×

2 ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอาหารของไทยมอง ‘เทคโนโลยี’ คือกุญแจเร่งเครื่องอุตสาหกรรมอาหารไทย

25.08.2022
  • LOADING...

ผู้บริหารบริษัทผลิตอาหารรายใหญ่ของไทยอย่าง CPF และเบทาโกร มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ‘เทคโนโลยี’ คือเทรนด์แห่งอนาคตของอุตสาหกรรมอาหาร และเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ผู้บริหาร CPF ยังชี้ว่า ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ (Raw Material) กำลังเป็นข้อจำกัดสำคัญ พร้อมวอนภาครัฐช่วยดูแล

 

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยในงาน ‘Thailand Focus 2022’ ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในหัวข้อ ‘The Dynamic Growth in Global Food Tech Industry’ โดยกล่าวว่า หนึ่งในวิธีที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารไทยสามารถแข่งขันได้ คือการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสัตว์ และลดจำนวนพนักงานบางส่วนในฟาร์มลง 

 

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ไปจนถึงการพัฒนาและปรับปรุงพันธุศาสตร์ จะช่วยทำให้ความกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงด้านอาหารบรรเทาลงได้

 

สอดคล้องกับ วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า Internet of Things หรือ IoT, การใช้หุ่นยนต์, โดรน และเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (Agri Biotech) ล้วนเป็นเทรนด์นวัตกรรมที่จะเพิ่มประสิทธิผลและความปลอดภัยในห่วงโซ่การผลิตอาหารได้

 

นอกจากนี้ วสิษฐยังมองว่าเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจตอนนี้ คือ ความยั่งยืน, การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, ความปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโลกของเราขณะนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ จนทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก

 

เทคโนโลยีอาหารแห่งอนาคต

 

ผู้บริหารของเบทาโกรยังมองว่า เทคโนโลยีอาหารที่มีความสำคัญและกำลังเป็นที่สนใจคือโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ซึ่งกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมอย่างมากในขณะนี้ 

 

ขณะที่โภชนเภสัช (Nutraceuticals) หรือการบริโภคอาหารที่เป็นยาไปในตัว ก็กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นท่ามกลางการระบาดใหญ่ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ก็ยังเป็นช่องทางที่ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น 

 

ความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหารไทย

 

ผู้บริหารของ CPF ยังระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีมากในอุตสาหกรรมอาหารโลก รวมไปถึงอยู่ในโลเคชันที่ดีในการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ โดย CPF ก็ได้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งออก และดำเนินการต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ประสิทธิ์ยังชี้ว่าไทยยังเผชิญข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ พร้อมวอนภาครัฐช่วยสนับสนุนส่วนนี้

 

“ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกไก่อันดับต้นๆ ของโลก แต่ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มสูญเสียตำแหน่งดังกล่าวไปเล็กน้อยแล้ว เนื่องจากประสบกับข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ (Raw Material) โดยเราจะเห็นว่าสงครามในยูเครนทำให้ราคาอาหารทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบขาดแคลน สำหรับประเทศไทยเราใช้ข้าวโพดจำนวนมาก ทำให้เราต้องนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศ ขณะที่ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำไมเราจึงมีข้าวโพดไม่เพียงพอ รวมถึงซีอิ๊ว ซึ่งปัญหาก็คือขนาดของฟาร์มเราค่อนข้างเล็กไป ทำให้บางประเทศ เช่น บราซิล มีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าเรา ดังนั้น ถ้าเรามีวัตถุดิบมากพอที่จะทำเนื้อ หรือรัฐบาลมองเห็นโอกาสตรงนี้ ประเทศไทยจะกลายเป็นแหล่งอาหารที่มีความมั่นคงอย่างมาก” ประสิทธิ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising