×

Human Flow หนังสารคดีของ ‘อ้ายเว่ยเว่ย’ งานศิลปะที่มีเพื่อนมนุษย์เป็นแรงขับเคลื่อน

21.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • Human Flow คือ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องล่าสุดของ อ้ายเว่ยเว่ย ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวจีน ที่จะพาคนดูไปรู้จักกับชีวิตของผู้ลี้ภัยจากทั่วโลก
  • กว่าจะมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ อ้ายเว่ยเว่ย เดินทางถ่ายทำมากถึง 23 ประเทศ สำรวจ 40 ค่ายอพยพ สัมภาษณ์ผู้อพยพและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่า 600 คน จนได้เป็นฟุตเทจที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวและความรู้สึกของผู้อพยพที่น้อยคนจะมีโอกาสเข้าถึงไว้มากกว่า 1,000 ชั่วโมง
  • อ้ายเว่ยเว่ย เลือกนำเสนอชีวิตของผู้ลี้ภัยในมุมมองที่กว้าง ไม่เน้นความลำบากของผู้ลี้ภัยมาเป็นดราม่าหลักของเรื่อง แต่ทำให้เห็นว่าผู้ลี้ภัยเองก็เป็น ‘มนุษย์’ เช่นเดียวกับพวกเราทุกคน

“โลกเรามี 195 ประเทศ 7 ทวีป แต่ไม่มีที่ไหนที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน” คือใจความสำคัญที่ อ้ายเว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวจีน นำเสนอผ่านงานศิลปะชิ้นใหม่ ในรูปแบบภาพยนตร์สารคดีที่ชื่อ Human Flow

 

เขาที่ อ้ายเว่ยเว่ย พูดถึงคือ ผู้คนจำนวน 65 ล้านคนทั่วโลก (จากการสำรวจของ UNHCR ในปี 2017) ที่ถูกบังคับให้ออกจากประเทศตัวเองและถูกเปลี่ยนสถานะจากผู้อยู่อาศัย กลายเป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ ในดินแดนที่ตัวเองไม่คุ้นเคยตามประเทศต่างๆ

 

 

ตัวเลข 65 ล้านคนทั่วโลก นับเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แต่ที่น่าเสียดายคือมีคนเพียงหยิบมือที่รู้ว่ายังมีบุคคลเหล่านี้อยู่บนโลก โลกใบเดียวกันแต่สภาพความเป็นอยู่ของพวกเขาแตกต่างจากพวกเราโดยสิ้นเชิง

 

อ้ายเว่ยเว่ย มองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และตัดสินใจทำภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา ด้วยคอนเซปต์ที่แสนเรียบง่าย คือตามถ่ายชีวิตของผู้ลี้ภัยทั่วโลก แต่เขาเลือกเล่นท่ายาก ด้วยการเดินทางถ่ายทำมากถึง 23 ประเทศ สำรวจ 40 ค่ายอพยพ สัมภาษณ์ผู้อพยพและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่า 600 คน จนได้เป็นฟุตเทจที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวและความรู้สึกของผู้อพยพที่น้อยคนจะมีโอกาสเข้าถึงไว้มากกว่า 1,000 ชั่วโมง

 

 

การซื้อบัตรภาพยนตร์เรื่อง Human Flow เปรียบเทียบได้กับการซื้อบัตรเพื่อไปเข้าชมชีวิตของผู้ลี้ภัยจาก เมียนมา, ซีเรีย, เคนยา, บังกลาเทศ, ไนจีเรีย, อิรัก, ตุรกี, ซูดาน, เซเนกัล ฯลฯ ในมุมที่แตกต่างจากสารคดีผู้ลี้ภัยเรื่องอื่นๆ ที่มักจะนำเสนอชีวิตผู้ลี้ภัยในมุมลึก เช่น Out of Place: Memories of Edward Said (2006) ที่พูดถึงผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์, ชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวซีเรียใน The War Show (2016) และ Fire at Sea (2016) ที่พาไปดูการอพยพเข้สู่ยุโรปของผู้ลี้ภัยจากทั่วโลกแบบใกล้ชิด แต่ Human Flow เลือกนำเสนอถึงผู้ลี้ภัยในวงกว้าง ทำให้เห็นภาพรวมของการเดินทาง สภาพความเป็นอยู่ และสิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญในมิติที่มากขึ้น

 

โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่ใกล้ตัวพวกเรามากที่สุด กลุ่มคนการเป็นประเด็กถกเถียงในวงกว้างว่าเราควรจะอยู่ร่วมกับพวกเขาได้อย่างไร สถานที่ไหนคือสถานที่ที่พวกเขาควรอาศัยอยู่กันแน่ ในภาพที่ถูกประโคมข่าวจนหลายคนเข้าใจไปว่าชาวโรฮีนจาเป็นกลุ่มคนที่โหดร้าย สร้างปัญหาต่างๆ มากมาย แต่ใน Human Flow จะเสนอภาพที่ทำให้เราได้เห็นมุมมองความเป็นมนุษย์ที่มีรอยยิ้มและเปี่ยมไปด้วยความหวัง ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์อีกหลายล้านคนทั่วโลก สิ่งเดียวที่พวกเขาแตกต่างจากเรามีเพียงแค่ พวกเขาไม่สามารถเรียกสถานที่ที่ลืมตาขึ้นมาดูโลกได้ว่า ‘บ้าน’ อย่างเต็มปากเต็มคำเท่านั้นเอง

 

 

เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวัง แม้จะต้องเดินทางไกลหลายพันกิโลฯ บางครั้งต้องยืนต่อแถวเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพื่อแลกกับแซนด์วิชชิ้นเล็กๆ เพื่อรองท้อง แต่เราแทบไม่เคยได้ยินเสียงบ่นใดๆ จากพวกเขาแม้ในวันที่ไม่มีใครเหลียวแล พวกเขายังใช้ชีวิตต่อไปด้วยความเชื่อว่าจะมีเพียงสถานที่ใดสักที่หนึ่ง ที่จะมอบความสงบสุขและกลายเป็น ‘บ้าน’ ที่พวกเขารอคอยมาทั้งชีวิตได้เสียที

 

 

ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นสิ่งที่เซอร์ไพรส์เรามากที่สุด เพราะถ้าเทียบจากผลงานอื่นๆ อ้ายเว่ยเว่ย คือศิลปินที่ไม่เคยประนีประนอมกับเนื้อหาที่มุ่งเน้นการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา (ถึงขนาดเคยโดนจับและรุมทำร้ายในประเทศจีน) แต่ในคราวนี้เขาผ่อนคลายกับมู้ดการนำเสนอมากขึ้น เขาไม่ได้บีบเค้น เร่งรัด ให้เราต้องรีบรู้สึกเดี๋ยวนั้นว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยนั้นยากลำบากมากแค่ไหน แต่เขาเลือกที่จะค่อยๆ นำเสนอชีวิตของผู้ลี้ภัยแบบช้าๆ ไม่ฟูมฟาย ให้ได้เห็นอิริยาบถหลายๆ อย่างของผู้ลี้ภัยทั้งหมด ได้เห็นว่าผู้ลี้ภัยยังยิ้มได้ ยังพอมีชีวิตที่ปกติได้บ้างในบางสถานการณ์ ซึ่งความสบายที่ค่อยๆ นำเสนอให้เห็นนี่ล่ะ ที่ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือ ‘เพื่อนมนุษย์’ ที่มีทุกอย่างเท่าเทียมกับเรา ไม่ใช่เพียงแค่ ‘ผู้ลี้ภัย’ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากเราเพียงอย่างเดียว

 

 

และเมื่อเรามองว่าคนเหล่านั้นคือ ‘เพื่อน’ เราย่อมเต็มใจที่จะดูแลและมอบความช่วยเหลือให้มากกว่าการมองเป็น ‘ใคร’ ก็ไม่รู้ที่อยู่ห่างไกลเราเหลือเกินเป็นธรรมดา

 

เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่าเราหรือผู้ลี้ภัยล้วนเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน เราอาจไม่ได้เป็นมนุษย์ที่พิเศษมาจากไหน เราเป็นเพียงแค่มนุษย์ที่โชคดี ส่วนพวกเขาก็เป็นเพียงแค่มนุษย์ที่โชคร้ายเท่านั้นเอง

FYI
  • Human Flow คือผลงานภาพยนตร์สารคดีลำดับที่ 13 ของ อ้ายเว่ยเว่ย ต่อจาก Disturbing the Peace (2009), One Recluse (2010), So Sorry (2012), Ordos 100 (2012) และ Ai Weiwei’s Appeal ¥15,220.910 (2014) ฯลฯ
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ผู้กำกับภาพมากถึง 12 คน และหนึ่งในนั้นคือ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ผู้กำกับภาพคู่ใจของ หว่องกาไว, จางอี้โหมว และ เป็นเอก รัตนเรือง
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising