×

CRACKED: ครีมกันแดดที่ใช่…เลือกอย่างไรดี?

03.04.2022
  • LOADING...
CRACKED: ครีมกันแดดที่ใช่…เลือกอย่างไรดี?

เพราะทุกเรื่องที่เกี่ยวกับครีมกันแดดเป็นเรื่องสำคัญมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผิวของเราโดยตรง CRACKED จึงขอพาทุกคนไปเจาะลึกในทุกเรื่องของครีมกันแดดว่า ทำไมครีมกันแดดจึงสำคัญ? ทำไมรังสี UV ถึงน่ากลัว? เราจะเลือกครีมกันแดดอย่างไรให้เหมาะกับผิว? ปริมาณการทาครีมกันแดดที่เหมาะสมต้องทาแค่ไหน? วิธีทดสอบว่าเราแพ้ครีมกันแดดหรือไม่? และควรเลือกครีมกันแดดอย่างไรให้เหมาะแก่การไปทะเล 

 

คำตอบทั้งหมดอยู่ที่นี่แล้ว 

 

ความสำคัญของครีมกันแดด 

ตรงตัวเลยก็คือ ช่วยป้องกันรังสี UV จากดวงอาทิตย์ ที่สามารถทำร้ายผิวของเราได้โดยไม่รู้ตัว หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่า รังสี UV เป็นรังสีที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แพทย์ผิวหนังจึงมักเตือนเราเสมอว่า แม้จะอยู่ในที่ร่ม อยู่ในอาคาร หรือวันฟ้าครึ้ม ก็ต้องไม่ลืมว่ารังสี UV สามารถสร้างความเสียหายต่อผิวของเราได้ตลอดเวลา การทาครีมกันแดดทุกวันจึงสำคัญสำหรับทุกคน 

 

ทำไมรังสี UV ถึงน่ากลัว ก็เพราะว่ามันส่งผลกระทบต่อผิวหนังมากมาย ดังนี้

รังสี UVA มีอำนาจทะลุทะลวงสูง ทะลุเมฆ กระจกได้ เมื่อโดนผิวหนังของเราจะลงลึกได้ถึงชั้นผิวหนังแท้ ทำให้แก่ไว มีริ้วรอยได้ง่าย หากโดนรังสี UVA บ่อยๆ ก็ทำให้เกิดกระ ฝ้า และสะสมนานๆ เข้าก็เป็นมะเร็งผิวหนังได้

 

รังสี UVB อำนาจทะลุทะลวงลดลง หากโดนผิวหนังของเรามักทำให้เกิดปัญหาผิวหนังแสบ แดง ร้อน หรือไหม้ดำได้

 

รู้หรือไม่ว่ายังมีรังสี UVC ด้วยนะ! แต่รังสี UVC จะถูกชั้นบรรยากาศโอโซนของโลกทั้งสะท้อนกลับ ดูดซับ และทำลาย ไว้ได้เกือบหมด จึงไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อพวกเราชาวมนุษย์โลกเท่าไร

 

จะเลือกครีมกันแดดอย่างไรให้เหมาะกับผิว

ในท้องตลาดจะมีประเภทของครีมกันแดด ดังนี้ 

 

1. ครีมกันแดดแบบ Chemical Sunscreen 

จะใช้คุณสมบัติสารเคมีที่เน้นการดูดซับรังสี UV ข้อดีคือให้การปกป้องสูง แต่มีข้อเสียคือสารเหล่านี้มักทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้ง่าย คนที่ผิวบอบบาง แพ้ง่าย ไม่แนะนำ

 

ตัวอย่างชื่อสารเคมีที่มีคุณสมบัติดูดซับรังสี UV เช่น Oxybenzone, Dioxybenzone, Avobenzone, Merxorylsx, PABA, Octyl Methoxycinnamate, Octyl Salicylate) 

 

ครีมกันแดดแบบ Physical Sunscreen หรือ Mineral Sunscreen 

ครีมกันแดดประเภทนี้จะเน้นที่การกระจายหรือสะท้อนรังสี UV ทั้ง UVA และ UVB ในเรื่องประสิทธิภาพของการกันแดดก็อาจด้อยกว่าครีมกันแดดที่ใช้คุณสมบัติทางเคมี แต่จุดที่ดีกว่าคือ ไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองต่อผิว

 

ตัวอย่างสารสะท้อนรังสี UV ในกันแดดประเภทนี้ เช่น Titanium Dioxide) และ Zinc Oxide 

 

ครีมกันแดดแบบ Chemical-Physical Sunscreen 

เป็นประเภทครีมกันแดดที่ใช้ทั้ง 2 แบบผสมผสานกันในสูตรการผลิต ซึ่งลักษณะมาตรฐานการป้องกันของครีมกันแดดจะมีอยู่ 2 ชื่อ ที่เราจะได้ยินบ่อยๆ คือ SPF และ PA+++ 

 

ค่า SPF (Sun Protection Factor) จะบอกให้เรารู้ว่ากันแดดจะช่วยป้องกัน UVB ได้กี่เท่านั่นเอง การที่มีค่า SPF สูง แสดงว่าให้การปกป้องที่ยาวนานกว่า แต่ไม่ได้บอกว่าดีกว่า SPF ที่ต่ำๆ เสมอไป 

 

ค่า PA (Protection Grade of UVA) เป็นการบอกว่าป้องกัน UVA ได้ดีอย่างไร โดยมีตั้งแต่หนึ่งบวก-สี่บวก ซึ่งค่า PA ที่แพทย์แนะนำคือสองบวกขึ้นไป ถ้าไปทะเลหรือออกแดดจัดควรเลือกสามบวกขึ้นไป 

 

วิธีเลือกซื้อและทาครีมกันแดดที่แพทย์แนะนำ

การเลือกครีมกันแดดที่ดีที่สุด แพทย์แนะนำให้เลือกจากการทดลองใช้หรือเลือกจากประสบการณ์ใช้งานจริงของตัวเอง เช่น ดูว่าใช้แล้วเหนียวเหนอะหนะไหม? เกลี่ยง่ายหรือเปล่า? ใช้แล้วทำให้ผิวมันเกินไปไหม? ระคายเคืองต่อผิวหรือไม่? 

 

ปริมาณการทาครีมกันแดดที่เหมาะสม 

ในการทาผิวหน้า 1 ครั้ง แพทย์แนะนำว่าควรบีบครีมกันแดดให้ยาวประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ หรือเท่าเหรียญ 10 บาท (2 มิลลิกรัม หรือ 2 ซีซี) แล้วทาทั่วหน้า 

 

Tip: เพื่อให้ทาง่ายขึ้น สามารถแบ่งทาทีละครึ่งได้ เช่น ทาครึ่งแรกก่อนให้ซึม เสร็จแล้วค่อยทาส่วนที่เหลือตามลงไปได้เลย 

 

วิธีทดสอบว่าเราแพ้ครีมกันแดดหรือไม่

ทาครีมกันแดดไว้ที่บริเวณผิวหนังใต้ท้องแขน ทิ้งไว้ 15 นาที หรือนานกว่านั้น แล้วดูว่าผิวของเรามีอาการบวม คัน แดง ร้อน หรือไม่ ถ้ามีอาการแพ้ก็งดใช้กันแดดตัวดังกล่าว ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดคือ เวลา 10.00-14.00 น. เพราะเป็นช่วงที่รังสี UVB มีปริมาณสูงที่สุด ทำร้ายผิวได้มากที่สุด และการใช้ครีมกันแดดควรเลือกให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน 

 

ควรเลือกครีมกันแดดอย่างไรให้เหมาะแก่การไปทะเล

ถ้าไปทะเลควรคำนึงถึงการเลือกครีมกันแดดที่ไม่ทำร้ายปะการังด้วย เพราะมีงานวิจัยพบว่า สารกันแดด Oxybenzone ซึ่งเป็นสารกันแดดยอดฮิตที่มีเยอะมากๆ ในท้องตลาด พบว่า มีผลเสียต่อปะการังคือ ไปทำให้ปะการังถูกฟอกขาวไปด้วย ทำให้ สูญเสียสีตามธรรมชาติไป แถมยังเป็นอันตรายต่อดีเอ็นเอของปะการัง ร้ายที่สุดคือทำให้ให้ปะการังตายได้เลย ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนมาใช้ครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้ท้องทะเล ด้วยการหลีกเลี่ยงครีมกันแดดที่มีชื่อส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อปะการัง ดังนี้ Oxybenzone, Butylparaben, Octinoxate, Zinc (Nanoparticles), Titanium Dioxide (Nanoparticles), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) 

 

สุดท้าย อย่าลืมว่าทุกที่ที่เราอยู่ รังสี UV สามารถเข้าถึงและทำอันตรายต่อผิวหนังของเราได้ทุกเมื่อ ควรเลือกครีมกันแดดที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ทาในปริมาณที่เพียงพอและทั่วถึง ไม่ใช่ทากันแดดเฉพาะใบหน้าเท่านั้น แต่ต้องทาลำคอและทาผิวกายด้วย หมั่นทาซ้ำเมื่อต้องอยู่กลางแจ้งนานๆ หลีกเลี่ยงแสงแดดให้ได้มากที่สุดด้วยนะ เพื่อให้การป้องกันรังสี UV ได้ผลดีที่สุด 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising