ธุรกิจร้านอาหารรับสัญญาณบวกหลังโควิดคลี่คลาย CRG ทุ่ม 400 ล้านบาท เร่งขยายร้าน KFC อีก 30 แห่ง เน้นทำเลที่มีศักยภาพ พร้อมจัดเซ็ตเมนูอาหารราคาเข้าถึงง่าย ตอบโจทย์ลูกค้า แย้มปี 2566 เตรียมจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสาขาแหล่งท่องเที่ยว
ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดยบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ผู้คนออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ประกอบกับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายเริ่มฟื้นตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ข่าวลืออีกครั้ง! Reuters รายงาน RD วางแผนขายร้าน KFC ในไทย 236 สาขา ด้วยมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท คาด CRG และ ไทยเบฟ อาจเป็นคนเข้าซื้อ
- ‘ไทยเบฟ’ เปิดตัว KFC Café by SO COFFEE’ เจาะคอกาแฟ วางเป้าขยายให้ครบ 250 สาขาในปีนี้ ส่วน KFC คาดขยายเพิ่มเป็น 430 สาขา
- ผู้บริหารระดับสูง KFC ร่อนหนังสือถึงบริษัทแม่ ขอเกษียณอายุก่อนกำหนด หลังดอกเบี้ยพุ่งดันภาระเงินบำนาญองค์กร
เช่นเดียวกับภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในไทยเติบโตขึ้น 12.9% โดยเฉพาะช่องทางไดรฟ์-อิน ส่วนช่องทางเดลิเวอรียอดขายเริ่มลดลงถ้าเทียบกับช่วงโควิด ทั้งนี้ตลาดอาหารจานด่วนในเซ็กเมนต์ไก่ทอดมีมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ยังมีการแข่งขันสูงเหมือนเดิม ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีผู้เล่นรายใหม่ๆ กระโดดเข้ามาในตลาด
โดยหลักๆ จะเน้นแข่งขันในแง่ของการนำเสนอประสบการณ์ใหม่ เพราะอาหารประเภทไก่ทอดยังเป็นเมนูยอดนิยมที่คนไทยเลือกรับประทาน โดยเฉพาะในช่วงโอกาสและวันสำคัญ ซึ่งพบว่าคนไทยที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ไก่ทอดรับประทานไก่มากสุดเฉลี่ย 10 ครั้งต่อเดือน ไปจนถึง 3 ครั้งต่อเดือน และมียอดค่าใช้จ่ายต่อบิลประมาณ 300 บาท
สำหรับ CRG ในไตรมาส 1-3 มียอดขายเติบโตมากกว่า 25% แบ่งสัดส่วนเป็นไดรฟ์-อิน 75% และเดลิเวอรี 25% คาดว่าปี 2565 จะกลับมาเทียบเท่ากับปี 2562
ปัจจัยสำคัญที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตคือ การขยายสาขาของแบรนด์ KFC ในช่วงไตรมาส 4 ที่วางแผนไว้ 30 แห่ง ตอนนี้เพิ่งเปิดไป 12 แห่ง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยสิ้นปี 2565 ทำยอดขายได้ 6.3 พันล้านบาท ถือว่ามากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 3-5%
เรียกได้ว่า KFC ทำสัดส่วนยอดขายกว่า 40% ในพอร์ตใหญ่ของ CRG และมีสัดส่วนยอดขาย 35% ในบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ KFC ในประเทศไทย
ส่วนแผนการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทเตรียมงบประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายสาขาร้าน KFC จำนวน 30 สาขา หรือประมาณ 10% ของจำนวนสาขาเดิม ที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 320 สาขา
การขยายสาจาจะโฟกัสไปที่โมเดลร้าน Park and Go และร้านช็อปเฮาส์มีที่นั่ง 30-50 ที่นั่ง เปิด 24 ชั่วโมงในรูปแบบสแตนด์อโลน เข้าไปในทำเลที่มีศักยภาพใหม่ๆ เพื่อเอื้อให้กับธุรกิจเดลิเวอรี และ Omni-Channel ซึ่งสามารถขยายเวลาการให้บริการได้มากขึ้น
ขณะเดียวกันล่าสุดได้เปิดให้บริการ KFC Green Store สาขาโรบินสัน ราชพฤกษ์ ถือเป็นร้านสแตนด์อโลนคอนเซปต์ใหม่สาขาแรก ขนาด 180 ตารางเมตร ลงทุนไปประมาณ 17 ล้านบาท ออกแบบร้านในคอนเซปต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีโครงสร้างร้านวัสดุมาจากการรีไซเคิลและกระจกประหยัดพลังงาน เพื่อสร้างความยั่งยืนภายใต้แนวคิด Journey to Zero และอนาคตอาจจะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง
พร้อมเตรียมรีโนเวตร้านสาขาเดิมอีก 30 สาขา เปลี่ยนคอนเซปต์ใหม่ให้ทันสมัยขึ้น
โดยจะศึกษาในหลายๆ มิติ โดยบางสาขาหากมีขนาดใหญ่ไปอาจปรับให้เล็กลงตามเทรนด์ผู้บริโภคนย่านนั้นๆ
นอกจากนี้ยังเดินหน้าพัฒนาเมนู และเครื่องดื่ม KFC Cafe’ by Arigato เพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าในราคาที่ไม่ได้สูงมาก ซึ่งได้ปรับเซ็ตเมนูอาหาร The BOX เริ่มต้น 69 บาท เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในเรื่องความคุ้มค่าและราคาที่เข้าถึงง่าย และอยู่ระหว่างการศึกษาและพูดคุยกับพาร์ตเนอร์ เพื่อจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสาขา KFC แหล่งท่องเที่ยว คาดว่าจะได้เห็นในปี 2566
“เราให้ความสำคัญทุกๆ ช่องทาง ทั้งนั่งรับประทานที่ร้าน ซื้อกลับบ้าน และเดลิเวอรี เราเชื่อว่าเดลิเวอรีเป็นอีกช่องทางที่มาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ ถ้าร้านขยายเวลาได้มากขึ้นก็จะเพิ่มการขายได้มากขึ้น เห็นได้จากช่วงฟุตบอลโลก ในบางสาขามียอดขายเพิ่มขึ้น 10%” ปิยะพงศ์กล่าว “แต่อีกด้านยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยน มีผลต่อการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบบางรายการ ต้องบริหารให้มีประสิทธิภาพให้มากที่สุด”
ปิยะพงศ์กล่าวต่อไปว่า ในปี 2566 KFC ตั้งเป้ารายได้มากกว่า 7 พันล้านบาท เติบโต 15% ประเมินว่าปีหน้าช่องทางไดรฟ์-อินจะเติบโตมาก โดยเฉพาะช่วงไฮซีชันที่ผู้คนพบปะสังสรรค์กัน และยิ่งถ้าจีนเปิดประเทศ ก็จะทำให้ภาพอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับสัญญาณบวกอย่างมาก