×

อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยแบบนี้ ทำอย่างไรให้เจ้าเหมียวสุขภาพดีอยู่เสมอ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
31.10.2018
  • LOADING...

อากาศกำลังเปลี่ยนแปลงจากหน้าฝนสู่หน้าหนาวแบบนี้ ทำให้หลายคนปรับตัวกับความแปรปรวนของอากาศไม่ทันจนตกเป็นเหยื่อของเชื้อไวรัสที่ทำให้เราป่วยเป็นไข้หวัดกันอยู่บ่อยๆ นอกจากต้องบอกคนใกล้ชิดให้หมั่นรักษาสุขภาพของตัวเองให้ดีแล้ว เจ้าของแมวทั้งหลายก็ต้องเพิ่มมาตรการการดูแลเจ้าเหมียวที่บ้านไปพร้อมกันด้วย เพราะนี่คือช่วงที่แมวมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ มากเป็นพิเศษ ที่เจอบ่อยๆ ในสภาวะอากาศแบบนี้คือโรคหวัดแมว ซึ่งมักจะเกิดในช่วงเปลี่ยนฤดู แมวที่เลี้ยงกันตามบ้านจะมีอาการจาม มีขี้มูกและขี้ตาให้เห็น ยิ่งเลี้ยงหลายตัวยิ่งติดวนกันไปมางอมแงม แม้อาการเหล่านี้ไม่ถึงขั้นอันตรายมากนัก แต่อาจจะเสียชีวิตได้จากอาการแทรกซ้อนหากติดเชื้อแบคทีเรียเข้า

 

THE STANDARD จึงชวน รศ.สพ.ญ.ดร.รสมา ภู่สุนทรธรรม สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสัตว์เล็ก ผู้ก่อตั้งศูนย์โรคแมวเพื่อความเป็นเลิศ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยถึงวิธีการดูแลแมวให้แข็งแรงสดใสตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อนหนาว จากประสบการณ์ของอาจารย์หมอผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับหมาแมวมาเป็นเวลานานถึง 30 ปี

 

 

สะอาดเสมอ

การดูแลรักษาความสะอาดในบ้านอยู่เสมอเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนเลี้ยงแมว เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคในแมว หากแมวอึหรือฉี่ในพื้นที่ที่นอกเหนือจากกระบะทราย ต้องรีบทำความสะอาดทันทีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสิ่งสกปรก แต่ไม่ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของแอมโมเนีย เพราะแมวจะสับสนกับกลิ่นฉี่ของตัวเอง ทางที่ดีจึงควรฝึกแมวให้ใช้กระบะทรายเพื่อการดูแลความสะอาดได้ง่าย จัดเก็บได้อย่างเป็นระบบ “สูตรการเตรียมกระบะทรายที่เหมาะสมคือ N+1 นั่นหมายถึง แมว 1 ตัวควรมีกระบะทราย 2 กระบะ มีให้เยอะไว้ยิ่งดีต่อแมวและเจ้าของ”

 

สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย

ความสุขของแมวกับเจ้าของแมวเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ในช่วงที่อากาศไม่เป็นใจแบบนี้อาจส่งผลให้แมวมีภาวะเครียดได้ จึงควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ “เจ้าของต้องเล่นกับแมวบ่อยๆ บางคนทั้งรักทั้งกลัวแมว แต่ส่วนใหญ่จะกลัวแมวมากกว่า เพราะเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางทีดุก็กัด สักพักมานั่งตักเฉยเลย เมื่อก่อนองค์ความรู้ทางวิชาการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแมวน้อยมาก เราทำงานวิจัยมาเรื่อยๆ แล้วได้พบว่าแมวมีบุคลิกที่แตกต่างกัน ทั้งน่ารัก อ่อนโยน เคร่งขรึม แมวพูดได้ รู้จักตอบรับคำเวลาที่พูดคุยด้วย ดังนั้นเจ้าของจึงควรสร้างปฏิสัมพันธ์กับแมวอยู่เสมอ แต่ก็ต้องสังเกตอารมณ์ของเขาในตอนนั้นด้วย” นอกจากนี้อาจารย์หมอยังเสริมว่าจำนวนแมวในบ้านก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้แมวรู้สึกเครียดได้เช่นกัน จึงควรดูความเหมาะสมของพื้นที่ก่อนตัดสินใจรับแมวใหม่มาเลี้ยง

 

ถ่ายพยาธิ ป้องกันเห็บหมัด

เมืองไทยของเราตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เมื่อฝนตกบ่อยๆ ก็ตามมาด้วยการระบาดของเห็บหมัด ซึ่งนำโรคมาสู่แมวและคนด้วย คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อาศัยในคอนโดมิเนียมมักเลี้ยงแมวแบบปล่อย ทำให้มีโอกาสติดเห็บหมัดจากนอกบ้านได้ แต่ทางออกที่ดีที่สุดไม่ใช่การขังแมวไว้ในบ้าน เราให้อิสระและป้องกันเจ้าเหมียวไปพร้อมกันได้ ด้วยยาหยอดหลังปกป้องเห็บหมัดที่มีฤทธิ์อยู่ได้นานถึง 1 เดือน

       

แมวป่วยดูอย่างไร

“พฤติกรรมของแมวตามปกติจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ถ้าเป็นแมวเด็กจะไม่อยู่นิ่ง แต่จะเดินไปเดินมาตลอดเวลา ถ้าอุ้มไปวางบนโต๊ะแล้วนั่งนิ่ง เหม่อลอย ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจจะมีอาการป่วยได้ ส่วนแมวแก่ก็จะมีพฤติกรรมเหม่อลอยทั้งวันอยู่แล้วเป็นปกติ แต่หากไม่ยอมกินอาหาร ไม่กินน้ำ แสดงว่าไม่สบาย สังเกตง่ายๆ ว่าสัตว์ที่ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่กินอาหาร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับบุคลิกของแมวแต่ละตัวด้วย เจ้าของหรือผู้ที่ร่วมดูแลต้องเป็นคนคอยสังเกตความผิดปกติด้วยตัวเอง”

 

 

ใครยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับการดูแลแมวที่บ้านสามารถมาขอคำปรึกษาโดยตรงจากศูนย์โรคแมวเพื่อความเป็นเลิศ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อย่างเต็มที่ เพราะอาจารย์หมอยืนยันว่าที่นี่มีสัตวแพทย์เฉพาะทางทุกสาขาที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการดูแลสัตว์เล็กมาตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ให้การรักษาสัตว์แทบทุกชนิดก็ว่าได้ ทั้งสุนัข แมว ม้า เต่า งู ปลา ฯลฯ เปิดเป็นสถานที่รักษาโรคของสัตว์ขนาดเล็กให้ถูกต้องตามมาตรฐานครบวงจร ก่อนจะแยกออกมาเป็นศูนย์โรคแมวเพื่อความเป็นเลิศเมื่อปี พ.ศ. 2558 เพื่อตอบรับกับความต้องการในการเลี้ยงดูแมวที่เพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มมีคลินิกแมวเล็กๆ ก่อน จากนั้นจึงขยับขยายพัฒนาเป็นศูนย์แห่งนี้ขึ้นมา ออกแบบพื้นที่เฉพาะสำหรับแมว แยกส่วนออกจากส่วนบริการสัตว์ป่วยอื่นๆ ดำเนินการรักษาโดยอาจารย์สัตวแพทย์ที่มีความถนัดเฉพาะทางในสาขาที่หลากหลาย ทั้งอายุรกรรม สูติกรรม ศัลยกรรม โรคหัวใจ โรคติดเชื้อ ฯลฯ

 

 

อาจารย์หมอยกตัวอย่างการดูแลรักษาแมวที่ประทับใจที่สุดเมื่อ 15 ปีก่อน “แมวตัวหนึ่งเป็นไตวายเรื้อรัง เจ้าของก็จัดการให้แมวกินอาหารเพื่อควบคุมระดับของฟอสฟอรัส จดบันทึกการกินน้ำ กินยา ทำให้แมวอยู่ต่อมาได้เป็นสิบปี โดยที่ดูไม่ออกเลยว่าเป็นโรคไต ทุกความสำเร็จของการรักษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณหมออย่างเดียว

 

“เพราะผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการรักษาก็คือเจ้าของกับแมวเองนั่นแหละ”

       

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • เอกสารประกอบพิธีเปิด ‘ศูนย์โรคแมวเพื่อความเป็นเลิศ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ 30 พฤศจิกายน 2560
FYI
  • ศูนย์โรคแมวเพื่อความเป็นเลิศ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-16.00 น. และวันเสาร์ เวลา 08.00-11.00 น. โทรศัพท์ 0 2218 9750-1 เว็บไซต์ www.vet.chula.ac.th
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X