×

Sunscreen 101: คู่มือเลือกซื้อและวิธีใช้ครีมกันแดด ฉบับคุณหมอขอแนะนำ

11.04.2019
  • LOADING...
Sunscreen 101

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การที่มีค่า SPF สูง สะท้อนการปกป้องที่ยาวนานกว่า แต่ไม่ได้บอกว่าดีกว่า SPF ต่ำ ตัวอย่าง ครีมกันแดดที่มี SPF30 ป้องกันผิวร้อนแดงได้นาน 30 เท่าของปกติ แม้โดยทั่วไป UVB เมื่อโดนผิวหนังได้ 15 นาที จะทำให้ผิวหนังเริ่มแดงร้อน ครีมกันแดดที่มี SPF30 จึงปกป้องผิวก่อนแดงร้อนได้ 15*30 = 450 นาที
  • การเลือกครีมกันแดดควรใช้ลักษณะการทดลองใช้ และดูประสบการณ์ วัดความพึงพอใจจากการใช้จริง เช่น ใช้แล้วเหนียวเหนอะหนะหรือไม่ เกลี่ยง่ายหรือไม่ ผิวมันเกินไปหรือไม่ หรือเกิดผลเสียก็ให้หยุดใช้ นอกเหนือจากนั้น แนะนำให้เลือกครีมกันแดดที่ไม่ก่อสิว ไม่อุดตัน ไม่มีสารกันบูด ไม่มีน้ำหอม พวกนี้จะทำให้ผิวแพ้และระคายเคืองได้ ควรเป็นครีมกันแดดไม่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ผิวแห้ง เลือกครีมกันแดดที่ไม่มีสารก่อการอุดตัน (Occlusive Agents) เช่น ลาโนลิน (Lanolin), พีจี หรือโพรพิลิน ไกลคอล (Propylene Glycol) ที่ทำให้เกิดสิวอุดตันได้ง่าย
  • การกันแดดแบบรับประทานที่มีการโฆษณาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ หลักการจริงๆ คืออาหารเสริมที่ใช้แผนการขายและการตลาดเชิญชวนให้เข้าใจว่า สารอาหารที่รับประทานเข้าไปนั้นปกป้องแสงแดดได้ แต่เราอาจจะต้องศึกษาถึงความเสี่ยงและผลเชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น ก่อนที่จะเชื่ออาหารเสริมทั้งหลาย

ก่อนที่จะรู้เรื่องครีมกันแดด เราต้องรู้ก่อนว่า เราจะกันแดดกันไปทำไม ผมอยากอธิบายอย่างนี้นะครับว่า การกันแดดก็คือ การกันรังสียูวี ซึ่งถือเป็นโทษกับเซลล์ผิวหนังและร่างกาย อันเป็นต้นเหตุของมะเร็ง ริ้วรอย และจุดด่างดำบนใบหน้าที่หลายคนขยาดกลัว ครั้งนี้ผมเลยจะมาอธิบายให้ฟังถึงการใช้ครีมกันแดดอย่างไรให้ถูกวิธี รวมถึงวิธีเลือกครีมกันแดด และไขข้อสงสัยว่า การกันแดดแบบรับประทานที่เห็นโฆษณากันนั้น ใช้แล้วเห็นผลจริงหรือมั่วนิ่มครับ   

 

ทำความรู้จักวายร้ายทำลายผิว

รังสียูวี (Ultraviolet-UV Ray) จากดวงอาทิตย์มีทั้งหมด 3 ประเภท คือ UVA, UVB และ UVC โดยที่ UVC นั้นเป็นแสงคลื่นความถี่สั้น (ความยาวคลื่น 280-100 นาโนเมตร) จะถูกชั้นบรรยากาศโอโซนของโลกทั้งสะท้อนกลับ ดูดซับ และทำลาย ไว้ได้เกือบหมด ไม่ส่งผลกระทบต่อพวกเราชาวมนุษย์โลกเท่าไร ส่วน UVA เป็นแสงคลื่นความถี่ยาว (ความยาวคลื่น 400-315 นาโนเมตร) มีมากถึงร้อยละ 90 ในแสงแดด มีอำนาจทะลุทะลวงสูง เมื่อโดนผิวหนังของเราจะลงลึกถึงชั้นผิวหนังแท้ ทำให้แก่ไว มีริ้วรอยได้ง่าย หากถูกบ่อยๆ ก็ทำให้เกิดกระ ฝ้า และสะสมนานๆ เข้าก็เป็นมะเร็งผิวหนังได้ สุดท้ายเจ้า UVB หรือแสงคลื่นความถี่ปานกลาง (315-280 นาโนเมตร) อำนาจทะลุทะลวงลดลง หากโดนผิวหนังของเรา มักทำให้เกิดปัญหาผิวหนังแสบ แดง ร้อน ไหม้ดำ การอาบแดดของคนต่างชาติและดาราที่ทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำและแทนขึ้น จริงๆ แล้วก็เป็นการทำให้ผิวหนังถูก UVB ปริมาณมากและนานพอที่จะเกิดการแดง ไหม้ และคล้ำขึ้นนั่นเอง

 

นอกจากรังสียูวีจากดวงอาทิตย์แล้ว แหล่งกำเนิดแสงอื่นๆ ที่เกิดจากการประดิษฐ์ขึ้นมา ไม่ว่าจะหลอดไฟ หน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ในการทำงานที่ร้อนๆ ก็ส่งรังสีชนิดต่างๆ ที่หากผิวหนังได้รับแล้ว ก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน

 

Sunscreen 101

 

ประเภทของครีมกันแดด เลือกแบบไหนให้เหมาะกับเรา

ครีมกันแดดแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ครีมกันแดดที่ใช้คุณลักษณะทางเคมี ครีมกันแดดที่ใช้คุณลักษณะทางกายภาพ และครีมกันแดดที่ใช้คุณลักษณะผสมผสานของทั้งสองประเภทข้างต้น หมอจะอธิบายให้ง่ายต่อความเข้าใจ ทำให้คุณผู้อ่านสามารถอ่านฉลากของครีมกันแดดที่เลือกใช้และรู้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้เลยทันที

 

1. ครีมกันแดดที่ใช้คุณลักษณะทางเคมี (Chemical Sunscreen)

ครีมกันแดดที่เน้นการดูดซับรังสียูวี การปกป้องจะดีกว่าครีมกันแดดที่ใช้คุณลักษณะทางกายภาพ แต่อาจทำให้เกิดการแพ้ต่อผิวหนังได้มากกว่า ตัวอย่างสารออกฤทธิ์ เช่น สารป้องกัน UVA ได้แก่ Oxybenzone, Dioxybenzone, Avobenzone, Merxorylsx เป็นต้น สารป้องกัน UVB ได้แก่ PABA, Octyl Methoxycinnamate, Octyl Salicylate

 

2. ครีมกันแดดที่ใช้คุณลักษณะทางกายภาพ (Physical Sunscreen)

ครีมกันแดดที่ใช้คุณลักษณะทางกายภาพหมายถึง ครีมกันแดดที่ใช้คุณสมบัติทางฟิสิกส์ของสารออกฤทธิ์ สามารถสะท้อนรังสียูวี ทั้ง UVA และ UVB ได้ด้วยตัวอนุภาคของมันเอง ครีมจำพวกนี้จะมีประสิทธิภาพในการกันแดดด้อยกว่าครีมกันแดดที่ใช้คุณสมบัติทางเคมี แต่มีข้อเด่นคือ ไม่ก่อการแพ้ให้กับผิวหนังเท่าไรนัก ตัวอย่างครีมกันแดดกลุ่มนี้ ได้แก่ ไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) และสังกะสี / ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) โดยที่มักนิยมใช้ในหมู่พริตตี้ งานแสดงโชว์ต่างๆ เพราะเมื่อทาแล้วผิวจะดูขาวสะท้อนแสงมาก มีออร่า การใช้ครีมกันแดดกลุ่มนี้ข้อควรระวังคือ หากทามากเกินไปจะอุดตันรูขุมขน ก่อสิวอุดตันได้ และเวลานั่งบนเบาะรถต้องระวังเนื้อครีมกันแดดจะติดเบาะเป็นคราบได้

 

3. ครีมกันแดดที่ใช้คุณลักษณะผสมผสาน (Chemical-Physical Sunscreen)

ปัจจุบันครีมกันแดดทั้งหลายจะจัดอยู่ในกลุ่มนี้ คือใช้ทั้ง 2 แบบผสมผสานกันในสูตรการผลิต คุณลักษณะมาตรฐานการป้องกันของครีมกันแดด มี 2 ชื่อ ที่เราจะได้ยินบ่อยๆ คือ SPF และ PA+++ ตัว SPF (Sun Protection Factor) เอสพีเอฟเป็นการบอกว่าป้องกัน UVB ได้กี่เท่านั่นเอง แสดงความยาวนานของการป้องกัน UVB ก่อนที่จะทำให้ผิวหนังเริ่มเกิดอาการแดงร้อน การที่มีค่า SPF สูง สะท้อนการปกป้องที่ยาวนานกว่า แต่ไม่ได้บอกว่า ดีกว่า SPF ต่ำ ตัวอย่าง ครีมกันแดดที่มี SPF30 ป้องกันผิวร้อนแดงได้นาน 30 เท่าของปกติ แม้โดยทั่วไป UVB เมื่อโดนผิวหนังได้ 15 นาที จะทำให้ผิวหนังเริ่มแดงร้อน ครีมกันแดดที่มี SPF30 จึงปกป้องผิวก่อนแดงร้อนได้ 15*30 = 450 นาที ส่วน PA (Protection Grade of UVA) พีเอ เป็นการบอกว่าป้องกัน UVA ได้ดีอย่างไร โดยมีตั้งแต่ +, ++, และ +++ (หนึ่งบวก, สองบวก, สามบวก) หมายถึงมีประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA ได้น้อย, ปานกลาง, มาก ตามลำดับ ค่า PA ที่แพทย์แนะนำ คือ ++ (สองบวก) ขึ้นไป ในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดปัจจุบันที่วางตามท้องตลาดมักจะมีค่า SPF, PA สูงกันมากพอควรแล้ว ผมจึงแนะนำท่านผู้อ่านว่า บทเรียนต่อไปคือ การเรียนรู้วิธีการเลือกและทาครีมกันแดด

 

Sunscreen 101

 

วิธีเลือกซื้อและทาครีมกันแดดที่แพทย์แนะนำ

การเลือกครีมกันแดดควรใช้ลักษณะการทดลองใช้ ดูประสบการณ์ และวัดความพึงพอใจจากการใช้จริง เช่น ใช้แล้วเหนียวเหนอะหนะหรือไม่ เกลี่ยง่ายหรือไม่ ผิวมันเกินไปหรือไม่ หรือเกิดผลเสียก็ให้หยุดใช้ นอกเหนือจากนั้น แนะนำให้เลือกครีมกันแดดที่ไม่ก่อสิว ไม่อุดตัน ไม่มีสารกันบูด ไม่มีน้ำหอม พวกนี้จะทำให้ผิวแพ้และระคายเคืองได้ ควรเป็นครีมกันแดดที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ผิวแห้ง เลือกครีมกันแดดที่ไม่มีสารก่อการอุดตัน (Occlusive Agents) เช่น ลาโนลิน (Lanolin), พีจี หรือโพรพิลิน ไกลคอล (Propylene Glycol) ที่ทำให้เกิดสิวอุดตันได้ง่าย

 

วิธีการทาครีมกันแดดที่เหมาะสมคือ หากออกแดดควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก 1 ชั่วโมง เพราะไม่ว่าครีมกันแดดจะมี SPF หรือ PA เท่าไรก็ตาม โดยทั่วไปภายใน 1 ชั่วโมง หลังโดนแดด ครีมกันแดดก็หมดประสิทธิภาพไปมากแล้ว ดังนั้น การทาซ้ำเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนปริมาณการทาครีมกันแดดที่เหมาะสมต่อการทาผิวหน้า 1 ครั้ง จริงๆ แล้วควรบีบครีมกันแดดให้ยาวไม่น้อยกว่า 2 ข้อนิ้วมือ (2 มิลลิกรัม หรือ 2 ซีซี) ก่อนทาทั่วหน้า แต่เป็นปริมาณที่เหมาะสมสำหรับครีมกันแดดชนิดเนื้อครีม หากเป็นรูปแบบน้ำหรือสเปรย์ จำเป็นต้องใช้ปริมาณมากกว่านี้ นอกจากใบหน้าแล้วอย่าลืมทาตัวด้วย หากสีผิวหน้าและผิวตัวไม่ไปด้วยกัน ก็จะดูแปลกตาได้

 

ทดสอบว่าเราแพ้ครีมกันแดดหรือไม่

วิธีทดสอบการแพ้ มีวิธีการทดสอบการแพ้ 2 ระยะ ระยะต้น ทำได้โดยทาครีมกันแดดไว้ที่บริเวณผิวหนังใต้ท้องแขน ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วดูว่าผิวของเรามีอาการบวม คัน แดง ร้อน หรือไม่ หากมีก็ให้งดใช้เสีย ส่วนระยะยาวก็ใช้วิธีทาเหมือนกัน แต่ทิ้งไว้ไม่ต้องล้างออก 48-72 ชั่วโมง หากมีอาการบวม คัน แดง ร้อน ก็ให้งดใช้เสีย

 

Sunscreen 101

 

มีวิธีไหนที่ดีกว่าการทาครีมกันแดดอีกไหม

วิธีกันแดดที่ดีกว่าครีมกันแดด หลักการสำคัญคือ ให้หลีกเลี่ยงแสงแดดครับ กล่าวคือ พยายามไม่โดนแดดให้มากที่สุด เปลี่ยนมาเดินในที่ร่ม กางร่มกันแดด ใส่เสื้อผ้า แว่นตา หมวก เสมอเวลาออกแดด พวกนี้คือเกราะป้องกันแดดที่ดีกว่าครีมกันแดด รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยง ไม่สัมผัสกับแหล่งกำเนิดแสงที่เกิดจากการประดิษฐ์ ไม่ว่าจะหลอดไฟ โคมไฟ หน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ไอร้อนต่างๆ เพราะหากโดนมาก ก็ส่งผลทำลายผิวหนังเช่นกัน

 

ส่วนการกันแดดแบบรับประทาน เป็นกระแสใหม่ที่มีการโฆษณาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ หลักการจริงๆ คือ อาหารเสริมที่ใช้แผนการขายและการตลาดเชิญชวนให้เข้าใจว่า สารอาหารที่รับประทานเข้าไปนั้นปกป้องแสงแดดได้ โดยที่เราอาจจะต้องศึกษาถึงความเสี่ยงและผลเชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น ก่อนที่จะเชื่ออาหารเสริมทั้งหลาย

 

อ่านมาถึงตอนนี้ ผมหวังว่าคุณพอจะได้ไอเดียแล้วว่า ครีมกันแดดนั้นควรเลือกซื้อและใช้อย่างไร รวมถึงรู้วิธีหลีกเลี่ยงแสงแดด ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ไม่ว่าหน้าร้อนไหนๆ ก็ทำอะไรผิวของคุณไม่ได้  

 

ภาพ: shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • Fitzpatrick’s Dermatology in General Medicine, 8e Lowell A. Goldsmith, Stephen I. Katz, Barbara A. Gilchrest, Amy S. Paller, David J. Leffell, Klaus Wolff
  • ทาครีมกันแดดอย่างไรให้ถูกวิธี (How to use Sunscreen properly) พญ.ภชาภร เมืองสมบัติ และ นพ.ชเนษฎ์ ศรีสุโข lorientasia.com/sunscreen
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising