ไม่ว่าเทคโนโลยีความบันเทิงจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน คนก็ยังซื้อตั๋วไปชมคอนเสิร์ต แผ่นเสียงเกิดขึ้นแล้วตายไป เทปคาสเซตต์เข้ามาแล้วจากไป แผ่นซีดีตามมาแล้วหายไป แอปพลิเคชันสตรีมมิงเพลงออนไลน์กำลังค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมการฟังเพลงในชีวิตประจำวันของเรา ขณะที่แผ่นเสียงกำลังกลับมาใหม่อีกครั้ง แต่การแสดงดนตรีสดนั้นไม่เคยห่างหายไปไหนนับตั้งแต่มนุษยชาติได้รู้จักกับดนตรี เพราะประสบการณ์ในการรับชมรับฟังเสียงเพลงโดยไม่มีสื่อใดๆ มาเป็นตัวกลางนอกจากมวลอากาศและมวลความรู้สึกระหว่างผู้เล่นกับผู้ฟัง ประสบการณ์เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่น่าสัมผัสและควรค่าแก่การสะสมไม่แพ้การฟังเพลงรูปแบบอื่นๆ
หนึ่งในสถานที่ที่เราสามารถเข้าถึงประสบการณ์ทางดนตรีมาตรฐานระดับสากลได้อย่างง่ายๆ ก็คือที่หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรีไทยเดิม ดนตรีคลาสสิก หรือดนตรีไทยมาร่วมวงกับดนตรีสากลที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกต้นเดือน ไปจนถึงเปิดพื้นที่ให้คณะดนตรีจากต่างประเทศมาแสดงดนตรีกันชนิดที่เรียกว่ามานับครั้งไม่ถ้วน หากคุณยังไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน กรรชิต จิตระทาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จะมาเล่าให้เราฟังว่าเพราะอะไรเขาจึงอยากให้ทุกคนได้มาลองฟังดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุดเริ่มต้นของดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“มรดกทางวัฒนธรรมของชาติก็ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่านวัตกรรมสมัยใหม่หรอก” ผอ.กรรชิตพูดกับเราด้วยท่าทีสบายๆ เมื่อเราตั้งคำถามถึงเหตุผลในการที่มหาวิทยาลัยต้องมีหน่วยงานที่ดูแลด้านศิลปวัฒนธรรมขึ้นโดยเฉพาะ เขาเริ่มต้นเล่าที่มาที่ไปของงานด้านศิลปวัฒนธรรมในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าเกิดขึ้นได้ก็เพราะความสนใจของนิสิตชุมชนดนตรีไทยที่รวมตัวกันเหนียวแน่นและพัฒนามาเป็นชมรมดนตรีไทยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราว พ.ศ. 2510 ขณะเดียวกันด้านดนตรีสากลก็มีวงดนตรีสากลสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ CU Band อันเป็นที่บ่มเพาะศิลปินคุณภาพของไทยจำนวนไม่น้อย ไปจนถึง CU Symphony Orchestra ซึ่งตั้งขึ้นในภายหลังและเชี่ยวชาญด้านดนตรีคลาสสิกโดยเฉพาะ นักดนตรีหลายคนไปคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้วนักต่อนัก
“วงดนตรีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาทรงดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2501 จนถึง พ.ศ. 2516 แต่ด้วยพระราชกรณียกิจที่มากขึ้นจึงมิได้เสด็จฯ มาทรงดนตรีอีกหลังจากนั้น ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้ามาเป็นนิสิตที่นี่ พระองค์ทรงเข้าเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทยด้วย จึงทำให้ดนตรีในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน”
เสียงดนตรีบรรเลงคลออยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยใต้ร่มจามจุรีมาเรื่อยๆ ในลักษณะชมรมและชุมนุมของนิสิต จนกระทั่ง พ.ศ. 2529 มหาวิทยาลัยจึงตั้งศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานที่เข้ามาดูแลงานด้านศิลปวัฒนธรรมโดยตรง แม้จะเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมในอีก 17 ปีต่อมา แต่ความเข้มข้นของภารกิจการสนับสนุนและส่งเสริมงานแสดงดนตรีอันเป็นจุดแข็งของนิสิตในมหาวิทยาลัยก็ยังคงเข้มข้นไม่ต่างจากวันแรกก่อตั้ง
ดนตรีที่หาฟังได้เฉพาะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น
“สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรามีความถนัดเรื่องดนตรีไทย ดนตรีสากล ยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เช่น การฟื้นฟูวงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์กลับขึ้นมาใหม่อีกครั้งได้สำเร็จ ปี่พาทย์ประเภทนี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นของดี เป็นของคลาสสิกที่สูญหายไปนาน เราจึงเริ่มทำการวิจัยรวบรวมข้อมูลไปพร้อมๆ กับการตั้งวงดนตรีปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ขึ้นมา เชิญครูที่เคยบรรเลงและยังมีชีวิตอยู่มาสืบต่อลมหายใจของมรดกทางดนตรีของชาติ สั่งสอนนิสิตรุ่นใหม่ จัดทำเป็นหลักสูตร เปิดการเรียนการสอนขึ้นในคณะศิลปกรรมศาสตร์ ทำให้ทุกวันนี้วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์เริ่มมีการบรรเลงในที่ต่างๆ มากขึ้น เป็นผลจากการที่บัณฑิตที่จบการศึกษานำไปถ่ายทอดต่อ
“เมื่อก่อนมีกิจกรรมแสดงดนตรีไทยชื่อว่า ‘จุฬาวาทิต’ แสดงกันที่เรือนไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเดือนละครั้ง จัดมายาวนานมากเกิน 200 ครั้งแล้ว สมาชิกบางคนฟังมาตั้งแต่ครั้งแรกๆ จนอายุ 90 กว่าแล้วมาขอลาออกจากการเป็นสมาชิก บอกว่ามาไม่ไหวแล้ว (หัวเราะ) พอเราเปิดหอแสดงดนตรี ทุกคนก็บอกว่านั่งที่นี่สบายกว่า ยุงไม่กัด แอร์เย็น บรรยากาศดี ระบบเสียงก็ดี วงดนตรีไทยก็ย้ายมาเล่นที่นี่ในชื่อใหม่ว่า ฟังดนตรีที่จุฬาฯ แต่ก็ไม่ได้เอาใจเพียงแฟนคลับดนตรีไทยอย่างเดียว เราใช้ยุทธศาสตร์เรื่องพื้นที่การเรียนรู้ที่สร้างสรรค์จัดกิจกรรมดนตรีที่หลากหลายขึ้นเพื่อคนชื่นชอบดนตรีที่แตกต่างกัน เช่น วงดนตรีร่วมสมัยที่ผสมผสานทั้งดนตรีไทยและตะวันตก หรือดนตรีสำหรับผู้ที่ชอบเพลงลูกกรุงหรือสุนทราภรณ์ ล่าสุดเราใช้วงแชมเบอร์ออร์เคสตรามาบรรเลงและขับร้อง ใช้ชื่อการแสดงว่า จำได้ในทีวี โดยนำเพลงประกอบละครรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาขับร้อง เช่น บ้านทรายทอง, ปริศนา หรือเพลงจากละครจักรๆ วงศ์ๆ และเพลงจากละครล่าสุดอย่าง บุพเพสันนิวาส และ อังกอร์ เราก็เล่น เป็นที่ถูกใจผู้ฟังทุกวัย ในโอกาสเดียวกันนั้นเราก็ได้นำเสนอให้คนทั่วไปเห็นว่าไวโอลินนี่ก็เพราะดีเหมือนกันนะ พอฟังไปฟังมาก็จะเริ่มเขยิบเข้าใกล้ดนตรีคลาสสิกมากขึ้นได้ไม่ยาก ดนตรีไทยก็ใช้ยุทธศาสตร์ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน เพราะเราไม่อยากให้คนตั้งแง่ว่าดนตรีไทยฟังแล้วง่วง น่าเบื่อ โดยเราจะจัดรายการ ฟังดนตรีที่จุฬาฯ ทุกวันศุกร์แรกของเดือน และกิจกรรมดนตรีอื่นๆ อีก 3-5 ครั้งต่อเดือน โดยเป็นการแสดงดนตรีจากทั้งในและต่างประเทศ ณ พื้นที่หอแสดงดนตรีแห่งนี้ด้วย ส่วนคอนเสิร์ตใหญ่ของ CU Symphony Orchestra และปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ปีละครั้ง ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เรามีวิธีคิดของเรา เวลาเราแสดงดนตรีไทยที่เป็นเอกลักษณ์ เราก็จะบรรเลงถูกต้อง ครบถ้วน เวลาบรรเลงดนตรีคลาสสิก เราก็จะเล่นระดับมาตรฐานตะวันตกต้นกำเนิด เวลาเราทำการแสดงดนตรีร่วมสมัยก็จะดูว่าวงดนตรีหลักคืออะไร ไทยหรือตะวันตก แล้วปรับเสียงเครื่องดนตรีที่เสริมเข้าหากัน เพราะว่าถ้าปรับเสียงดนตรีไทยไปเข้าเสียงตะวันตกอย่างเดียว เราก็จะสูญเสียตัวตน ซึ่งเรื่องนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใย เคยรับสั่งให้อาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเก็บข้อมูลความถี่เสียงของดนตรีไทยไว้ เพราะเกรงจะหมดไป อย่างวงสายใยจามจุรีซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานวง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้บรรเลงร่วมกันกับ CU Band ก็ต้องหาช่องที่จะปรับเสียงสากลลงมาให้ใกล้เคียงเสียงดนตรีไทยมากที่สุด อาจจะเพี้ยนบ้างนิดหน่อย อยู่ในระดับที่พอรับได้ แต่เราจะไม่ทำให้เสียลักษณะเสียงของดนตรีไทย และไม่ทำให้ตัวตนของความเป็นตะวันตกเสียไปด้วยเหมือนกัน” ผอ.กรรชิตย้ำหนักแน่นถึงความตั้งใจที่จะรักษาตัวตนของทุกแนวดนตรีไว้ต่อไป
วงดนตรีที่เต็มไปด้วยสปิริตของหนุ่มสาว
หนึ่งในบุคคลผู้สรรสร้างเสียงดนตรีคลาสสิกให้ที่นี่ไม่เคยเงียบเหงาก็คือ ผศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ อาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยเพลงประจำวงซิมโฟนีออร์เคสตรา (CU Symphony Orchestra) ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลศิลปินศิลปาธรสาขาดนตรี ประจำปี 2561 ไปหมาดๆ
ด้วยการเติบโตมากับบรรยากาศของดนตรีคลาสสิกตั้งแต่อายุ 11 ปี ทำให้ชีวิตของเขาผูกพันกับดนตรีอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะบทบาทสำคัญอย่างการเป็นวาทยกรของ CU Symphony Orchestra ซึ่งถือว่าเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดของลักษณะเฉพาะของวงดนตรีอันเต็มไปด้วยข้อจำกัดจากการที่นักดนตรีต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปทุกปีการศึกษา
“ถือว่าเราต่อสู้มาพอสมควรที่จะทำให้มีวงออร์เคสตราระดับมาตรฐานในมหาวิทยาลัย เพราะต้องใช้หลายส่วนประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน การเตรียมงาน และการพัฒนานักดนตรีของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เนื่องจากเราไม่สามารถบังคับให้นักดนตรีอยู่กับเราได้ตลอดเวลา จบการศึกษาแล้วเขาก็ต้องออกไปหางานทำ เขาไม่ได้อยู่กับเราตลอดชีวิต นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างจะท้าทายในการสร้างมาตรฐานให้คงที่ เพราะนิสิตแต่ละคนมีมาตรฐานแตกต่างกัน โจทย์ของเราคือทำยังไงให้ทุกคนเล่นในมาตรฐานเดียวกันให้ได้
“แต่สิ่งที่วง CU Symphony Orchestra โดดเด่นก็คือการมีสปิริตบางอย่างที่วงมืออาชีพอื่นๆ ไม่มี เป็นพลังหนุ่มสาว พลังงานที่มันล้นออกมา ความตื่นเต้นในสิ่งที่เขาทำ ซึ่งผมจะได้รับทุกครั้งที่เล่นกับวงนี้ นี่เป็นข้อได้เปรียบที่สุดของวงเรา”
หลังม่านการแสดง
ผศ.ดร.นรอรรถไม่ได้มองว่าการแสดงดนตรีเป็นเพียงการมอบความสุขให้ผู้ชมเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่ใช้พัฒนานิสิตด้วยเช่นกัน “การแสดงดนตรีเป็นปัจจัยหลักที่นิสิตต้องผ่านไปให้ได้ การเล่นรวมวงกันมันยากกว่าการเล่นคนเดียว เพราะต้องฟังคนอื่น สื่อสารกับคนอื่นเป็น ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หายใจร่วมกัน ตรงเวลา มีวินัย ทุกอย่างนิสิตจะได้จากการเล่นดนตรีร่วมกับผู้อื่น และช่วงเวลาที่นักดนตรีได้เล่นให้ผู้ฟังชมจริงๆ เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีช่วงเวลาไหนเหมือน การเรียนรู้ที่จะจัดการความตื่นเต้นของตัวเอง ฝึกความเป็นมืออาชีพ มารยาทในการแสดง เป็นเรื่องของการเรียนรู้ทั้งหมดเลย และท้ายที่สุดแล้วเขาได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ยากลำบากจากการซ้อมมา ผลลัพธ์มันคือความหอมหวานนะ ตอนที่คนฟังปรบมือให้เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องจดจำ เมื่อออกจากวงหรือจบการศึกษาไปแล้วเขาจะถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์ของเขา คนฟังของเขา สิ่งเหล่านี้จะยังคงอยู่กับเขาไปตลอด
“ส่วนหน้าที่ของวาทยากรอย่างผมคือต้องพูดให้น้อยที่สุด ใช้ภาษากายสื่อสารออกไป มีบางทีที่อาจจะต้องพูดจริงๆ เราก็พูดไป แต่เชื่อว่านักดนตรีจะไม่ชอบวาทยากรที่พูดมาก (หัวเราะ) เรามีหลายอย่างที่จะทำให้เขาสามารถเข้าใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะนักดนตรีแต่ละคนก็พยายามจะโฟกัสกับหน้าที่ของตัวเอง เล่นให้ถูกต้อง ถูกเสียง ถูกจังหวะ แต่เราต้องใช้ท่าทางในการบอกว่าแต่ละท่อนของเพลง เราตีความมันออกมายังไง เพราะฉะนั้นวาทยากรทำงานมากกว่าที่คนอื่นคิดมาก ไม่มีใครรู้สึกนอกจากเรากับนักดนตรี ผมเคยพูดในงานสัมมนางานหนึ่งว่าผู้อำนวยเพลงที่ดีต้องเป็นเหมือนแอมพลิฟายเออร์ เป็นเครื่องขยายอารมณ์ความรู้สึกของเราให้อีก 100 คนข้างหน้าได้รู้สึกแบบเรา”
เหตุผลที่ต้องมาฟังดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“คนถามผมมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วว่าทำยังไงให้ฟังเพลงคลาสสิกรู้เรื่อง คนมักจะคิดไว้ก่อนว่าเพลงคลาสสิกคือเพลงที่ฟังไม่รู้เรื่อง ยาว น่าเบื่อ ต้องเข้าใจก่อนว่าเพลงคลาสสิกมีหลายแบบยิบย่อยมาก เพลงร้อง เพลงโอเปรา ฟังง่าย ฟังยาก โซโล วงใหญ่ วงเล็ก บางทีเป็นเพลงขนาดสั้น ฟังง่ายมาก ยาวแค่ 2 นาที ฟังทำนองครั้งแรกก็ฮัมตามได้เลย ถ้าพูดถึงเพลงที่เล่นวงใหญ่เล่นนานๆ เราต้องให้เวลากับมัน เพราะมันแต่งมาด้วยความคิดคำนึงอย่างถ้วนถี่ของนักประพันธ์เพลง เค้นออกมาจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของเขา จะมาเปิดฟังในรถ ฟังไปนั่งทำงานไปด้วย ไม่มีทางรู้เรื่อง ต้องมานั่งดีๆ ฟังอย่างตั้งใจ ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน แต่ผมไม่ได้กลัวว่าเพลงคลาสสิกจะหายไปจากโลกเลย มนุษย์จะมองหาสิ่งที่ดีกว่าอยู่เรื่อยๆ ก็จะกลับมาหาสิ่งที่มีคุณค่ากับตัวเองอย่างเพลงพวกนี้
“การมาฟังดนตรีสดๆ คือการได้สัมผัสกับคลื่นเสียงที่ออกมาจากเครื่องดนตรีจริงๆ ไม่ผ่านเครื่องขยายเสียง ไม่ผ่านการมิกซ์เสียงใดๆ ปะทะกับร่างกายของเราโดยตรง ไม่ใช่แค่เรื่องของเสียงที่ดีกว่า แต่พลังของนักดนตรีมันตรงไปสู่คนฟังทันที มันตอบความสนใจของคนที่ต่างกันตามระดับความรู้และประสบการณ์ที่มีต่อเพลงคลาสสิกของแต่ละคน หรือมาดูการตีความของวงนี้ว่าจะเล่นเพลงนี้อย่างไร มันมีหลายสิ่งที่เรามองไม่เห็นเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ทำให้ทุกครั้งมันเป็นประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว”
- ความพิเศษของปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์คือในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปรับวงดนตรีไทยให้เป็นดนตรีแบบใหม่เทียบเคียงลักษณะดนตรีและโอเปราตะวันตก เช่น ปรับเครื่องดนตรีเสียงแหลมและเสียงดังออก ทำให้วงมีโทนเสียงทุ้มนุ่มนวล เหมาะที่จะเล่นในห้องเล็กๆ นำบทจากวรรณคดีต่างๆ มาทำเป็นบทคอนเสิร์ตบรรเลงเป็นชุดๆ ส่วนละครดึกดำบรรพ์ก็จะเป็นการเล่นเอง ร้องเอง เปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง ต่างจากละครไทยดั้งเดิม
- หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม ตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ 0 2218 3634-5
- Facebook: CU Art Culture และ Line ID: @cuartculture