×

มูลค่าของความคิด

13.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • งานหลายๆ ชิ้นในบ้านเรา โดยเฉพาะพวกงานอีเวนต์ งานนิทรรศการ งานโฆษณา ฯลฯ เวลาประเมินค่าใช้จ่าย เรามักเผลอคิดแค่ค่าวัสดุ ค่าก่อสร้าง ค่าแรง ค่ากล้อง ค่าไฟ ฯลฯ ที่พอจะจับต้องได้
  • ‘มูลค่าความคิด’ โดยเฉพาะความคิดที่จะนำเสนอ (แบบเป็นรูปเป็นร่าง) เรามักจะมองผ่านมันไป ไม่ให้มูลค่ากับมันมากนัก อาจเพราะมันจับต้องค่อนข้างยาก
  • ในวันที่เครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างมีราคาถูกลง การผลิต การถ่ายทำ การติดตั้ง ฯลฯ ง่ายขึ้น แต่ในทางความคิด อาจไม่ใช่แค่ว่าใครๆ ก็คิดได้ เราควรให้มูลค่าความคิดตรงนี้กันแค่ไหนอย่างไรดี

     ผมมีโอกาสแวะไปชมนิทรรศการการ์ตูนของสำนักพิมพ์ Shonen Jump ที่ Mori Art Museum ในโตเกียว ในขณะที่กองบรรณาธิการ THE STANDARD ทวงต้นฉบับมาพอดี

     สำนักพิมพ์ Shonen Jump เป็นสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์การ์ตูนดังๆ มาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี เช่น Kinnikuman, Dr. Slump, City Hunter, Kimagure Orange Road, Saint Seiya: Knights of the Zodiac, Dragon Ball,ไอ้เขี้ยวเงิน, หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ ฯลฯ เป็นงานนิทรรศการที่เรียบง่าย แต่ให้อารมณ์ของความทรงจำที่ดี และมีไอเดียน่าสนใจหลายชิ้น

     ระหว่างที่เดินชมนิทรรศการอยู่กับเพื่อนคนหนึ่งที่เขามีอาชีพทำอีเวนต์ ทำงานภาพยนตร์และโฆษณา

     ผมก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า

     งานที่เห็นอยู่ตรงหน้า ถ้าเป็นงานอีเวนต์ หรืองานนิทรรศการที่เมืองไทย ผู้จัดทำจะได้รับค่าตอบแทนกันอย่างไร

     สิ่งที่ผมเห็นตรงหน้าเป็นพื้นกล่องลานประลองการต่อสู้ในการ์ตูนเรื่อง Dragon Ball ซึ่งเป็นพื้นสี่เหลี่ยมยกพื้นขึ้นมาเรียบๆ แบบลานประลองในการ์ตูน

     บนผนังใช้โปรเจกเตอร์ฉายภาพฉากเวทีให้ต่อกันกับพื้นพอดี จากนั้นก็เป็นภาพการ์ตูนตัดสลับไปมาทีละตัว ไม่ได้มีการต่อสู้หรือ animated อะไรมากมาย แค่พอให้คนที่เคยอ่านการ์ตูนเรื่องนี้นึกถึง และย้อนความทรงจำกันได้และมีเรื่องพูดคุยกันเมื่อเห็นภาพตรงหน้า

     คำถามที่น่าสนใจคือ

     งานลักษณะแบบนี้ แม้ว่าจะดูเรียบง่ายแต่ก็ทรงพลัง และมีไอเดียที่น่าสนใจ ความยากนั้นไปอยู่ที่ตอนคิดหรือไอเดียในการนำเสนอ

     ส่วนการนำเสนอในแง่การใช้วัสดุสิ่งก่อสร้างและติดตั้งไม่ได้มีราคามากนัก

     ถ้าอยู่ที่เมืองไทยจะถูกตั้งคำถามไหมว่า ‘ทำไมใช้ของแค่นี้’

     งาน presentation ชิ้นนี้ ดูไม่น่าแพงและควรจะจ่ายค่าว่าจ้างอย่างไรดี ถึงจะสมราคา

     เพราะในแง่การใช้วัสดุหรือการก่อสร้าง และการติดตั้งไม่ได้มาก

     ไม่มีจอมัลติมีเดีย ไม่มีการแมปปิ้งภาพ ไม่มีเทคโนโลยี หรือเทคนิคในการนำเสนอแบบใหม่ ประเมินด้วยสายตาแล้ว การสร้าง การติดตั้งไม่น่ายุ่งยาก

     และไม่น่าจะแพง แต่…

     ค่าความคิด ที่จะนำเสนอแบบนี้เราควรคิดมูลค่ามันอย่างไรดี?

     งานหลายๆ ชิ้นในบ้านเราโดยเฉพาะพวกงานอีเวนต์ งานนิทรรศการ รวมไปถึง งานโฆษณา ฯลฯ

     เวลาเราประเมินค่าใช้จ่าย เรามักจะเผลอคิดแค่ค่าวัสดุ ค่าก่อสร้าง ค่าแรง ค่ากล้อง ค่าไฟ ฯลฯ ที่เราพอจะจับต้องได้

     แต่ ‘มูลค่าความคิด’ โดยเฉพาะความคิดที่จะนำเสนอ (แบบเป็นรูปเป็นร่าง) เรามักจะมองผ่านมันไป ไม่ให้มูลค่ากับมันนัก อาจเพราะมันจับต้องค่อนข้างยาก แน่นอนว่า บางงานเรามีค่า creator fee (หรือค่าความคิดด้วย แต่โดยมากมักคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากมูลค่างานรวม)

     ส่วนมากเมื่อเราเห็นงานที่สำเร็จแล้ว เรามักจะเผลอคิดว่า เรียบง่ายแบบนี้ใครๆ ก็คิดได้

     อย่างเช่นตัวอย่างนี้ ที่เมื่อเห็นงานแล้วก็อาจจะเผลอบอกว่า “ใช่ๆ Dragon Ball ต้องมีลานประลอง” แต่เราจะนำเสนอมันอย่างไรดีล่ะ?

     เราอาจสร้างลานประลองขนาดใหญ่ แล้วแมปปิ้งภาพ 3 หรือ 4 มิติลงไป โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้คนใส่แว่นมอง แล้วเห็นตัวละครต่อสู้กัน

     มันอาจจะได้ความทันสมัยและไฮเทคของเทคโนโลยี ซึ่งมันอาจดูคุ้มค่าและสะดวกในแง่ของการประเมินราคา ถ้าคิดถึงในเรื่องของค่าใช้จ่าย

     แต่มันอาจจะดูเป็นแอนิเมชันมากกว่าการเป็นมังงะ หรือการ์ตูนเล่ม และอาจไม่ได้อารมณ์ร่วมของคนชมงานเท่าวิธีที่เรียบง่าย

     ในงานนิทรรศการของ Shonen Jump ยังมีการนำเสนออีกหลายชิ้นที่เข้าข่ายนี้คือ เรียบง่ายแต่ทรงพลังสำหรับแฟนการ์ตูนเล่ม อย่าง Kinnikuman และ City Hunter ฯลฯ ลองคิดกันดูเล่นๆ ก็ได้ว่า ถ้าเป็นเราทำ เราจะนำเสนอมันอย่างไรดี?

     การใช้ตัวเลขทางคณิตศาสตร์ในการประเมินมูลค่าทางความคิดนั้นไม่ง่ายเลย

     การคิดมูลค่างานจากสิ่งที่จับต้องได้นั้นค่อนข้างสบายใจกันทุกฝ่าย แต่สำหรับสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างความคิดหรือไอเดีย เราควรประเมินมันอย่างไรดี

     ในวันที่เครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างมีราคาถูกลง การผลิต การถ่ายทำ การติดตั้ง ฯลฯ ง่ายขึ้น ใครๆ ก็ทำได้ แต่ในทางความคิด อาจไม่ใช่แค่ว่าใครๆ ก็คิดได้ เราควรให้มูลค่าความคิดตรงนี้กันแค่ไหนอย่างไรดี

     เขียนมาถึงตรงนี้ ก็อยากฝากความคิดนี้ไว้กับทุกๆ คนที่ได้อ่าน

     และเป็นกำลังใจให้นักคิดนักสร้างงานทุกๆ คนด้วยเช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising