×

ศบค. เผยร่างกิจการ/กิจกรรมเฟส 4 ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ยกเว้นผับ-บาร์-คาราโอเกะ

10.06.2020
  • LOADING...

วันนี้ (10 มิถุนายน) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยระหว่างแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกี่ยวกับร่างประเภทกิจการ/กิจกรรม ที่กำลังจะกลับมาเปิดในการผ่อนปรนระยะที่ 4 พบว่า เป็นกลุ่มสีแดง หรือกลุ่มที่มีกิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไปในหลายพื้นที่ รายการแพร่เชื้อในสถานที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในเกณฑ์ต่ำ 

 

ซึ่งมีการแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ ประกอบไปด้วย การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต และกิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีรายละเอียด เงื่อนไข แยกย่อยดังนี้

 

  1. การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาฯ
  • โรงเรียน สถาบันการศึกษา ประเภทนานาชาติ สถาบันกวดวิชา
  • หน่วยงานราชการ-กำกับของรัฐ อบรมสัมมนา ในหลักสูตรฝึกอบรมที่หน่วยงานจัดขึ้น 

 

  1. กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต

(ก.) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แต่ต้องจำหน่ายในภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป (ไม่รวมสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ยังไม่เปิดให้บริการ) 

 

(ข.) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กรายวันฯ การดูแลเด็กเล็กต้องแบ่งเป็นกลุ่มเล็ก (กำหนดเกณฑ์คือ 2 ตารางเมตรต่อคน)

 

(ค.) การประชุมอบรมสัมมนา ต้องคิดเกม 4 ตารางเมตรต่อคน การจัดเลี้ยงงาน อีเวนต์ เปิดตัวสินค้า ประกวดการแข่งขัน ต้องมีระยะนั่ง-ยืนห่าง 1 เมตร และงานแสดงดนตรีคอนเสิร์ต ต้องลดความหนาแน่น-ไร้ระเบียบ (กำหนดเกณฑ์คือ 5 ตารางเมตรต่อคน) 

 

(ง.) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เช่น ท้องฟ้าจำลอง ต้องแบ่งการเข้าชมเป็นกลุ่ม และแบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ให้เข้าชมได้เป็นรอบเท่านั้น 

 

(จ.) ขนส่งสาธารณะทุกประเภท อาจให้ผู้โดยสารนั่งติดกันได้ 2 ที่นั่ง และเว้น 1 ที่นั่ง โดยจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 70% ของความจุผู้โดยสารตามมาตรฐาน

 

  1. กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ 

(ก.) กิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รายการโทรทัศน์ กำหนดให้กองถ่ายรวมคนทุกแผนกต้องมีไม่เกิน 150 คน และมีผู้เข้าชมได้ไม่เกิน 50 คน

 

(ข.) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา ออนเซน อบตัว อบสมุนไพรหรืออบไอน้ำแบบรวม กำหนดให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการต่อรอบคิดเกณฑ์ 5 ตารางเมตรต่อคน และยกเว้นกลุ่มสถานบริการ กิจการอาบ อบ นวด ที่ยังเปิดไม่ได้

 

(ค.) สวนสนุก สนามเด็กเล่น สวนน้ำ สระว่ายน้ำสาธารณะ มีข้อกำหนดดังนี้

  • สวนน้ำและสระว่ายน้ำสาธารณะ คิดเกณฑ์ 8 ตารางเมตรต่อผู้ใช้บริการ 1 คน
  • สวนสนุก สนามเด็กเล่น งดให้บริการเครื่องเล่นที่มีการสัมผัสมาก เช่น บ้านบอล
  • อบรมพนักงาน มีไลฟ์การ์ดดูแล ตรวจตรา และให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้บริการ

 

(ง.) สนามกีฬาประเภทกลางแจ้ง โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ โรงยิม สถานที่ออกกำลังกาย มีข้อกำหนดดังนี้

  • ทุกประเภทกีฬาต้องทำตามกติกาสากล เพื่อการออกกำลังกาย การฝึกซ้อม หรือการเรียนการสอน
  • การจัดการแข่งขันโดยไม่มีผู้ชม แต่สามารถถ่ายทอดสดเพื่อชมการแข่งขันได้ โดยไม่มีกิจกรรมอื่นร่วมด้วย
  • ผู้จัดการแข่งขันกีฬาทุกประเภท ต้องลงทะเบียนจัดแข่งขันภายใต้การควบคุมโรคของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)

 

(จ.) สวนสาธารณะ ลานกิจกรรมเพื่อการออกกำลังกาย ลักษณะเป็นการรวมกลุ่ม เช่น เต้นแอโรบิก มีข้อกำหนดดังนี้

  • จำกัดการรวมกลุ่ม คิดเกณฑ์มากกว่าหรือเท่ากับ 5 ตารางเมตร รวมไม่เกิน 50 คน 
  • ใช้พื้นที่สวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และลดการแพร่เชื้อ

 

(ฉ.) ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญ ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ โรงมหรสพ และสวนสนุก 

 

อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีศิลป์ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงกรณีการให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ แต่กลับไม่เปิดให้บริการในส่วนของ ผับ บาร์ และ คาราโอเกะ โดยระบุว่า กิจการอย่าง ผับ บาร์ และคาราโอเกะ เป็นกิจการที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูง และเคยปรากฏเหตุการณ์การแพร่เชื้อเป็นกลุ่มก้อนที่เกิดจากผับ บาร์ ในย่านทองหล่อ

 

ส่วนการเปิดให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำหน่ายในร้านอาหารหรือภัตตาคารได้นั้น เป็นเพราะผู้บริโภคที่อยู่ในร้านในกลุ่มข้างต้นมีการบริโภคที่ไม่ได้อาศัยการนั่งทานเป็นเวลานานเหมือนในผับ บาร์ อีกทั้งร้านอาหารมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตประจำวันมากกว่า จึงมีการอนุญาตให้เปิดจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ในส่วนของร้านอาหารที่ใช้ระยะเวลารับประทานไม่นานเท่านั้น

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X