×

หนังดีไม่มีที่ยืน? เมื่อสิทธิ์ในการ ‘เลือก’ ฉายหนังถูกผูกขาดโดย ‘โรงภาพยนตร์’

08.03.2023
  • LOADING...
หนังดีไม่มีที่ยืน

กลายเป็นประเด็นร้อนอย่างรวดเร็วตั้งแต่เมื่อช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา กระทั่งต่อเนื่องถึงเช้าวานนี้ (7 มีนาคม) หลังจากที่สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงเรื่องของการจัดโรงและรอบฉายภาพยนตร์ไทยที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากกรณีที่ภาพยนตร์เรื่อง ขุนพันธ์ 3 ถูกลดรอบลงหลังจากที่เข้าฉายและเป็นกระแสได้เพียงแค่ 1 สัปดาห์ อีกทั้งยังได้เพิ่มรอบและตัดราคาตั๋วของภาพยนตร์ไทยอีกเรื่องลงอย่างโจ่งแจ้ง จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากคนในและนอกวงการภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก

 

ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเด็นระหว่างคนทำภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์กลายเป็นที่ถกเถียงกันในสังคม เพราะหลายต่อหลายครั้งเราจะเห็นได้ว่ามีการเรียกร้องให้โรงภาพยนตร์นำภาพยนตร์ที่หลากหลายเข้ามาให้คนดูได้เลือกสรรมากกว่านี้ และบางครั้งก็ถึงขั้นอ้อนวอนให้คนดูมาดูภาพยนตร์ของตัวเอง เพราะรอบฉายที่น้อยและกลัวจะขาดทุน หรือแม้แต่เข้าข้างโรงภาพยนตร์ที่เป็นตัวตั้งตัวตีของประเด็นที่กำลังพูดถึงกันอยู่

 

เรื่องการผูกขาดของโรงภาพยนตร์จึงเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงเสมอมา และอะไรคือหลักค้ำประกันสำหรับคนทำภาพยนตร์ไทยในวันที่โรงภาพยนตร์ไม่เคยแม้แต่จะเหลียวแลผลงานที่ดี และหลายคนชื่นชม

 

ขุนพันธ์ 3 (2566)

 

สร้างหนังดีภายใต้โลกทุนนิยม

 

การทำภาพยนตร์ออกมาให้ดีสักเรื่องอาจเป็นบทพิสูจน์ที่ยากจะเกินบรรยายสำหรับคนทำภาพยนตร์ไทย เพราะนอกจากจะต้องต่อสู้กับคำครหาจากคนดูบางกลุ่มแล้ว พวกเขายังต้องดิ้นรนต่อสู้กับโรงภาพยนตร์ที่เปรียบเสมือนปลายทางด่านสุดท้ายที่ทำให้ผลงานของตัวเองออกสู่สายตาของผู้ชม 

 

หลายคนอาจมองว่าการที่คนทำภาพยนตร์ต้องต่อสู้กับโรงภาพยนตร์เป็นเรื่องของ ‘อุปสงค์-อุปทาน’ ทั่วไปในแง่ของธุรกิจ หรือที่เห็นได้ชัดกว่าคือการที่โรงภาพยนตร์เทรอบฉายให้กับภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ จนแทบจะบีบให้ภาพยนตร์นอกกระแสอื่นๆ ต้องหลุดออกจากผังตารางฉายไปอย่างน่าเสียดาย

 

ซึ่งสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือ ไม่ว่าคุณจะทำภาพยนตร์ออกมาดี และคนอยากจะดูมากแค่ไหน สิ่งที่โรงภาพยนตร์ทำก่อนที่คนดูจะได้ทำคือ การ ‘เลือก’ ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สมควรแก่การรับชมมาก-น้อยแค่ไหน แน่นอนว่าสิทธิ์ในการเลือกว่าจะดูภาพยนตร์เรื่องอะไรนั้นเป็นสิทธิ์ของคนดู 

 

แต่ถ้าเราพินิจพิเคราะห์จากสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คำถามสำคัญจริงๆ คือ เราได้เลือกแล้วยัง? ในเมื่อที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์แบบไหน โรงภาพยนตร์ก็เป็นผู้เลือกให้ตลอด โดยการเทรอบ เพิ่มรอบ จัดให้ไปอยู่รอบเช้าที่ไม่มีใครดู หรือกระทั่งลดรอบเพื่อให้ภาพยนตร์ที่ตัวเองเลือกไว้ได้กำไร ซึ่งอาจกล่าวสั้นๆ ได้ว่า ต่อให้ทำภาพยนตร์ออกมาดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีที่ฉาย ภาพยนตร์ที่ดีเหล่านั้นก็ไม่มีวันไปถึงสายตาของผู้ชมได้

 

ในกรณีของ ขุนพันธ์ 3 ที่ถูกลดรอบหลังจากฉายได้เพียงแค่ 1 สัปดาห์ เป็นการตั้งคำถาม และเป็นสิ่งที่พิสูจน์คำว่า ‘หนังดีไม่มีที่ยืน’ ได้อย่างชัดเจน เพราะภาพยนตร์ที่ถูกเพิ่มรอบกลับไม่ใช่ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ แต่เป็นภาพยนตร์ไทยอีกเรื่องอย่าง ทิดน้อย ที่ยืนโรงมานานกว่า 2 เดือน และรายได้ดูจะไม่ค่อยเข้าเป้านัก ซึ่งถ้าเป็นตามปกติการที่ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจะทำรายได้เท่าไรนั้นไม่ใช่หน้าที่ของโรงภาพยนตร์ที่ต้องเข้าไปแทรกแซงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรแต่อย่างใด ยังไม่นับรวมกฎหมายที่ไม่เคยเป็นหลักค้ำประกันอะไรให้กับคนทำภาพยนตร์ได้พึ่งพาและนำเสนอผลงานโดยไร้ความกังวลใดๆ

 

ฉะนั้นการจะบอกว่าไม่มีภาพยนตร์ไทยที่ดีเลยก็อาจเป็นคำกล่าวหาที่ดูจะเกินจริงในเวลาเดียวกัน เพราะต่อให้ทำดีแค่ไหน แต่ถ้าภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่ได้ถูกอุ้มชูโดยโรงภาพยนตร์ที่เปรียบดั่ง ‘ทุนนิยม’ ขนาดใหญ่ มันก็มีสิทธิ์ที่จะถูกทอดทิ้งและละเลยคุณค่าของผลงานไปอย่างเสียดาย

 

Blue Again (2566)

 

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนทำหนังรุ่นใหญ่ 

 

กรณีของ ขุนพันธ์ 3 อาจเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เนื่องจากชื่อเสียงและความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ที่สั่งสมมานานนับ 10 ปี แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ดูเหมือนจะถูกมองข้ามมาโดยตลอดคือ การมีอยู่ของคนทำภาพยนตร์ตัวเล็กๆ ที่ต้องคอยต่อสู้เพื่อหาโรงฉายให้กับภาพยนตร์ทุนต่ำของตัวเอง 

 

ยกตัวอย่างกรณีที่ใครหลายคนอาจไม่ทราบหรือมองข้ามไปอย่าง Blue Agian กำกับโดย ฐา-ฐาปณี หลูสุวรรณ ภาพยนตร์ไทยที่ได้รับเลือกฉาย World Premiere ในสายประกวดสำหรับผู้กำกับหน้าใหม่ New Currents ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานครั้งที่ 27 ประเทศเกาหลีใต้

 

ด้วยดีกรีและข้อพิสูนจ์บนเวทีระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นนักดูภาพยนตร์สายแข็งหรือสายอ่อนก็คงพูดได้เต็มปากว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องเป็นภาพยนตร์ที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งที่ Blue Agian ได้รับกลับมามีเพียงแค่การเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เพียงแค่ 3 แห่งเท่านั้น ได้แก่ โรงภาพยนตร์ SF สาขาเซ็นทรัลเวิลด์, โรงภาพยนตร์ SF สาขาเซ็นทรัล พระราม 9 และโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กอย่าง House Samyan (ยังไม่นับรวมไปถึงการถูกถอดออกจากผังโปรแกรมหลังจากฉายได้เพียงแค่ 1 สัปดาห์ จนต้องระหกระเหินกลับไปฉายที่โรงภาพยนตร์ House Samyan เพียงแค่ที่เดียวแทน) 

 

แต่ด้วยกระแสปากต่อปากก็ทำให้ Blue Again ที่ในเวลานั้นมีรอบฉายอยู่เพียงแค่ที่เดียวกลับมีคนดูมากถึง 40-50 คนต่อรอบฉาย ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าภาพยนตร์จะต้นทุนสูงหรือต่ำ ปัญหาเรื่องการจัดหาที่ฉายให้กับผลงานของตัวเองล้วนเป็นสิ่งที่พวกเขาในฐานะคนทำภาพยนตร์ต้องคอยต่อสู้ดิ้นรนอยู่เสมอมา และผู้บริโภคอย่างเราก็อาจไม่ได้มีสิทธิ์เลือกเลยแม้แต่นิดเดียว ในเมื่ออำนาจการตัดสินใจว่าภาพยนตร์เรื่องไหนสมควรจะได้รอบฉายมากหรือน้อยอยู่ในมือของคนเพียงแค่ 2 กลุ่ม ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงในสนามธุรกิจชื่อของโรงภาพยนตร์ทั้ง 2 เจ้าก็ครองตลาดรวมกันไปแล้วเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของตลาดภาพยนตร์ไทย

 

ถึงจะเป็นแบบนั้น Blue Again ก็เป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์แรกว่า ต่อให้เป็นภาพยนตร์ทุนต่ำไม่ได้มีเงินมากพอที่จะเช่าพื้นที่ในการจัดฉายอะไรมากมาย แต่ถ้าเนื้อหาดีแล้วได้โรงฉายและรอบฉายที่เหมาะสม มันก็มีกลุ่มคนดูที่ไปตามดูแม้ว่าจะไกลหรือมีรอบฉายเพียงแค่รอบเดียวก็ตาม

 

ทิดน้อย (2566)

 

อะไรคือสิ่งที่พิสูจน์ว่าหนังดีหรือไม่ดี ในเมื่อการจัดฉายไม่เคยเข้าถึงผู้ชมอย่างทั่วถึง

 

ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ อะไรที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นดีหรือไม่ดี (โดยเฉพาะกับภาพยนตร์ไทย) เพราะหากมองดูแล้วปัญหาส่วนใหญ่ที่เรามักจะคุ้นชินกันคือ การที่โรงภาพยนตร์เทรอบฉายให้กับภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ หรือการที่โรงภาพยนตร์นำภาพยนตร์เรื่องใหม่เข้าวันพฤหัสบดี แทนที่จะเป็นวันพุธที่ตั๋วภาพยนตร์ลดราคา

 

แต่ในกรณีของ ขุนพันธ์ 3 นั้นพิเศษกว่าปัญหาที่ใครหลายคนเห็นกันจนแทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นภาพจำของโรงภาพยนตร์เจ้าใหญ่ไปแล้ว นั่นคือภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ไม่ได้ต่อสู้แย่งชิงพื้นที่กับภาพยนตร์ตระกูลซูเปอร์ฮีโร่ หากแต่เป็นการต่อสู้กับภาพยนตร์ไทยด้วยกันเอง  

 

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ขุนพันธ์ 3 ไม่ใช่ภาพยนตร์ฟอร์มเล็ก และด้วยการที่เข้าฉายเพียงแค่ไม่กี่วันก็กลายเป็นกระแสปากต่อปากอย่างรวดเร็ว (เช่นเดียวกับในกรณีของ Blue Again) ก็ทำให้ความคาดหวังในฐานะคนดูพุ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อเปิดผังตารางฉายขึ้นมา หลายคนก็จะพบว่ารอบฉายของ ขุนพันธ์ 3 นั้นน้อยกว่าภาพยนตร์ที่ยืนโรงมานานอย่าง ทิดน้อย เสียด้วยซ้ำ นอกจากนี้ราคาตั๋วซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าคนดูจะเลือกจ่ายเงินให้กับหนังเรื่องไหนยังถูกลงอย่างไม่น่าเชื่อราวกับจงใจ 

 

ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับขุนพันธ์ทั้ง 3 ภาค ออกโรงตำหนิถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นราวกับตัดขาของคนทำภาพยนตร์ คนดู และวงการภาพยนตร์ไทยในเวลาเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ยิ่งรอบน้อยนั่นอาจหมายถึงการที่คนดูจะไปดูภาพยนตร์น้อยลงด้วยเช่นกัน (ปัจจัยส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องของเวลาที่ไม่เอื้อต่อการรับชม) นอกจากนั้นการที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นก็อาจทำให้นายทุนและคนทำภาพยนตร์ไม่กล้าลงทุนสร้างภาพยนตร์เหมือนกับที่เคยเป็น เพราะต่อจะให้จะทำดีแค่ไหน สุดท้ายก็โดนโรงภาพยนตร์แทรกแซงอยู่ดี 

 

ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าโรงภาพยนตร์ไม่ได้เห็นคุณค่าของภาพยนตร์ที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และความจริงอีกอย่างที่คนบางกลุ่มอาจยังไม่ทราบคือ ถ้าคนทำภาพยนตร์จะเอาภาพยนตร์เข้าโรงเพื่อฉาย คนทำภาพยนตร์เรื่องนั้นจะต้องเสียเงินให้กับโรง เช่น ค่าประชาสัมพันธ์ ค่าจอ ค่าอะไรใดๆ ซึ่งยังไม่นับรวมค่าส่วนแบ่งของการฉาย ดังนั้นคงจะพูดได้ประมาณหนึ่งว่า โอกาสที่เจ้าของธุรกิจโรงภาพยนตร์จะถึงกับขาดทุนนั้นน้อยเต็มที หรือเต็มที่ก็คือการขาดทุนรายได้ที่จะมากหรือน้อยอันเกิดขึ้นจากความสนใจต่อหนังเรื่องหนึ่งของผู้ชมซึ่งเป็นผู้บริโภค  

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายๆ ฝ่ายอยากเห็นมาช้านาน คือการที่ผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ให้พื้นที่แก่ภาพยนตร์ที่หลากหลายและทั่วถึงอย่างเป็นธรรม เพราะสุดท้ายคนที่จะตัดสินว่าหนังเรื่องไหนดีหรือไม่ดี อยากดูหรือไม่อยากดู ก็ไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นคนดูที่ได้รับชมภาพยนตร์เหล่านั้น ซึ่งสุดท้ายสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เราในฐานะผู้ผลิต หรือผู้บริโภค อาจกำลังถูกริดรอนสิทธิ์และเอาเปรียบอยู่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising