นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ในคิวบา หนึ่งในไม่กี่ประเทศบนโลกที่ดูเหมือนจะยังคงปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อยู่ในขณะนี้ โดยเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ทางการคิวบาจัดการลงประชามติว่าด้วยการปรับปรุงแก้ไขหลักกฎหมายครอบครัว ปูทางไปสู่การเป็นประเทศที่สนับสนุน #สมรสเท่าเทียม (Marriage Equality)
อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คิวบาก้าวมาถึงจุดนี้?
1. เสียงสนับสนุนของประชาชน และการต่อสู้อย่างไม่ละความพยายาม
มีความพยายามที่จะผลักดันและเรียกร้องให้ทางการคิวบาอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะในช่วงปี 2017 ที่กระแสการเรียกร้องให้มีการปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญคิวบาใหม่อีกครั้งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา หลังจากที่เคยปรับแก้รัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดตั้งแต่ปี 1992
มีการเสนอร่างปรับแก้รัฐธรรมนูญใหม่ โดยเฉพาะในมาตราที่เกี่ยวข้องกับนิยามของการสมรส ที่ระบุว่า ‘การสมรสเป็นเรื่องโดยสมัครใจระหว่างชายและหญิง’ ซึ่งดูเหมือนจะจำกัดสิทธิในการสมรสของ LGBTQIAN+ ก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเห็นชอบร่างกฎหมายใหม่นี้ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2018
กระแสเรียกร้องและมติดังกล่าว ส่งผลให้ประเด็นสมรสเท่าเทียมได้รับการถกเถียงอย่างมากในสังคมคิวบา กลุ่มเคร่งศาสนาและกลุ่มคอนเซอร์เวทีฟในคิวบา อ้างว่ากฎหมายที่อนุญาตให้สมรสเท่าเทียมเกิดขึ้น ขัดกับจิตวิญญาณของการปฏิวัติคิวบา มองความหลากหลายทางเพศในลักษณะที่ ‘เป็นอื่น’ หรือผิดแปลกไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม (Social Alienation) ในขณะที่ประชาชนและกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมองว่าสังคมคิวบาได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว ไม่ควรมีใครถูกจำกัดสิทธิหรือเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
ก่อนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะตัดสินใจยกนิยามของการสมรสออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับปรับปรุงใหม่ พร้อมเลือกใช้คำที่ดูกลางมากยิ่งขึ้นและตัดคำที่เกี่ยวข้องกับเพศออกไป โดยระบุว่า ‘การสมรสเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเชิงสังคมและกฎหมาย เป็นหนึ่งในรูปแบบของสถาบันครอบครัว ซึ่งผูกพันอยู่กับความยินยอมเสรีและสิทธิความเท่าเทียมกัน’ ซึ่งนัยนี้ไม่ได้สะท้อนว่ารัฐธรรมนุญฉบับปรับปรุงใหม่นี้อนุญาตให้เพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกัน ข้อจำกัดว่าด้วยการสมรสของบรรดาคู่รัก LGBTQIAN+ ก็อาจได้รับการยกเลิกไปโดยปริยาย
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้รับมติเห็นชอบจากการลงประชามติของประชาชนชาวคิวบาเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2019 ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 90.6% ก่อนที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 เมษายนปีเดียวกันนั้น
การต่อสู้เรียกร้องเพื่อผลักดันให้สังคมคิวบาเป็นหนึ่งในสังคมที่โอบรับความแตกต่างหลากหลายยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น มีความพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขหลักกฎหมายครอบครัวใหม่อีกครั้งในปี 2021 ที่ผ่านมา โดยมาตรา 61 ของร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่า ‘การสมรสเป็นเรื่องโดยสมัครใจระหว่าง 2 บุคคล’ ในขณะที่มาตรา 30 และ 31 อนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมทั้งให้สิทธิของการเป็นบุพการีต่อทายาทของคู่สมรสเพศเดียวกันที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการปฏิสนธิและตั้งครรภ์ ซึ่งอาจรวมถึงการอุ้มบุญ (Surrogacy)
หลังจากที่รับฟังเสียงประชาพิจารณ์จากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมคิวบา ร่างกฎหมายครอบครัว ฉบับร่างที่ 25 นับเป็นร่างกฎหมายฉบับสุดท้ายที่จะให้ประชาชนชาวคิวบาได้ลงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากฉบับเดิม 48.73%
ผลการลงประชามติเบื้องต้นว่าด้วยเรื่องการปรับปรุงแก้ไขหลักกฎหมายครอบครัว ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ชี้ว่าชาวคิวบา 3,936,790 ราย หรือคิดเป็น 66.87% ของผู้ที่เดินทางไปลงคะแนนเสียงทั้งหมด เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ เพื่อปูทางไปสู่การสนับสนุนสมรสเท่าเทียม ในขณะที่ 1,950,090 ราย หรือคิดเป็น 33.13% คัดค้านร่างกฎหมายนี้ โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิราว 74% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนทั่วประเทศ คาดว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศผลประชามติอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 30 กันยายนนี้
2. การสนับสนุนจากภาครัฐและผู้มีอำนาจในสังคม
นี่คืออีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นในสังคมคิวบา บุคคลที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ‘มาเรียลา กัสโตร’ เธอเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและให้ความรู้ด้านเพศสัมพันธ์แห่งชาติของคิวบา (CENESEX) ที่สำคัญเธอคือลูกสาวของ ราอุล กัสโตร อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์คิวบา และยังเป็นหลานสาวของ ฟิเดล กัสโตร อดีตนักปฏิวัติและผู้นำคนสำคัญของคิวบาอีกด้วย
ภาพจำในวัยเด็กที่เธอเติบโตขึ้นมาท่ามกลางบริบททางสังคมที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobic Society) คนกลุ่มนี้ตกเป็นเป้าโจมตีและเลือกปฏิบัติ ทั้งในแง่ของกฎหมาย มาตรวัดและความคาดหวังทางสังคม เธอกับเพื่อนๆ เองก็ยอมรับว่าสมัยตอนเป็นเด็กอาจจะเคยทำตัวไม่น่ารักกับคนกลุ่มนี้ไปบ้าง แต่หลังจากที่ได้ศึกษา ได้ทำความเข้าใจ และได้พูดคุยกันกับกลุ่ม LGBTQIAN+ แล้ว เธอก็รับรู้ถึงปัญหาและความยากลำบากที่เกิดขึ้นและอยากจะเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้กับคนกลุ่มนี้
มาเรียลา กัสโตร มีบทบาทอย่างมากในการผลักดันและสนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศในคิวบา เธอพยายามสร้างความตระหนักรู้ ทลายภาพจำและการเหมารวมเดิมๆ ที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQIAN+ เธอต่อสู้เพื่อสิทธิความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศมานานกว่า 20 ปี
และอีกหนึ่งบุคคลที่สำคัญอย่างมากที่แสดงจุดยืนในการสนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศในคิวบาคือ ‘มิเกล ดิแอซ คาเนล’ ประธานาธิบดีคิวบา และเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์คิวบาคนปัจจุบัน ผู้กุมอำนาจสูงสุดในการเมืองคิวบา เป็นตัวแสดงจากทางภาครัฐที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันประเด็นนี้
มิเกลเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อใหญ่ในลาตินอเมริกาอย่าง Telesur ว่าเขาสนับสนุนการสมรสที่เป็นเรื่องระหว่างคน 2 คน โดยปราศจากข้อจำกัดใดๆ พร้อมทั้งผลักดันให้ยุติการเลือกปฏิบัติรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอีกด้วย โดยมิเกลยังทวีตข้อความระบุว่า “ประชามติได้รับความเห็นชอบ ความยุติธรรมได้เกิดขึ้นแล้ว การประกาศใช้กฎหมายใหม่นี้จะเป็นการทยอยจ่ายหนี้ที่ติดค้างให้กับผู้คนชาวคิวบาหลายรุ่นหลายชั่วอายุคนที่เฝ้ารอกฎหมายนี้มาโดยตลอด ในวันนี้ เราจะเป็นชาติที่ดียิ่งขึ้นกว่าวันวาน”
ทั้งสองคนถือเป็นตัวแสดงที่สำคัญอย่างมากในสมการความสำเร็จนี้ ในส่วนของแรงสนับสนุนจากภาครัฐและผู้มีอำนาจในสังคม แม้จะยังคงมีเสียงทัดทานจากกลุ่มอำนาจทางศาสนาและกลุ่มคอนเซอร์เวทีฟอยู่บ้าง รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตถึงเจตนาของรัฐบาลว่าต้องการจะผลักดันประเด็นนี้จริงหรือไม่ หรือต้องการเพียงแสงสปอตไลต์และภาพลักษณ์ใหม่ในฐานะประเทศหัวก้าวหน้าในประชาคมโลก เวลาจะช่วยตอบข้อสงสัยเหล่านี้ในไม่ช้า
จะเห็นได้ว่าคิวบาเลือกที่จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รวมถึงแก้ไขตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นนิยามของการสมรส เพื่อจัดการแก้ไขข้อจำกัดที่กีดกันสิทธิความหลากหลายในสังคมแทนที่จะร่างกฎหมายฉบับใหม่แยกขึ้นมาทดแทนให้ พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นและจัดการลงประชามติอย่างเป็นรูปธรรม จากแรงสนับสนุนของประชาชนส่วนใหญ่ภายในประเทศ ประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐและผู้มีอำนาจในคิวบาที่ยอมเปิดรับ ปรับตัว และเปลี่ยนแปลง ผลักดันให้คิวบากลายเป็นประเทศล่าสุดในประชาคมโลกที่สนับสนุนการสมรสเท่าเทียมในช่วงเวลานี้
แฟ้มภาพ: Adalbetro Roque / AFP
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2022/9/26/cuba-overwhelmingly-approves-same-sex-marriage-in-referendum
- https://www.bbc.com/news/world-latin-america-63035426
- https://www.theguardian.com/world/2022/sep/26/cubans-vote-in-favour-of-family-law-reform-that-will-allow-same-sex-marriage
- https://www.reuters.com/world/americas/cubans-approve-gay-marriage-by-large-margin-referendum-2022-09-26/
- https://www.washingtonpost.com/world/2022/09/24/cuba-same-sex-marriage-referendum/
- https://www.peoplesworld.org/article/draft-family-code-brings-cuba-closer-to-same-sex-marriage-equality/
ภายหลังการปฏิวัติคิวบาในปี 1953-1959 คิวบาไม่ได้จัดเป็นรัฐเคร่งศาสนาอีกต่อไปเหมือนกับช่วงที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน ไม่มีศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ อีกทั้งประชาชนจำนวนไม่น้อยราว 1 ใน 4 ของประเทศ เป็นผู้ไม่มีศาสนา แม้ผู้คนส่วนใหญ่เกือบ 60% จะนับถือศาสนาคริสต์ก็ตาม บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้อาจมีส่วนช่วยลดแรงเสียดทานและน้ำหนักเสียงคัดค้านจากกลุ่มอำนาจทางศาสนาในคิวบาได้ไม่มากก็น้อย