาพขนาดใหญ่ฉายภาพจากกล้องวงจรปิดตั้งแต่ทางเข้างาน (ซึ่งแปลว่าเราเป็นฝ่ายถูกมองตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้างานแล้ว) บนโต๊ะไม้ที่วางอยู่ทั้งสองฝั่งของตึกถูกใช้วางเครื่องแท็บเล็ตเรียงรายเป็นแถวให้ผู้เข้าชมงานเปิดใช้ได้ ในแท็บเล็ตจะรวบรวมประวัติของการสอดแนมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างละเอียดและอ่านสนุก ซึ่งมีตั้งแต่หลักฐานเกี่ยวกับการสอดแนมในไบเบิล โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมสำหรับการสอดแนม ไปจนถึงเรียลลิตี้โชว์ Big Brother และยังมีส่วนที่บอกเล่าปัญหาการสอดแนมในอเมริกาปัจจุบันอีกด้วย

     แต่ส่วนที่แปลงความตึงเครียดจากข่าวการสอดแนมของรัฐบาลไปสู่ความสนุกของการถูกสอดแนมนั้นก็คือ ผู้เข้าชมงานสามารถเปิดกล้องถ่ายรูปตัวเองจากแท็บเล็ตที่ถืออยู่ โดยโปรแกรมจะวิเคราะห์หน้าตาจากรูปนั้นๆ และหาภาพของเราที่ถูกถ่ายด้วยกล้องวงจรปิดรอบงาน โดยผู้เข้าชมงานสามารถส่งภาพจากกล้องวงจรปิดเหล่านั้นเข้าอีเมลของตัวเอง หรือแม้กระทั่งซื้อภาพปรินต์ของตนเองได้ในราคา 10 ดอลลาร์ หรือประมาณ 340 บาท

     และหากเยี่ยมชมส่วนต่างๆ ในแท็บเล็ตจนครบ ก็จะพบว่าเราถูกบันทึกภาพเอาไว้ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เพียงในห้องมืด แต่ทั้งทางเข้า ทางออก ทางเดินภายในอุโมงค์ ก็มีกล้องบันทึกการเคลื่อนไหวของผู้เข้าชมงานทุกคนเอาไว้หมด เรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะที่ผู้เขียนไม่ค่อยแน่ใจว่าเราเข้าไปเพื่อดูงานศิลปะ หรือเข้าไปเพื่อเป็นผู้ถูกดูกันแน่

 

 

     งานศิลปะครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็น Interactive Installation Art อย่างหนึ่ง ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมงานเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะโดยตรง ซึ่งว่ากันตามจริง สำหรับ Hansel & Gretel ผู้เข้าชมงานน่าจะเป็นส่วนหลักของงานเลยก็ว่าได้

     Hansel & Gretel เลือกใช้แก่นเรื่องราวที่มีน้ำหนักและเป็นประเด็นจริงจัง อย่างปัญหาการสอดแนมประชาชนของรัฐบาล ทั้งยังใช้วิธีนำเสนอประเด็นดังกล่าวได้อย่างชาญฉลาด ด้วยการใช้ตัวเอกของงานเป็นผู้ชมงานศิลปะเสียเอง และลดสถานะตัวงานศิลปะเป็นเครื่องมือส่งเสริมประเด็นนั้นๆ แทน เป็นการตอกย้ำว่า ผู้ชมงานจะอยู่ในสถานะ ‘ผู้ถูกดู’ หรือ ‘ผู้ดู’ พวกเขาเหล่านั้นต่างก็เป็นพระเอกในงานอยู่ดี

     สำหรับใครที่อยากลองถูกจับตามองในงานนิทรรศการ Hansel & Gretel ก็ยังพอมีเวลา เพราะงานจัดขึ้นจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2017 และสามารถสั่งจองบัตรได้ทางเว็บไซต์ของ The Park Avenue Armory

 

FYI
  • ผลงานที่มีชื่อเสียงของเขาคือ Olympic Stadium ในปักกิ่ง ที่มีชื่อเรียกว่า ‘The Bird’s Nest’ (ซึ่งเขาบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากฝาที่นั่งชักโครก)
  • ปัจจุบันเขายังมีความเคลื่อนไหวให้ผู้ติดตามเห็นผ่านทางอินสตาแกรมและทวิตเตอร์
  • นี่ไม่ใช่การร่วมงานกันครั้งแรกของ อ้ายเว่ยเว่ย และ 2 สถาปนิก Jacques Herzog และ Pierre de Meuron พวกเขาเคยร่วมกันออกแบบ Serpentine Gallery Pavilion ที่ Hyde Park ในกรุงลอนดอน ปี 2012 มาแล้ว
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X