THE STANDARD POP ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, UNESCO (ประเทศไทย) และ กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (Ministry of Culture, Sports and Tourism) สาธารณรัฐเกาหลี ชวนคุณทำความเข้าใจนิยามใหม่ของ Creative Cities หรือเมืองสร้างสรรค์ ภายใต้บริบทปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 รวมถึงการก้าวสู่การเป็นสมาชิกของ UNESCO Creative Cities Network (UCCN) หรือโครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การ UNESCO ผ่านมุมมองของวิทยากรระดับโลกที่ทำงานใกล้ชิดในเรื่องการพัฒนาเมืองสู่ความเป็นเมืองสร้างสรรค์อย่าง ดร.ซิน กู (Dr. Xin Gu, UNESCO Expert Facility, Monash University), ดร.ไมเคิล โกะ ลิม (Dr. Michael Kho Lim, Cardiff University), ศาสตราจารย์จัสติน โอคอนเนอร์ (Prof. Justin O’Connor, University of South Australia), ดร.มิเลนา เซสซิค (Dr. Milena Dragicevic Sesic, UNESCO Expert Facility) และ ดร.พิชชากานต์ ช่วงชัย (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ติดตามชมคลิปวิดีโอตัวเต็มได้ที่
Creative Cities in the 21st Century
ไอเดียของการริเริ่มคำว่า Creative City นั้นเกิดขึ้นช่วงปลายทศวรรษ 90 ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งต่อมา UNESCO ได้สร้างโครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) ขึ้นในปี 2004 เพื่อสนับสนุนการก้าวสู่ความเป็นเมืองสร้างสรรค์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากมองในทวีปเอเชียเอง หลังจากเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจในปลายยุค 90 เศรษฐกิจสร้างสรรค์ถือเป็นหนึ่งในหนทางในการพัฒนาประเทศ แต่ด้วยปัจจัยความแตกต่างของวัฒนธรรมและผู้คน คำว่าเมืองสร้างสรรค์สำหรับทวีปเอเชียเองแตกต่างจากยุโรป โดยเฉพาะเมื่อเราข้ามบริบทของเวลาเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศที่ควรทบทวนนิยามของเมืองสร้างสรรค์เสียใหม่เพื่อปรับใช้อย่างถูกต้อง
People are the Heart of the City
จากการค้นคว้าหาข้อมูลจากเมืองในเอเชีย วิทยากรที่มาร่วมพูดคุยกับเราวันนี้ได้ร่วมกันเขียนหนังสือที่มีชื่อว่า ‘Re-Imagining Creative Cities in Twenty-First Century Asia’ และเล่าถึงนิยามใหม่ไว้ว่า ในอดีตคำว่า Creative Cities เกิดขึ้นจากฝั่งตะวันตก รัฐบาลอาจเป็นผู้ดำเนินนโยบายแบบ Top-Down ให้คำสั่งลงมาจากศูนย์กลางในการสร้างสถาปัตกรรม ระบบสาธารณสุขต่างๆ สำหรับเมืองเพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดี สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ หรือพร้อมสำหรับการจัดงานใหญ่ๆ อย่างโอลิมปิกที่เพิ่งผ่านไป แต่ประเทศในเอเชียเองโดยเฉพาะบริบทปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 เราไม่สามารถหยิบเอาวิธีการจากฝั่งตะวันตกมาได้ทั้งหมด แต่ควรทำความเข้าใจและเลือกปฏิบัติให้เข้ากับประเทศนั้นๆ และเมืองนั้นๆ เอง สิ่งสำคัญคืออย่าลืมว่า ‘คน คือหัวใจหลักที่สำคัญที่สุดของเมือง’
เมืองสร้างสรรค์ในยุคใหม่ให้ความสำคัญที่คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา เราสามารถออกแบบเมืองสร้างสรรค์ได้โดยการบูรณาการศิลปะและวัฒนธรรมเข้าไปในวิถีชิวิตประจำวันของคน ซึ่งวิธีการนี้แตกต่างจากนโยบาย Top-Down ที่อธิบายไปข้างต้น เมืองสร้างสรรค์ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นเป็นสำคัญเพื่อการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
Culture for Participating, Not a Culture for Consuming
เมื่อให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นเป็นสำคัญ จุดเปลี่ยนอีกอย่างของการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์คือการพัฒนาเมืองเพื่อคนในพื้นที่ ไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว แต่เดิมประเทศในเอเชียถูกขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ทำงานต่างกัน มันคือการหาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ นำมาพัฒนาให้เกิดประสบการร่วมกันของคนในพื้นที่ ไม่ใช่เพื่อเรียกนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งในความเป็นจริงแม้การท่องเที่ยวและเมืองสุดท้ายจะแยกออกจากกันไม่ขาด แต่การท่องเที่ยวในตอนนี้ถูกวางให้เป็นผลพลอยได้รอง แต่เมืองสร้างสรรค์เพื่อคนในชุมชนต่างหากคือหัวใจหลัก
Bottom Up Initiative
มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการสร้างให้เมืองกลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ไม่ว่าจะสำหรับประเทศไหนทั้งนั้นในโลก สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการมองตัวอย่างหลายๆ เมืองที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเมืองแล้วประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะกับเมืองที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายของ UNESCO เพราะการเข้ามาเป็นสมาชิกอาจไม่ใช่เป้าหมายสำคัญเท่ากับการได้ให้คนในชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองเพื่อพวกเขาเองจริงๆ ในที่นี้คนในพื้นที่สามารถทำงานร่วมกันกับองค์กรอิสระในประเทศอย่าง CEA เพื่อให้ความช่วยเหลือสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้