×

CPALL รายงานกำไรสุทธิ 4Q64 เติบโตดี แต่ต่ำกว่าคาดเพราะกำไรพิเศษ

25.02.2022
  • LOADING...
MARKET FOCUS: CPALL รายงานกำไรสุทธิ 4Q64 เติบโตดี แต่ต่ำกว่าคาดเพราะกำไรพิเศษ

เกิดอะไรขึ้น:

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) รายงานกำไรสุทธิ 4Q64 อยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 88%YoY และ 349%QoQ โดยมีกำไรพิเศษที่ 3.9 พันล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยกำไรสุทธิเกี่ยวกับ MAKRO ที่ 2.8 พันล้านบาท (กำไรจากการรวมธุรกิจแบบขั้นจากธุรกรรม EBT ที่ 6.2 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่าขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นนอกจากค่าความนิยม (หลังภาษี) 3.4 พันล้านบาท โดยอิงกับสัดส่วนหุ้นที่ CPALL ถืออยู่ใน MAKRO) กำไรจากการขายเงินลงทุน (หลังภาษี) 1.1 พันล้านบาท และกำไรอัตราแลกเปลี่ยน 407 ล้านบาท

 

ส่วนกำไรปกติอยู่ที่ 2.8 พันล้านบาท ลดลง 27%YoY แต่เพิ่มขึ้น 91%QoQ โดยกำไรปกติที่ลดลง YoY เกิดจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (CVS) ที่อ่อนแอลงเพราะมาร์จิ้นลดลง ส่วนแบ่งกำไรจาก MAKRO ที่ลดลงหลังจาก CPALL ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน MAKRO ลงสู่ระดับเฉลี่ย 72% (เทียบกับ 93% ใน 4Q63 และ 3Q64) และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสำหรับหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับดีล Lotus’s ที่เพิ่มขึ้น YoY ในขณะที่กำไรปกติที่เพิ่มขึ้น QoQ เกิดจากผลการดำเนินงานของธุรกิจ CVS และ MAKRO ที่ดีขึ้น 

 

ทั้งนี้ CPALL ประกาศจ่ายเงินปันผลปี 2564 จำนวน 0.6 บาทต่อหุ้น (XD วันที่ 28 เมษายน)

 

รายการสำคัญในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (CVS) 

ใน 4Q64 ยอดขายสาขาเดิม (SSS) พลิกกลับมาเติบโต 1.3%YoY (จากลดลง 18%YoY ใน 4Q63 และ 9.2%YoY ใน 3Q64) ด้วยมาตรการภาครัฐที่ผ่อนคลายลง เช่น การทยอยยกเลิกเคอร์ฟิว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นนำโดยจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทำให้ SSS ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัว ส่วนในปี 2564 SSS หดตัวลง 6.7%YoY เนื่องจากจำนวนลูกค้าลดลงสู่ 805 คนต่อสาขาต่อวัน (ลดลง 15%YoY) ในขณะที่ยอดซื้อต่อบิลเพิ่มขึ้น 9%YoY 

 

สัดส่วนยอดขายผ่านช่องทาง O2O (ส่วนใหญ่เกิดจากบริการ 7-11 Delivery ซึ่งรวมอยู่ใน SSS) สูงกว่า 10% ของยอดขายในปี 2564 อยู่เล็กน้อย โดยยอดขาย 73.7% เกิดจากสินค้ากลุ่มอาหาร และ 26.3% เกิดจากสินค้าอุปโภค 

 

ด้านจำนวนสาขา CPALL เปิดสาขาเพิ่ม 252 สาขา ส่งผลทำให้จำนวนสาขา (สุทธิ) รวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นสู่ 13,134 สาขา 

 

ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นลดลง 80 bps YoY ในปี 2564 โดยมีสาเหตุมาจาก

  1. ค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับโควิดที่เพิ่มขึ้น (เช่น ค่าใช้จ่าย Bubble & Seal ที่ศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการจัดการระบบขนส่งเพื่อเติมสินค้าให้ร้านจากชั่วโมงทำการที่สั้นลง หลักๆ ใน 3Q64 และบางส่วนใน 4Q64) 

 

  1. Product Mix Margin ที่ลดลง 10 bps YoY เพราะมาร์จิ้นสินค้าอาหารที่ลดลงจากการมียอดขายอาหารสำเร็จรูปและสินค้าขนาดใหญ่ที่ให้มาร์จิ้นต่ำเพิ่มมากขึ้น ไปหักล้างมาร์จิ้นสินค้าอุปโภคที่ดีขึ้นจากการมียอดขายสินค้าเพื่อสุขภาพที่ให้มาร์จิ้นสูง (เช่น หน้ากากอนามัยและยา) เพิ่มมากขึ้น 

 

ขณะที่มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย (ไม่รวมค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจาก MAKRO) 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%YoY โดยเกิดจากการรับรู้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสำหรับหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับดีล Lotus’s เต็มไตรมาส เทียบกับที่รับรู้เพียง 1 เดือน (ธันวาคม 2563) ใน 4Q63

 

กระทบอย่างไร:

ในวันนี้ (วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565) ณ 12.30 น. ราคาหุ้น CPALL ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.66%DoD สู่ระดับ 67.50 บาท ดีกว่า SET Index ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.00%DoD สู่ระดับ 1,679.36 จุด 

 

มุมมองต่อผลประกอบการและแนวโน้มปี 2565:

SCBS ประเมินผลประกอบการ 4Q64 ในแง่กำไรปกติออกมาเป็นไปตามคาด ขณะที่กำไรสุทธิแม้เติบโตโดดเด่นแต่ต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยมีสาเหตุมาจากกำไรพิเศษ (กำไรสุทธิเกี่ยวกับ MAKRO) ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ 

 

อย่างไรก็ตาม SCBS ทำการปรับประมาณการกำไรปี 2565 ของ CPALL เพิ่มขึ้น 3% เพื่อสะท้อนกำไรของ MAKRO ที่ออกมาดีกว่าคาดเพราะมาร์จิ้นของ Lotus’s ฟื้นตัว ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและฐานต่ำของปีก่อน ยอดขายสาขาเดิม (SSS) ของ CPALL จึงเติบโตขึ้นทั้งในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (CVS) ธุรกิจ B2B และ B2C ในเดือนมกราคม สำหรับ 1Q65 ก็คาดว่ากำไรปกติจะเติบโต ทั้ง YoY และ QoQ โดยได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของยอดขายในธุรกิจ CVS

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising