×

ไทยเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) จริงหรือไม่ ประชาชนต้องระวังอะไรบ้าง

02.07.2022
  • LOADING...
Post-Pandemic

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นวันที่กระทรวงสาธารณสุขและ ศบค. ปักหมุดไว้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ระยะ ‘หลังการระบาดใหญ่’ (Post-Pandemic) หรือถ้าพูดกันตามตรงคือโรคโควิดจะกลายเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ (Endemic) ทั้งที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศเช่นนั้นและยังมีโอกาสที่การระบาดใหญ่จะลากยาวต่อไปอีก แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยใช้ทั้ง 2 คำนี้ในเชิงการบริหารจัดการมากกว่าเชิงวิชาการ กล่าวคือเมื่อโรคมีความรุนแรงลดลง และระบบสาธารณสุขรองรับได้ ศบค. จึงผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคเพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด

 

ระยะหลังการระบาดใหญ่คืออะไร มาตรการควบคุมโรคในระยะนี้เป็นอย่างไร ยังมีปัจจัยใดที่อาจทำให้การระบาดใหญ่ลากยาวต่อไปอีก และประชาชนจะต้องระมัดระวังอะไรบ้าง

 

ระยะหลังการระบาดใหญ่คืออะไร 

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ศบค. แถลงแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) แบ่งการระบาดระลอกโอมิครอนออกเป็น 4 ระยะตามการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อ ได้แก่

  • ระยะขาขึ้น (Combatting) 12 มีนาคม – ต้นเมษายน 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
  • ระยะทรงตัว (Plateau) เมษายน – พฤษภาคม 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น
  • ระยะขาลง (Declining) ปลายพฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2565 จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง
  • ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ออกจากการระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไป

 

ผ่านมา 3 เดือน สถานการณ์จริงของจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตก็มีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น โดยจำนวนผู้ป่วยโควิดใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดประมาณ 900 รายช่วงกลางเดือนเมษายน 2565 แล้วค่อยๆ ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 300 รายเมื่อกลางเดือนมิถุนายน นั่นคือไทยอาจเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ตามแผนดังกล่าว โดยกระทรวงสาธารณสุขมองว่าสายพันธุ์โอมิครอน (ขณะนั้น BA.1 และ BA.2 เป็นสายพันธุ์หลัก) ที่แพร่ระบาดเร็วและผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงเป็น ‘ตัวปิดเกม’ การระบาดใหญ่และจะบริหารจัดการให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด

 

แต่นอกจากยอดผู้ป่วยแล้ว กระทรวงสาธารณสุขยังกำหนดเป้าหมายอัตราป่วยตายไม่เกิน 0.1% และความครอบคลุมของวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% ด้วย 

 

สำหรับความแตกต่างระหว่าง ‘การระบาดใหญ่’ กับ ‘โรคประจำถิ่น’ ในทางระบาดวิทยา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคเคยอธิบายไว้ว่า

  • การระบาดใหญ่ (Pandemic) หมายถึง การระบาดที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ทั้งจำนวนและกว้างขวางทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ เช่น ข้ามพรมแดน ระบาดหลายประเทศข้ามทวีป จนมีผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งสาธารณสุขและสังคม 
  • โรคประจำถิ่น (Endemic) หมายถึง การที่มีโรคปรากฏหรือระบาดในพื้นที่ แต่อาจจำกัดในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์หรือการกระจาย และการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่สามารถคาดการณ์ได้

 

ในขณะที่เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าการประกาศเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ต้องรอให้องค์การอนามัยโลกเป็นผู้ประกาศ ส่วนประเทศไทยจะใช้คำว่า ‘ระยะหลังการระบาดใหญ่’ คือคงไม่มีการระบาดใหญ่ในประเทศไทยแล้ว โรคลดความรุนแรงลง และระบบสาธารณสุขรองรับได้ ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าหลังวันที่ 1 กรกฎาคมนี้จะไม่มีโรคแล้ว ยังมีคลัสเตอร์เล็ก ปานกลาง หรือใหญ่ แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุม ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีระบบเฝ้าระวัง และเตรียมการการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนัก

 

มาตรการควบคุมโรคเป็นอย่างไร

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 กระทรวงสาธารณสุขจัดทำคำแนะนำสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโควิดเมื่อเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) สำหรับประชาชน 2 กลุ่มตามประวัติการได้รับวัคซีน ดังนี้

  • ประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มหลักและเข็มกระตุ้นตามกำหนด
    • สร้างสุขอนามัยส่วนตัว เช่น การล้างมือบ่อยๆ การใช้ช้อน/แก้วน้ำส่วนตัว
    • เดินทางได้ตามปกติ และเว้นระยะห่างเมื่อเข้าไปในสถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก
    • รวมกลุ่มกันได้ตามปกติ โดยประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อนเข้าร่วมกิจกรรม และสังเกตอาการป่วย 5-7 วันหลังเข้าร่วมกิจกรรม
    • ติดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น

 

  • ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 หรือไม่ได้รับวัคซีน/ได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด
    • สร้างสุขอนามัยส่วนตัว เช่น การล้างมือบ่อยๆ การใช้ช้อน/แก้วน้ำส่วนตัว
    • เดินทางได้ตามปกติ เว้นระยะห่างตามความเหมาะสม และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องเข้าไปในสถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก รวมถึงรถสาธารณะ
    • รวมกลุ่มกันได้ตามปกติ ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมและสังเกตอาการป่วย 5-7 วันหลังเข้าร่วมกิจกรรม
    • เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มหลักและเข็มกระตุ้นตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

 

สังเกตว่าการสวมหน้ากากยังเป็นมาตรการป้องกันโรคที่สำคัญสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง หรือไม่ได้รับวัคซีน/ได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด 

 

นอกจากนี้ยังแนะนำกรณีมีอาการสงสัยหรืออาการระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ประชาชนควรปฏิบัติ ดังนี้

  • ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ทันที 
  • หากผลการตรวจเป็นบวก ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและผู้อื่น แยกของใช้ส่วนตัว หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้เข้มงวดมาตรการเว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • หากมีอาการเพียงเล็กน้อย และไม่สามารถตรวจ ATK ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางหรือใช้บริการสาธารณะ หากจำเป็นจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 
  • หากมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 

และกรณีเกิดการระบาดของโควิดในพื้นที่ เช่น พบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ หรือผู้ป่วยมีอาการป่วยรุนแรง/เสียชีวิตผิดปกติ ประชาชนควรปฏิบัติ ดังนี้

  • กลุ่มผู้ติดเชื้อ ให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำเมื่อมีอาการสงสัยโควิด 
  • กลุ่มผู้สัมผัส ให้เฝ้าระวังอาการตนเองอย่างน้อย 5 วัน หากพบอาการสงสัยให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ทันที 
  • ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในบริเวณที่มีการระบาด ให้ป้องกันตนเองโดยปฏิบัติตาม Universal Prevention 
  • สถานประกอบการที่มีการพบผู้ติดเชื้อหรือมีการระบาดเป็นวงกว้าง อาจพิจารณาใช้มาตรการ Work from Home หรือดำเนินตามมาตรการ COVID-Free Setting

 

สำหรับมาตรการทางสังคม ศบค. ผ่อนคลายหลายมาตรการ ได้แก่ การปรับพื้นที่สถานการณ์เป็นพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ การเปิดสถานบันเทิงได้ตามปกติและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามที่กฎหมายเดิมกำหนด การสวมหน้ากากอนามัยตามความสมัครใจ แต่กระทรวงสาธารณสุขยังคงแนะนำให้สวมหน้ากากเมื่อในอยู่ในสถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก ส่วนการเดินทางเข้าประเทศไม่ต้องลงทะเบียน Thailand Pass แต่ให้แสดงเอกสารการได้รับวัคซีนครบ หรือหากได้รับวัคซีนไม่ครบต้องผลตรวจหาเชื้อภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง

 

ความเสี่ยงในช่วงกลางปี 2565

คีย์เวิร์ดของการระบาดใหญ่คือ ‘ข้ามทวีป’ ส่วนของโรคประจำถิ่นคือ ‘จำกัดพื้นที่’ และ ‘คาดการณ์ได้’ การประกาศว่าการระบาดใหญ่สิ้นสุดลงหรือเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เพราะปัจจุบันโควิดยังระบาดทั่วโลกและคาดการณ์ไม่ได้ โดยขณะนี้โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 กำลังระบาดในหลายประเทศ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นใน 110 ประเทศ รวมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20% และจำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกกลาง (เพิ่ม 22%) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เพิ่ม 15%) และอเมริกา (เพิ่ม 11%)

 

BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ต่อมาจากโอมิครอนเดิม จากการเฝ้าระวังทั่วโลกพบสัดส่วนของ BA.4 เพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 12% และ BA.5 เพิ่มขึ้นจาก 28% เป็น 43% มีคุณสมบัติหลบหลีกภูมิคุ้มได้ดีทำให้มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ส่วนความรุนแรงยังต้องรอการศึกษาเพิ่มเติม แต่จากข้อมูลเบื้องต้นที่พบการกลายพันธุ์ตำแหน่งเดียวกับสายพันธุ์เดลตา และพบอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นในโปรตุเกส (แต่ยังต่ำกว่าจุดสูงสุดของระลอกก่อนหน้า และผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ) ก็อาจทำให้สายพันธุ์นี้น่ากังวลอยู่ไม่น้อย

 

ส่วนในประเทศไทย คาดว่าสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 กลายเป็นสายพันธุ์หลักภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เพราะจากการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระหว่างวันที่ 18-24 มิถุนายน 2565 พบทั้ง 2 สายพันธุ์เป็นสัดส่วน 44.3% แล้ว พร้อมกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่จะคงที่ประมาณ 2,000 รายต่อวัน แต่จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 593 รายเป็น 690 รายในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และจากข้อมูลของ ศบค. เมื่อกลางเดือนมิถุนายน มี 17 จังหวัดที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนรับการรักษาเพิ่มขึ้น ได้แก่ พิจิตร, กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ชลบุรี, เพชรบุรี, กระบี่, ภูเก็ต, ชัยนาท, อุตรดิตถ์, อุบลราชธานี, ยโสธร, อำนาจเจริญ, ตราด, สตูล (7 จังหวัดหลังสุดมีแนวโน้มลดลงแล้วเป็นระลอกขนาดเล็ก) ทำให้ในช่วงนี้หลายคนเริ่มได้ยินข่าวคนใกล้ตัวติดเชื้อ และเตียงผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลเริ่มกลับมาตึงมืออีกครั้ง ดังนั้นปัจจัยสำคัญจึงอยู่ที่ ‘ไวรัส’ ซึ่งหากยังมีการกลายพันธุ์ต่อเนื่องก็ทำให้มีโอกาสสูงมากที่การระบาดใหญ่จะลากยาว อย่างไรก็ตามฤดูฝนเป็นช่วงที่ไวรัสทางเดินหายใจจะระบาดเพิ่มขึ้นอยู่แล้วจึงต้องติดตามต่อไปว่าเป็นการระบาดตามฤดูกาลหรือไม่

 

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ‘ภูมิคุ้มกัน’ ของประชาชน เนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์เร็วและมักจะหลบหลีกภูมิคุ้มกันมากขึ้น ประชาชนจึงต้องมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงมากพอในการป้องกันการติดเชื้อและอาการรุนแรง กระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 3 เดือน ซึ่งปัจจุบันอัตราการฉีดเข็มกระตุ้นยังต่ำอยู่ โดยในภาพรวมคิดเป็น 42.6% (ประมาณ 30 ล้านคน) และในกลุ่มผู้สูงอายุคิดเป็น 46.5% (ประมาณ 6 ล้านคน) ดังนั้นผู้ที่ครบกำหนดฉีดวัคซีนควรไปรับวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อความปลอดภัยในช่วงกลางปี 2565 นี้ 

 

อีกทั้งรัฐบาลจะต้องออกมาตรการจูงใจให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ในขณะที่การประกาศ ‘ระยะหลังการระบาดใหญ่’ อาจทำให้ประชาชนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องป้องกันตนเองแล้ว ทั้งที่เป็นระยะเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการโรคระบาดเท่านั้น ซึ่งล่าสุด ศบค. เตรียมทบทวนการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในสัปดาห์หน้า แต่ควรเน้นไปที่การเฝ้าระวังโรค โดยให้ยอดผู้ป่วยที่รายงานสะท้อนแนวโน้มจริงและความเสี่ยงที่ประชาชนต้องระมัดระวัง และการสวมหน้ากากในสถานที่แออัดหรือภายในอาคารเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

โดยสรุปถึงแม้ในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่ระยะ ‘หลังการระบาดใหญ่’ ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขและ ศบค. แต่สถานการณ์จริงการระบาดใหญ่ยังไม่สิ้นสุดลงและโควิดยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น ขณะนี้มีการระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 แทนที่โอมิครอนเดิม ซึ่งอาจทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และไวรัสยังอาจกลายพันธุ์ต่อไปอีกโดยไม่สามารถคาดการณ์ความรุนแรงได้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 

 

ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มหลักและเข็มกระตุ้นตามกำหนดแล้วสามารถเดินทางและรวมกลุ่มได้ตามปกติ แต่ยังต้องสร้างสุขอนามัยส่วนตัว และสังเกตอาการป่วย 5-7 วันหลังเข้าร่วมกิจกรรม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X