×

วัคซีนโควิดสำหรับเด็ก ต่างประเทศฉีดยี่ห้ออะไรบ้าง

04.02.2022
  • LOADING...
วัคซีนโควิดสำหรับเด็ก

วัคซีนโควิดสำหรับเด็กในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือชนิด mRNA ของบริษัท Pfizer และชนิดเชื้อตายของบริษัท Sinovac และ Sinopharm สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนวัคซีน Pfizer ในเด็กอายุ 5-11 ปีเป็นยี่ห้อแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2021 และเริ่มฉีดไปแล้วที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2022 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรมควบคุมโรค ยังเห็นชอบในหลักการให้วัคซีน Sinovac ในผู้มีอายุ 3-17 ปี แต่ยังรอการขึ้นทะเบียนโดย อย. ซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจะประชุมพิจารณาการขึ้นทะเบียนในวันนี้ (4 กุมภาพันธ์) ซึ่งหากได้รับการรับรอง กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่าพร้อมนำวัคซีนที่มีอยู่มาฉีดได้โดยไม่ต้องสั่งซื้อเพิ่ม

 

แล้วประเทศอื่นฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไรให้เด็กบ้าง? จากการสืบค้นข่าวต่างประเทศและเว็บไซต์ของหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านยาของประเทศต่างๆ พบว่าขณะนี้มีหลายประเทศที่ขึ้นทะเบียนและเริ่มฉีดวัคซีนในเด็กแล้ว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 5-6 ปีขึ้นไป และแบ่งตามยี่ห้อดังนี้ (หมายเหตุ: ในวงเล็บคือวันที่ขึ้นทะเบียนหรือเดือนที่เริ่มฉีดวัคซีน)

 

วัคซีน Pfizer: สหรัฐอเมริกา (29 ตุลาคม 2021) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (31 ตุลาคม 2021) สหภาพยุโรป (25 พฤศจิกายน 2021) สิงคโปร์ (11 ธันวาคม 2021) สหราชอาณาจักร (22 ธันวาคม 2021) ฟิลิปปินส์ (23 ธันวาคม 2021) มาเลเซีย (6 มกราคม 2022) ฮ่องกง (13 มกราคม 2022) ญี่ปุ่น (21 มกราคม 2022) โดยทั้งหมดเป็นการอนุมัติในเด็ก 5-11 ปีเช่นเดียวกับไทย

 

วัคซีน Sinovac: จีน (มิถุนายน 2021) โคลอมเบีย (พฤศจิกายน 2021) ชิลี (6 กันยายน 2021) กัมพูชา (กันยายน 2021) เอกวาดอร์ (ตุลาคม 2021) อินโดนีเซีย (1 พฤศจิกายน 2021) 2 ประเทศแรกอนุมัติในเด็ก 3 ปีขึ้นไป 4 ประเทศหลังอนุมัติในเด็ก 6 ปีขึ้นไป ส่วนฮ่องกง (20 มกราคม 2022) อนุมัติให้เด็ก 5 ปีขึ้นไป

 

วัคซีน Sinopharm: จีน (มิถุนายน 2021) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (สิงหาคม 2021) อาร์เจนตินา (1 ตุลาคม 2021) ทั้งหมดเป็นการอนุมัติในเด็ก 3 ปีขึ้นไป

 

ทั้งนี้บริษัทที่ตีพิมพ์ผลการวิจัยระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในวารสารทางการแพทย์แล้วมีเพียง Pfizer ยี่ห้อเดียว สามารถป้องกันอาการป่วย 90.7% ในขณะที่วัคซีนชนิดเชื้อตายมีข้อมูลจากการวิจัยระยะที่ 1-2 ว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เท่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ อย. ยังไม่อนุมัติวัคซีน Sinopharm ในเด็กทั้งที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2021

 

วัคซีนโควิดสำหรับเด็ก

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X