×

‘CPTPP’ เหรียญสองด้านที่สังคมต้องมองให้รอบ ก่อนตัดสินใจว่าไทยควรไปต่อหรือพอแค่นี้

30.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ประเด็นการพิจารณาเข้าร่วมในข้อตกลง CPTPP ยังคงเป็นกระแสให้สังคมพูดถึงในขณะนี้ พร้อมกับคำถามและการตั้งข้อสังเกตควบคู่กันว่า หากประเทศไทยควรเข้าร่วม ผลกระทบที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็มีมุมมองที่แบ่งออกเป็นสองทิศทางที่ประกอบไปด้วยกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
  • อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้อธิบายถึงประโยชน์และโอกาสในด้านต่างๆ ที่ประเทศไทยจะได้รับหากที่ประชุม กมธ. ศึกษา CPTPP เคาะให้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นมีอยู่ 3 ข้อหลักๆ เช่น เปิดตลาดให้สินค้าไทย, การค้า การลงทุน และการมีพันธมิตรทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น
  • ขณะเดียวกัน ในวงเสวนาของ กรีนพีซ ไทยแลนด์ ได้นำเสนอข้อมูลพร้อมอธิบายว่า เหตุใดประเทศไทยจะเสียประโยชน์มากกว่าได้รับกลับมา จากข้อตกลง CPTPP ฉบับนี้ ตั้งแต่ตัวเลข GDP ที่อาจไม่ได้สูงอย่างที่ตั้งไว้ และความเสี่ยงต่อการผูกขาดด้านเมล็ดพันธุ์ จาก UPOV 1991 ที่พ่วงมากับข้อตกลงครั้งนี้

ประเด็นของการเจรจาข้อตกลง CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ยังคงเป็นกระแสที่ถูกยกมาพูดถึงบ่อยครั้งบนสื่อโซเชียล โดยเฉพาะการตั้งคำถามเพื่อชั่งน้ำหนักว่า ในที่สุดแล้วประเทศไทยควรพิจารณาเดินหน้าเข้าร่วมหรือหยุดเพียงเท่านี้

 

เพื่อมุมมองที่รอบด้าน THE STANDARD ได้พูดคุยกับ อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ถึงประเด็นการเจรจาข้อตกลง CPTPP ในมุมมองของหน่วยงานรัฐบาล กับการรับหน้าที่เป็นโต้โผใหญ่ในการพิจารณาและทำความใจกับข้อตกลงดังกล่าว พร้อมอธิบายถึงประโยชน์อีกด้านที่ไทยจะได้รับ พร้อมชั่งน้ำหนักกับความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมที่คัดค้านเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพื่อพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนว่าท้ายที่สุดแล้วเหตุใดประเทศไทยควรร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ CPTPP หรือไม่ 

 

CPTPP กับโอกาสในการขยายตลาดให้ประเทศไทย

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม เริ่มเท้าความว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมี FTA หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรีอยู่แล้ว 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศทั่วโลก และหากดูที่สัดส่วนการค้ากับเหล่านานาประเทศที่ไทยได้ทำข้อตกลง FTA ด้วย จะพบว่าทั้งหมดคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ประมาณ 60% ที่ไทยทำการค้ากับโลก เท่ากับว่าตอนนี้ยังมีช่องว่างในตลาดอื่นๆ ที่ประเทศไทยน่าจะใช้โอกาสในการขยายตลาด จัดส่งสินค้า หรือภาคบริการไปขาย ซึ่งสัดส่วนตลาดอีก 40% ที่เหลืออาจจะมาจาก CPTPP ก็ได้

 

“ตอนนี้มีประเทศอย่างเม็กซิโกและแคนาดาที่เราไม่มี FTA ด้วย แล้วจะมีประเทศในสหภาพยุโรป ที่สัดส่วนการค้าของเรากับสหภาพยุโรปก็เกือบจะ 10% หรือจะมีสหรัฐอเมริกา สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ซึ่งมีรัสเซียเป็นผู้นำ เพราะฉะนั้นยังมีอีกหลายประเทศที่เราคิดว่าน่าทำ FTA ด้วย

 

“ถ้าเรามองมากไปกว่านั้น FTA เก่าๆ จะมองเฉพาะการเปิดตลาด ที่นี้ของใหม่เขาคุยกันในเรื่องของการปรับกฎระเบียบอย่างไรให้ยกระดับขึ้นมา หรือว่าเขาคุยไปถึงเรื่องของซัพพลายเชน เช่น ถ้าสมมติคุณรวมกลุ่มกัน ประเทศหนึ่งอาจจะไม่สามารถที่จะมีทุกอย่างตั้งแต่ต้นน้ํา กลางน้ํา ปลายน้ํา แล้วผลิตสินค้า แต่อาจจะเอาวัตถุดิบจากหลายแหล่ง แล้วก็มาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป

 

“ใน CPTPP จะเน้นเรื่องของ Global Supply Chain มาก เพราะการที่จะได้แต้มต่อเรื่องภาษี คือการได้เปิดช่องไฟเขียวไม่มีภาษีเลย เขาจะกลับมาดูว่าแล้วสินค้าของคุณมีแหล่งกำเนิดมาจากไหน ใน CPTPP จะเน้นว่าขอให้มีแหล่งกำเนิดอย่างละนิดอย่างละหน่อยก็ได้ในประเทศที่อยู่ในคลับเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าอยู่นอกคลับ ความน่าสนใจในการเอาสินค้าจากนอกคลับเพื่อมาประกอบเป็นสำเร็จรูปอาจจะน้อยลง อันนี้ก็เป็นแต้มต่อใน CPTPP”

 

 

3 ข้อดี ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับหากเข้าร่วม

เมื่อถามถึงข้อดีของการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลง CPTPP ฉบับนี้ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ในภาพรวมการที่ประเทศไทยจะมี FTA อะไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากกว่าที่เป็น โดยเฉพาะในแง่ของการบริโภคสินค้าบนราคาที่เหมาะสม มีสินค้าคุณภาพดีเข้ามาในตลาดไทย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ทางการค้า การลงทุน การจ้างงาน และผู้บริโภค พร้อมขยายความถึงข้อดีที่ประเทศไทยจะได้รับแบ่งเป็น 3 ประการคร่าวๆ ดังนี้

 

“ประเด็นที่ 1 คือเรื่องเปิดตลาดให้กับสินค้า ทั้งที่กำลังจะผลิตและจะออกจากประเทศไทย อันนี้คือเรื่องหลักใน FTA เพราะว่าจะมีการเจรจาเพื่อยกเลิกภาษีที่จะเก็บกับสินค้านำเข้า ส่วนใหญ่ใน CPTPP จะตั้งเป้าจะยกเลิกภาษี 99-100% เพราะฉะนั้นกับประเทศอย่างเม็กซิโกและแคนาดา ที่ไทยไม่มี FTA ด้วย ตรงนี้เราน่าจะได้แน่ๆ เพราะเขาจะต้องยกเลิกให้เรา ขณะเดียวกันเราก็ต้องยกเลิกภาษีสินค้าส่งออกในบางกรณี

 

“นอกจากนี้ยังมีญี่ปุ่น ซึ่งใน FTA ที่เรามีอยู่แล้ว ญี่ปุ่นยังไม่เปิดตลาดให้เราครบ 100% เราสามารถคุยได้อีก หรือเปรู ตรงนี้น่าจะเป็นโอกาสในการขายของ อย่างในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เราต้องปิดประเทศ หรือไม่มีตลาดต่างประเทศ สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือคนไทยต้องมาขายของกันเอง มาซื้อกันเอง แล้วคนขายก็มากกว่าคนซื้อ ที่นี้เราจะทำอย่างไรในแง่การตลาด แน่นอนว่าเราก็ต้องหาพื้นที่ตลาดใหม่ๆ เพื่อรองรับให้กับสินค้าไทย

 

“ประเด็นที่ 2 น่าจะเป็นเรื่องการลงทุน ที่เห็นชัดๆ ตอนนี้คนให้ความสำคัญกับเรื่อง Global Supply Chain ขณะเดียวกันก็มีอุปสรรคใหญ่อย่างเรื่อง Trade War สงครามอุปสรรคการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ดังนั้นการที่จะหาประเทศมาผลิตสินค้าทดแทนจีนก็อาจจะทำให้ผู้ผลิตสินค้าไทยต้องออกไปลงทุนที่อื่น ที่จะสามารถผลิตแล้วส่งไปโดยที่ไม่เจออุปสรรคทางการค้า หรืออย่างช่วงโควิด-19 ผู้ผลิตเองก็ต้องมองหาประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ

 

“ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจ โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรเราถึงจะเป็นประเทศที่มีปัจจัยดึงดูดการลงทุน เรามองว่า FTA เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ อาจจะมีปัจจัยอื่น เช่น โครงสร้างพื้นฐาน อะไรต่ออะไรที่เราจะดึงดูด แต่ FTA น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะดึงการลงทุนเข้าประเทศได้มาก พอมีการลงทุนเข้ามา สิ่งที่จะตามมาก็จะมีการจ้างงาน เพราะเราเห็นแล้วว่าโควิด-19 ทำให้หลายโรงงานปิด สิ่งที่เกิดขึ้นกับพนักงานคือรายได้ไม่มีเข้ามาจุนเจือครอบครัว แต่ถ้าเราดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศ มันจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ มีการจับจ่ายซื้อของ มันก็จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

“ประเด็นที่ 3 คือการมีพันธมิตรทางการค้า เรื่องนี้จะช่วยให้การคุย การเจรจาง่ายขึ้น หรือในเวลาที่เราเจออุปสรรคทางการค้า ข้อดีคือการที่มีข้อตกลงร่วมกับหลายประเทศ หรือเป็นคลับเดียวกัน มันจะมีเวทีให้เราได้เข้าไปคุยว่าเกิดอะไรขึ้น มีเหตุและผลอะไร อันนี้จะเป็นเรื่องการสร้างพันธมิตรระหว่างประเทศ” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าว

 

และนี่คือส่วนหนึ่งของประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับหากเข้าร่วม CPTPP จากมุมมองของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในฐานะผู้ผลักดันให้ไทยเปิดการเจรจา แต่เหรียญนั้นมี 2 ด้านเสมอ เพราะนอกจากประโยชน์ที่ได้รับแล้ว ยังมีเรื่องของผลกระทบที่หลายฝ่ายกังวลตามมาด้วย 

 

โดยมุมมองต่อจากนี้จะเป็นการตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไทยเข้าร่วม CPTPP จากวงเสวนาออนไลน์ในประเด็น ‘คุยให้รู้เรื่อง ทำไมเราถึงบอกว่า CPTPP เสียมากกว่าได้’ ที่จัดขึ้นโดยกรีนพีซ ไทยแลนด์

 

 

ความต่างของ CPTPP กับ FTA ฉบับอื่น และงานศึกษาที่บอกว่า ‘ไทยไม่ควรเข้าร่วม’

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า แรกเริ่มต้องชวนคนไทยทำความเข้าใจในบริบทพื้นฐานว่า CPTPP นั้นมีความแตกต่างจาก FTA ฉบับอื่นๆ ตรงที่หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วจะสามารถเข้าไปเจรจาได้จริงๆ ซึ่ง FTA บางฉบับอาจจะไม่สามารถเจรจาได้ ส่วนจะเจรจาเก่งหรือไม่นั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่ง CPTPP ตอนนี้มีการตกลงกันไปแล้ว 11 ประเทศ มี 7 ประเทศเดินหน้าอย่างจริงจัง ขณะที่อีก 4 ประเทศ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมแม้จะมีการตกลงไว้ก่อนหน้านี้ก็ตาม 

 

“ย้อนกลับมาที่กลุ่ม 7 ประเทศได้เดินหน้าไปแล้ว นั่นเท่ากับว่าส่วนของเนื้อหาข้างในเราจะแก้ไขไม่ได้ สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกำลังจะทำก็คือ ขอเข้าไปเจรจาผ่อนผันว่าเนื้อหาส่วนต่างๆ ถ้ามีหรือเคยมีสมาชิกประเทศไหนเคยขอผ่อนผันไว้อาจจะ 2-3 ปี เราก็อาจจะไปขอผ่อนผันตามเขา หรืออาจจะขอยกเว้นบางกลุ่มบางสินค้า ซึ่งต้องดูว่ามีใครเคยทำในลักษณะนี้หรือไม่ ถ้ามีเราก็อาจจะทำตามได้”

 

นอกจากนี้ กรรณิการ์ ยังเสริมถึงประเด็นที่ตอกย้ำถึงการไม่เห็นด้วยในการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ CPTPP เนื่องจากข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ว่าจ้างบริษัท Bolliger & Company ให้ทำการศึกษาเรื่องผลดีผลเสียในการที่ไทยจะเข้าร่วม CPTPP พบว่า หนึ่งในนั้นคือการกล่าวถึง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP ของประเทศเติบโตได้ 0.12% และการลงทุนขยายตัวได้ถึง 5% ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเป็นสมาชิก CPTPP นั้นถือเป็นตัวเลขที่ต่ำมากกับข้อตกลงที่ใหญ่ระดับนี้ 

 

อีกทั้งเมื่อพิจารณาเฉพาะเรื่องการค้าขายสินค้า การลดภาษีและจำนวนรายการสินค้า ที่ยังไม่รวมถึงการบริการและการลงทุน ซึ่งยังไม่ได้พิจารณารวมถึงปัจจัยลบอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ถึงเวลานั้นอาจทำให้ตัวเลขจริงของ GDP ที่คาดการณ์ไว้มีโอกาสต่ำกว่านั้น เพราะการที่ GDP จะขยายตัวได้ 0.12% ประเทศไทยต้องใช้สิทธิใน CPTPP เต็มกำลัง 100% ถึงจะได้ผลลัพธ์ดังกล่าว 

 

โดยส่วนใหญ่ที่มีการทำ FTA กันมา การใช้สิทธิ์ไม่เคยใช้ได้เต็ม 100% อย่างเก่งอาจได้เพียง 30-40% เท่านั้น ดังนั้นข้อศึกษาตัวเลขจาก Bolliger & Company จะใช้ในการอ้างอิงมากไม่ได้ เพราะไม่อาจสะท้อนภาพความเป็นจริงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

“เรากำลังอยู่ในยุคโควิด-19 ประเทศไทยอาจจะประคับประคองตัวเองได้ดี คิดว่ามันมีอยู่ประมาณ 4 เรื่องที่เราได้เรียนรู้กันก็คือ เรื่องความมั่นคงทางสุขภาพความมั่นคงเรื่องของยารวมถึงหลักประกันสุขภาพ ที่สามารถดูแลประชาชนโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังจริงๆ ฉะนั้นอะไรที่จะมากระทบระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้ยาราคาถูกไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ ทำให้หน่วยงานที่ดูแลไม่ว่าจะเป็นองค์การเภสัชกรรมหรือบริษัทยาในประเทศถูกทำให้อ่อนแอลง เรื่องแบบนี้จะก่อให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต

 

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงอีกประเด็นคือการที่ประเทศไทยสามารถเอาตัวรอดได้จากวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างไม่บอบช้ำมากนัก เพราะเรามีนโยบายสาธารณะที่ทำให้เรายังมีพื้นที่ให้รัฐสามารถประกาศใช้มาตรการบางอย่างได้ เช่น ห้ามส่งออกสินค้าบางอย่าง ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจจะได้รับผลกระทบจาก CPTPP ได้ เพราะว่านโยบายสาธารณะพวกนี้มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน และอาจกิดการเรียกร้องค่าเสียหายในท้ายที่สุด

 

“ประเด็นสุดท้ายในเวลาที่เราจะฟื้นคืนจากวิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจจะเดินหน้าได้ไม่ใช่แค่ต้องมีเงินเท่านั้น แต่มันต้องเป็นการมีเงินควบคู่การมียุทธศาสตร์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอาจจะทำไม่ได้ภายใต้ CPTPP ด้วยข้อจำกัดหลายเรื่อง ซึ่งนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ควรเข้าร่วม CPTPP”

 

 

‘UPOV 1991’ โจรสลัดชีวภาพแฝงมากับข้อตกลง CPTPP 

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิวิถี (Biothai) เล่าว่า ในข้อตกลงของ CPTPP สิ่งที่หนึ่งที่ทุกคนต้องรู้คือ เงื่อนไขในการเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือในชื่อ UPOV1991 โดยมีประเด็นอยู่ 4-5 เรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะสิ่งที่หลายคนกังวลมากที่สุด ประการแรกคือการเข้าร่วม UPOV 1991 จะทำให้สิทธิของเกษตรกรที่เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ กลายเป็นสิ่งที่ถูกห้าม เว้นแต่ว่าทางรัฐจะอนุญาตหรือตามเงื่อนไขที่ UPOV กำหนดไว้เป็นบางกรณี ซึ่งจะทำให้การเก็บพันธุ์พืชเพื่อไปปลูกต่อซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเกษตรกรจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

 

นอกจากนี้ วิฑูรย์ ยังระบุเพิ่มว่า จากประเด็นข้างต้น ทางฝั่งขององค์การสหประชาชาติ (UN) ก็ยังไม่เห็นด้วยในกรณีการห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ พร้อมเผยถึงข้อแนะนำจาก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ในกรณีที่ประเทศต่างๆ จะเข้าร่วมเจรจาการค้าต่างๆ โดยข้อแรกของคำแนะนำระบุไว้อย่างชัดเจนว่า อย่ายอมรับเงื่อนไขหรือเข้าร่วม UPOV 1991

 

ข้อที่สอง หากคุณทำตามข้อที่ผ่านมาแล้ว ทางเลือกสำคัญอีกหนึ่งทางคือ ให้ใช้โมเดลกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ของประเทศไทยเป็นแนวทางในการปฏิบัติ นั่นเท่ากับว่าการเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องฉีกกฎหมาย ทั้งที่ UNEP ยกให้เป็นกฎหมายของโลกทิ้งไป

 

และส่วนสำคัญประการต่อมาคือ UPOV 1991 ยังมีเงื่อนไขสำคัญในการกำหนดคำศัพท์ขึ้นมา ซึ่งในหลักวิชาการคือ EDVs หรือ Essentially Derived Varieties หรือพันธุ์พืชลักษณะพิเศษที่ได้มาจากพันธุ์พืชคุ้มครอง

 

“ผมกล่าวได้เลยว่าในหลายประเทศทั่วโลก พันธุ์พืชดีๆ ทั้งหลายแหล่ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากนวัตกรรม ฝีมือของชุมชนเกษตรกรรม และเกษตรกรรายย่อยแทบทั้งสิ้น อย่างข้าวหอมมะลิ การส่งออกทุเรียนหมอนทอง และสารพัดหลายพันธุ์ล้วนเกิดจากเกษตรกรรายย่อย และวิธีการเก็บพืชพันธุ์ไปปลูกต่อ รวมทั้งการคัดพันธุ์จากแปลง นี่ถือได้ว่าเป็นสาระใหญ่ ซึ่งผมคิดว่า UPOV 1991 จะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางด้านอาหาร ไม่ใช่แค่เฉพาะต่อเกษตรกรรายย่อย แต่จะกระทบต่อเราในฐานะผู้บริโภคทุกคน”

 

นอกจากนี้ วิฑูรย์ ยังได้ยกตัวอย่างกรณีระหว่าง UPOV 1991 กับประเทศมาเลเซีย ซึ่งทางฝั่งมาเลเซียได้มีการเขียนกฎหมายคุ้มครองมาว่า หากบริษัทเมล็ดพันธุ์ เอาพันธุ์พืชออกไปเพื่อไปพัฒนาและใช้ประโยชน์ บริษัทนั้นๆ ต้องขออนุญาตนำเมล็ดพันธุ์ไปใช้ประโยชน์ พร้อมแสดงที่มาของเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นว่ามาจากไหน ปรากฏว่าหลังจากนั้น UPOV 1991 ทำจดหมายส่งถึงมาเลเซีย ว่าสิ่งที่รัฐบาลมาเลเซียเขียนไปนั้นขัดกับหลักการของ UPOV 1991 นี่คือสิ่งที่อธิบายความหมายของคำว่า ‘โจรสลัดชีวภาพ’ ได้อย่างชัดเจน 

 

 

CPTPP ตัวแปรที่นำไปสู่ความสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหาร?

ทางด้าน ‘โจน จันได’ เกษตรกรและผู้ก่อตั้ง ‘พันพรรณ’ สวนเกษตรอินทรีย์แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีความมั่นคงทางอาหารที่มีแนวโน้มลดลงหากไทยเข้าร่วม CPTPP โดยมองว่าจะทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง ปัญหาสุขภาพจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะขณะนี้ที่ยังไม่ได้ทำข้อตกลงเข้าร่วม คนไทยเกือบทั้งประเทศกำลังถูกฝึกให้กินเฉพาะพืชพันธุ์ที่บริษัทไม่กี่แห่งเป็นเจ้าของ เรื่องนี้คือสิ่งที่เรามักจะมองข้ามไป และอาจลืมนึกไปว่าทำไมคนกว่า 70 ล้านคนต้องกินไก่สายพันธุ์เดียว ทำไมเราต้องกินปลาน้ำจืด แค่ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ในเมื่อประเทศไทยมีพันธุ์ปลาน้ำจืดนับพันชนิดในแม่น้ำแต่ละแห่ง 

 

“การกินอาหารที่หลากหลายมันจะทำให้เกิดความยั่งยืน เกิดสุขภาพที่ดีเพราะเราจะได้สารอาหารที่ครบถ้วน วันนี้เรากินเยอะมาก แต่สารอาหารที่ได้กลับลดน้อยถอยลง เพราะพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ผลิตโดยบริษัทผลิตอาหารเหล่านี้เขาไม่ได้สนใจที่คุณภาพ แต่เขามุ่งแต่การสร้างผลผลิตสูงๆ ภายในเวลาอันรวดเร็ว นี่คือการทำงานในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา แต่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างน่าทึ่ง สามารถทำให้คนทานไก่ที่ไม่มีรสชาติได้ตลอดเวลา นี่คือปรากฏการณ์ที่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นไหมหากไทยเข้าร่วม CPTPP

 

“ประเด็นนี้คือเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะมันคือการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ด้วย เพราะเมล็ดพันธุ์ไม่ได้มีขึ้นเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์เท่านั้น แต่มันเป็นอาหารของสัตว์หรือของพืชต่างๆ ที่จะต้องอยู่ร่วมกัน สร้างวงจรชีวิตร่วมกัน แน่นอนว่าพอหลายอย่างถูกตัดออกไป วงจรต่างๆ เริ่มผิดเพี้ยน มันก็จะส่งผลกระทบถึงหลากหลายชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่ผมมองว่าน่ากลัวที่สุดนั่นคือการผูกขาดเมล็ดพันธุ์” โจน จันได กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลที่นำเสนอผ่านบทความนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดเห็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงท่ามกลางกระแสสังคมที่กำลังเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวในการพิจารณาการเข้าร่วม CPTPP ของรัฐบาล หลังจากมีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาประโยชน์-ผลกระทบความตกลง CPTPP ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณานานพอสมควร โดยหนึ่งในขั้นตอนนั้นคือการรับฟังเสียงจากทุกภาคส่วน ที่อยู่ในกระบวนการศึกษาผลประโยชน์จาก CPTPP ในครั้งนี้

 

ท่ามกลางกระแสที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ พวกเขากำลังให้ความสนใจและใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ CPTPP จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่กระแสนี้ยังคงไม่เลือนหายไป ด้วยเป้าหมายที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้นร่วมกัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising