BOI พิจารณาอุทธรณ์โครงการ ‘รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’ หลังหารือร่วมกับเอเชีย เอรา วัน ขยายเวลาการส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมเป็นครั้งที่ 3 ถึงเดือนพฤษภาคม 2567 รัฐบาลยืนยันเดินหน้าโครงการต่อ
หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2562 รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้แจ้งเกิดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่า 224,544 ล้านบาท โดยการลงทุนประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้เป็นเจ้าของโครงการ และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (CP) เป็นคู่สัญญาสัมปทานระยะเวลา 50 ปี
อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ยังไม่มีการลงทุนใดๆ จึงชัดเจนแล้วว่าโครงการเริ่มล่าช้ากว่าแผนไปมาก สาเหตุหลักๆ มาจากวิกฤตโควิด ทำให้ไม่มีผู้โดยสาร ตลอดจนมีการแก้ไขสัญญาระหว่างเอกชนผู้รับสัมปทานกับภาครัฐตั้งแต่ช่วงรอยต่อรัฐบาลที่ผ่านมา ขณะที่บัตรส่งเสริมการลงทุนที่เอกชนได้รับการขยายเวลามาแล้ว 2 ครั้งก็หมดอายุ
จนกระทั่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI (บีโอไอ) ไม่อนุมัติขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 หลังจากนั้น เอกชนผู้รับสัมปทานจึงได้ยื่นขออุทธรณ์
วันนี้ (15 กุมภาพันธ์) นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้พิจารณาทบทวนคำสั่งไม่อนุมัติขยายเวลาการส่งเอกสารประกอบการออกบัตรส่งเสริม ครั้งที่ 3 สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีดเทรน) ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ตามที่บริษัทได้มีหนังสืออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
โดยบีโอไอได้พิจารณารายละเอียดอย่างถี่ถ้วนและได้เชิญบริษัทมาหารือและให้ข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งได้ประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
“ในครั้งนี้บริษัทได้เสนอแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งได้แสดงถึงความตั้งใจที่จะลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงโดยเร็วที่สุด เพียงแต่ต้องการเวลาในการหาทางออกเรื่องเงื่อนไขในสัญญาร่วมทุนฯ ร่วมกับหน่วยงานเจ้าของโครงการก่อนที่จะยื่นขอออกบัตรส่งเสริม ประกอบกับหน่วยงานเจ้าของโครงการได้แจ้งว่ากำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มเติมกับบริษัท”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เมื่อพิจารณาเหตุผลและข้อมูลของบริษัท รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บีโอไอจึงเห็นว่า การขยายเวลาในการส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งบริษัท, EEC และ รฟท. มีระยะเวลาพอสมควรในการเจรจาหาข้อสรุปร่วมกัน จึงได้พิจารณาให้ขยายเวลาออกไปอีก 4 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 22 มกราคม 2567 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีเวลาในการส่งเอกสารจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2567
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ กำหนดให้บีโอไอสามารถอนุมัติขยายเวลาในการส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมได้เพียง 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 4 เดือน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว จึงขอให้ทั้ง 3 ฝ่ายเร่งหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าตามกรอบเวลาที่กำหนดได้
ย้อนปมปัญหาบัตรส่งเสริมการลงทุน
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้รับการอนุมัติจากบีโอไอเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ยื่นขอขยายเวลาตอบรับมติให้การส่งเสริม และขอขยายเวลาการส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริม 2 ครั้ง จนถึงวันที่ 22 มกราคม 2567
ต่อมาบริษัทขอขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมอีกเป็นครั้งที่ 3 บีโอไอจึงทำหนังสือสอบถามความเห็นจากทั้ง EEC และ รฟท. ซึ่งให้ความเห็นว่า
“ความล่าช้าของโครงการจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC และความเชื่อมั่นของนักลงทุน อีกทั้งการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ไม่มีผลต่อการขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จึงควรเร่งรัดให้บริษัทส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมโดยเร็ว และไม่ควรขยายเวลาออกไปอีก”
บีโอไอจึงมีคำสั่งไม่อนุมัติให้ขยายเวลาตามความเห็นของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อเร่งรัดให้รีบยื่นเอกสารภายในกำหนดเวลา แต่ต่อมาบริษัทไม่ได้ส่งเอกสารตามเวลาที่กำหนดและได้ยื่นขออุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า การเจรจาเงื่อนไขในสัญญาร่วมทุนฯ ระหว่าง EEC, รฟท. และบริษัท เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อการจัดหาเงินทุนของโครงการ จำเป็นต้องขอเวลาเพิ่มเติมเพื่อหารือกับทั้งสองหน่วยงานให้แล้วเสร็จ จึงขอให้บีโอไอพิจารณาทบทวนคำสั่งดังกล่าว
หากโครงการนี้สำเร็จ คนไทยจะได้ประโยชน์อะไร
โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการลงทุนในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน PPP Net Cost ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 147,200 คนต่อเที่ยวต่อวัน เป็นโครงการที่มูลค่าลงทุนสูง 224,000 (รถไฟ 170,000 ล้านบาท และพัฒนาพื้นที่ 54,000 ล้านบาท) ระยะทาง 220 กิโลเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นทางเลือกในการเดินทาง การค้า และโลจิสติกส์ ที่ทันสมัย ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อมจากกรุงเทพฯ กับพื้นที่ EEC ภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที
นอกจากจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศแล้ว ยังสร้างการจ้างงาน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง และทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐหลังสิ้นสุดสัญญา รัฐจะมีรายได้จากค่าเช่าที่ รายได้ค่าให้สิทธิ ARL ส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสาร และรายได้จากภาษี
โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุล่าสุดว่า รถไฟไฮสปีดต้องแล้วเสร็จภายในปี 2570