×

‘ดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศ’ ป่วนหนัก! ‘เครดิต สวิส’ เชื่อคน Gen Z สร้างความมั่งคั่งได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับ 3 Gen ก่อนหน้า

24.02.2023
  • LOADING...
Gen Z

จากรายงาน ‘2023 Credit Suisse Global Investment Returns Yearbook’ ซึ่งจัดทำโดย Credit Suisse ร่วมกับ London Business School ซึ่งสะท้อนผลตอบแทนและความเสี่ยงในหลากหลายแง่มุมของสินทรัพย์การลงทุนหลัก เช่น หุ้น บอนด์ ตั๋วเงินคลัง และสินค้าโภคภัณฑ์ 

 

หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงานในปีนี้คือ แนวโน้มของผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนในอนาคต ซึ่งรายงานดังกล่าวระบุว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ผลตอบแทนที่คาดหวังของสินทรัพย์เสี่ยงจะต่ำลงด้วยเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยลดลงต่ำมากอย่างไม่คาดคิด จะกลายเป็นการหนุนราคาและผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ ให้พุ่งขึ้นแทน ถึงแม้ว่าผลตอบแทนที่คาดหวังจะลดต่ำลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดศตวรรษที่ 21 ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงปี 2021 

 

แต่หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปี 2022 ผลตอบแทนจากการลงทุนที่นักลงทุนจะคาดหวังได้ในอนาคตอาจจะลดต่ำลง 

 

ในอดีตช่วง 3 เจเนอเรชันที่ผ่านมา ได้แก่ ยุค Baby Boomers (เกิดปี 1946-1964) ยุคเจเนอเรชัน X (เกิดปี 1965-1980) และยุคมิลเลนเนียลส์ (เกิดปี 1981-1996) ผู้คนทั้งสามยุคที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่ผ่านช่วงเวลาที่ค่อนข้างดีสำหรับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่คาดหวังได้ 

 

อย่าง Baby Boomers ผ่านช่วงที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นสูงมาก คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 6.7% ต่อปี แม้ว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของบอนด์จะอยู่ที่เพียง 2.9% แต่ก็ช่วยให้ผลตอบแทนจากพอร์ตลงทุนคลาสสิกคือ หุ้น 60% บอนด์ 40% ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.6% ต่อปี 

 

ขณะที่ยุค Gen X และมิลเลนเนียลส์ แม้ผลตอบแทนเฉลี่ยจากพอร์ต 60:40 จะลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 5.1% และ 4.7% ต่อปีตามลำดับ 

 

สำหรับ Gen Z (เกิดปี 1997-2012) อาจเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป การศึกษาของรายงานคาดว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของคนยุค Gen Z จากพอร์ต 60:40 จะลดต่ำลงเหลือ 3% ต่อปี โดยหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ต่อปี ส่วนบอนด์จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.5% ต่อปี นับจากปี 2023 เป็นต้นไป 

 

อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนที่คาดหวังที่ต่ำลงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผลตอบแทนของหุ้นและบอนด์เมื่อปี 2022 ย่ำแย่อย่างมาก 

 

นอกจากเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มว่าจะอยู่ในระดับสูงต่อไปก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจจะกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคต 

 

Paul Marsh ศาสตราจารย์ภาควิชาการเงินของ London Business School กล่าวว่า เงินเฟ้อเป็นปัจจัยหลักที่น่ากังวล ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา จากสิ้นปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่เงินเฟ้อแตะระดับต่ำสุดนับแต่ปี 1934 แต่หลังจากนั้นเพียง 2 ปี เงินเฟ้อกลับเพิ่มขึ้น 19 เท่า จาก 0.4% เป็น 8% อย่างในสหรัฐฯ เงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี ยุโรปสูงสุดในรอบ 42 ปี และเยอรมนีสูงสุดในรอบ 71 ปี 

 

“เงินเฟ้อมีแนวโน้มจะผ่านจุดพีคไปแล้ว แต่ยังมีโอกาสที่จะอยู่ในระดับสูงต่อไป”

 

เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับพอร์ตลงทุนจากเงินเฟ้อ นักลงทุนอาจจะพิจารณาเพิ่มสัดส่วนของสินค้าโภคภัณฑ์เข้ามาในพอร์ตลงทุน โดยสัดส่วนอาจจะอยู่ที่ราว 5-10% ขึ้นอยู่กับการยอมรับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน 

 

หากพิจารณาจากข้อมูลในอดีตจะเห็นว่าสินทรัพย์อย่างหุ้น อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ราคาบ้าน บอนด์ หรือตั๋วเงินคลัง ต่างเป็นสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์ตรงกันข้ามกับเงินเฟ้อทั้งสิ้น ในขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์เป็นสินทรัพย์ที่มักจะให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในช่วงที่เงินเฟ้อสูง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X