×

‘CPTPP’ คลื่นยักษ์ที่อาจซัดทำลายระบบเกษตรกรรายย่อยและแหล่งอาหาร หากปราศจากเสียงประชาชนร่วมตัดสิน

04.06.2020
  • LOADING...

กลายเป็นกระแสอีกครั้ง สำหรับการคัดค้านให้ประเทศไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาข้อตกลง CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งเรื่องดังกล่าวถูกยกมาพูดถึงอีกครั้งบนสื่อโซเชียลในเวลานี้

 

เมื่อวันที่ (4 มิถุนายน) รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศน์จากกรีนพีซ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงความคืบหน้าของสถานการณ์เรื่องของการเจรจาข้อตกลง CPTPP ในปัจจุบัน โดยพบว่า ตอนนี้ทางหน่วยงานภาครัฐยังคงแสดงออกถึงการผลักดันความตกลงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องของ CPTPP โดยตรง

 

ซึ่งรายละเอียดของกรรมาธิการชุดนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะต้องมีภาคส่วนไหนบ้างเข้ามาเกี่ยวข้อง ทว่าข้อกังวลของกรีนพีซคือ ต้องการให้มีเสียงและความคิดเห็นจากภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ โดยที่ทุกความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมต้องไม่ได้มาจากภาคอุตสาหกรรมเพียงทางเดียวเท่านั้น เพราะเรื่องของผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะเอื้อประโยชน์ไปทางภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคประชาชน 

 

ทั้งที่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงคือภาคเกษตรกร เนื่องจากประเทศไทยมีระบบเกษตรกรรมที่อุดมไปด้วยเกษตรกรรายย่อย ซึ่งวิถีชีวิตของเกษตรกรกลุ่มนี้ก็คือการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อไว้ปลูกในฤดูต่อไป ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบตามมาคือ ประชาชนในฐานะผู้บริโภค ซึ่งจะไม่ใช่แค่ราคาอาหารที่จะสูงขึ้น หากแต่ยังรวมถึงเรื่องคุณประโยชน์ หรือพืชที่เคยเป็นจุดขายต่างๆ จะสูญหายไป ถ้ามีการผูกขาดของเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ต้นทางหลังข้อตกลงดังกล่าวบรรลุ

 

นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างถึงการเปลี่ยนแปลงของความมั่นคงทางอาหารของสหรัฐอเมริกา ที่ปกติมีเกษตรกรรายย่อยในประเทศจำนวนมาก แต่ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรรายย่อยในสหรัฐฯ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ในที่สุดได้เหลืออุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่เพียง 4 บริษัทเท่านั้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบให้ความหลากหลายของพืชพรรณลดลง ร้อยละ 75 ของอาหารทั่วโลกมาจากพืชแค่ 12 ชนิด และสัตว์ 5 สายพันธุ์ ตามการอ้างอิงจากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) 

 

“นับว่าน้อยมากถ้ามองจากมุมมองของประเทศไทย ที่พบว่าในปัจจุบันมีผักพื้นบ้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก บวกกับความหลากหลายของสายพันธุ์พืชที่บรรพบุรุษของไทยเก็บและส่งต่อให้ลูกหลานก็อาจจะเลือนหายไปได้ ในกรณีถ้าเกิดว่ามีบริษัทใดบริษัทหนึ่งกลายเป็นผู้ครอบครองสายพันธุ์ของอาหาร เพราะถึงตอนนั้นบริษัทที่ครอบครองอาจเลือกส่งเสริมพืชสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งอาจทำให้อีกหลายสายพันธุ์ต้องหายไปจากระบบ อีกทั้งพืชเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่เกษตรกรไม่สามารถปลูกได้ เพราะจะกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายทันที เนื่องจากพืชสายพันธุ์ต่างๆ อาจอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัทที่ถือครอง”

 

นอกจากนี้รัตนศิริกล่าวเพิ่มว่า นอกจากเรื่องของสายพันธุ์พืชที่น่าเป็นห่วงแล้ว เรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพน่าจะเป็นภาพที่เห็นชัดมากขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งในภาคของอุตสาหกรรมการเกษตรก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเพื่อปลูกเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่มหาศาล เพราะจำเป็นต้องปลูกเพื่อเร่งป้อนให้โรงงาน 

 

ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจนำพาให้ความสมดุลต่างๆ หายไป ที่เห็นชัดคือเรื่องป่า ซึ่งอาจจะมีขบวนการเผาป่าเพิ่มเติม และการปลูกพืชชนิดเดียวจำเป็นต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงตัวพื้นดินอาจมีส่วนในการถูกทำลายไปด้วย

 

ส่วนประเด็นหรือช่องทางที่ผลประโยชน์จะตกอยู่กับทุกฝ่ายนั้น รัตนศิริระบุว่า สิ่งที่ภาครัฐพยายามผลักดันมาตลอดคือ นโยบายเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรมเชิงนิเวศน์หรือเกษตรอินทรีย์ ให้เป็นจุดขายของประเทศไทย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงเกษตรที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ดูจะเป็นสิ่งที่นำมาสู่ผลประโยชน์ของทุกฝ่าย 

 

เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ทางประเทศไทยจะคำนึงถึงเท่านั้น แต่หัวใจหลักยังอยู่ที่ ‘เกษตรกรรายย่อย’ เนื่องจากเกษตรกรกลุ่มนี้คือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของประเทศไทย เพราะจำนวนผู้ผลิตในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยคือกลุ่มหลักของประเทศ ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้สามารถผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ ดังนั้นเราต้องหันมาผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องเกษตรกรรมเชิงนิเวศน์ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อดันไปเป็นจุดขายของประเทศและสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อยได้

 

ส่วนประเด็นการเคลื่อนไหวของประชาชนที่พบในสื่อโซเชียลตอนนี้ รัตนศิริย้ำว่า สิ่งที่น่ายินดีตอนนี้คือการที่ประชาชนตื่นตัวกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะสถานการณ์ดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อปากท้องคนไทยจำนวนมาก รวมถึงการเลือกผู้ถือครองสิทธิ์ทางแหล่งอาหารได้

 

“เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้ปลูก แต่ว่าเราเป็นผู้บริโภค เราคือคนกิน เรามีสิทธิ์ที่จะสนับสนุนที่มาของอาหารไปทางไหน ดังนั้นสิ่งที่เราทำตอนนี้คือการช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรคนไทยขนานแท้ ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย และเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของประเทศ หรือเรียกได้ว่าเป็นจำนวนผู้ผลิตหลักของประเทศ และอีกอย่าง เสียงของประชาชนคือเสียงสำคัญที่ภาครัฐควรต้องรับฟัง” รัตนศิริกล่าวในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising