กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ Consumer Price Index (CPI) ประจำเดือนมกราคม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 กุมภาพันธ์) พบว่า ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาด โดยได้แรงหนุนจากราคาที่อยู่อาศัยที่ยังคงแพงอยู่จนกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาด
ทั้งนี้ ดัชนี CPI เป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและเป็นมาตรวัดสำคัญที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นำมาใช้ประกอบการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือนมกราคมเมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี แต่ก็ยังสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.9% โดยดัชนี CPI ดังกล่าวคือดัชนี CPI ทั่วไปที่รวมหมวดอาหารและพลังงาน
ขณะที่เมื่อเทียบเป็นอัตรารายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนธันวาคมก่อนหน้า และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2%
ด้านส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.9% ในเดือนมกราคมเมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.7% และเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมก่อนหน้า 0.4%
รายงานระบุว่า แรงหนุนหลักที่ทำให้ดัชนี CPI เดือนมกราคมพุ่งสูงขึ้นคือ ราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของดัชนี CPI โดยราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.6% จากเดือนธันวาคมก่อนหน้า และปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 6% ในอัตรารายปี
ขณะเดียวกันดัชนี CPI ยังได้แรงหนุนจากราคาอาหารที่ขยับสูงขึ้นเช่นกัน แม้ว่าราคาน้ำมันที่ถูกลงจะช่วยให้ราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงทรงตัว
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญมองว่า การที่ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างดื้อดึง ส่งผลให้ความคาดหวังที่ Fed จะหั่นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมค่อนข้างเลือนราง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเริ่มให้น้ำหนักว่า Fed น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งหมายความว่า Fed จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยสูงให้ยาวนานกว่าที่คาดกันไว้ รวมถึงลดการเกิดความกังขาว่า Fed จะสามารถหั่นลดอัตราดอกเบี้ยได้ตามจำนวนครั้งที่ตั้งใจไว้ในปี 2024 ได้หรือไม่
ความเชื่อดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้น Wall Street เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 กุมภาพันธ์) ปิดตลาดร่วงลงอย่างหนัก โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ลดลงถึง 524.63 จุด หรือ 1.35% ปิดที่ 38,272.75 ถือเป็นช่วงการซื้อ-ขายที่เลวร้ายที่สุดของดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023
หุ้นสหรัฐฯ ร่วงระนาว
ด้านดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 1.37% ปิดที่ 4,953.17 จุด และดัชนี Nasdaq Composite ร่วงหนักสุดที่ 1.8% ปิดที่ 15,655.60 จุด
บรรดานักกลยุทธ์ส่วนหนึ่งมองว่า ความเคลื่อนไหวของดัชนี CPI ล่าสุดอาจกลายเป็นหนึ่งในข้ออ้างหลักที่หนุนให้ Fed ต้องคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินในเดือนมีนาคม
นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังมองว่า ตลาดหุ้น Wall Street ที่ร่วงหนักเมื่อวานนี้ยังได้แรงกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ขยับตัวพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.32% หลังจากที่มีการเปิดเผยดัชนี CPI เพียงไม่นาน
บรรดานักวิเคราะห์อธิบายว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองสหรัฐฯ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง สวนทางกับค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่บริษัททั้งหลายต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ จนจำเป็นต้องลดการลงทุนและลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเกิดการชะลอตัว
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเปราะบางทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนส่วนหนึ่งมองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปียังไม่ถึงจุดพีค หมายความว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีสิทธิ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีในปี 2024 มีสิทธิ์แตะเหนือ 5% ซึ่งครั้งล่าสุดที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งเกิน 5% คือเมื่อเดือนตุลาคม 2023
ภาพ: JasonDoiy / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2024/02/13/cpi-inflation-january-2024-consumer-prices-rose-0point3percent-in-january-more-than-expected-as-the-annual-rate-moved-to-3point1percent.html
- https://www.cnbc.com/2024/02/12/stock-market-today-live-updates.html
- https://www.cnbc.com/2024/02/13/10-year-treasury-yield-is-little-changed-as-investors-look-ahead-to-key-inflation-print.html