×

เปิดแผนโควิดสู่โรคประจำถิ่น เราอยู่ตรงไหนของแผนนี้?

27.04.2022
  • LOADING...
เปิดแผนโควิดสู่โรคประจำถิ่น

‘โรคประจำถิ่น’ (Endemic) เป็นคำที่กระทรวงสาธารณสุขพูดถึงบ่อยขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิดว่า ถ้าประชาชนร่วมกันฉีดวัคซีน เชื้อไม่กลายพันธุ์เพิ่ม และการติดเชื้อไม่มีลักษณะรุนแรงมากขึ้น คาดว่าการติดเชื้อระลอกนี้ที่เป็นสายพันธุ์โอมิครอนจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนแล้วค่อยลดลง น่าจะเป็นโรคประจำถิ่นได้ภายในปีนี้”

 

และก่อนหน้านั้นวันที่ 4 มกราคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แถลงแนวคิดการควบคุมโรคโควิดว่า เดิมในปี 2563 ประเทศไทยใช้แนวคิดโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID-19) เนื่องจากเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ ประเทศจีนเป็นต้นแบบการควบคุมโรคด้วยการล็อกดาวน์ และยังไม่มีวัคซีน ถัดมาในปี 2564 ใช้แนวคิดอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID-19) เน้นความสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และฉีดวัคซีนได้ 104 ล้านโดส

 

ในขณะที่ปี 2565 ใช้แนวคิดโรคประจำถิ่น (Moving to COVID-19) โดยมีปัจจัยหลัก 3 อย่างคือ

  1. เชื้ออ่อนลง ถึงแม้สายพันธุ์โอมิครอนจะแพร่กระจายได้เร็วขึ้น แต่อาการไม่รุนแรง 
  2. ประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น จากการฉีดวัคซีนและจะมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 
  3. การจัดการสิ่งแวดล้อมลดความเสี่ยง รวมถึงการรักษาดีขึ้น ระบบสาธารณสุขรองรับได้ และมียามากขึ้น 

 

ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2565 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

 

จนกระทั่งวันที่ 18 มีนาคม 2565 ศบค. ได้แถลงแผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิดสู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และในวันเดียวกันก็ปรับปรุงอินโฟกราฟิกสถานการณ์ประจำวัน โดยเพิ่มยอดผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวในโรงพยาบาลและอัตราครองเตียงขึ้นมา ซึ่งสะท้อนว่าจะให้ความสำคัญกับผู้ป่วยหนักและความสามารถในการรองรับผู้ป่วย ‘แผนโควิดสู่โรคประจำถิ่น’ นี้เป็นอย่างไร และเราอยู่ตรงไหนของแผนนี้แล้ว

 

โรคประจำถิ่นคืออะไร

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 ในการแถลงข่าวสถานการณ์ประจำวันของกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบายนิยามทางระบาดวิทยาของคำ 3 คำที่ใช้เรียกการระบาดของโรค ดังนี้

  • การระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) หมายถึง การระบาดที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ทั้งจำนวนและกว้างขวางทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ เช่น ข้ามพรมแดน ระบาดหลายประเทศข้ามทวีป จนมีผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งสาธารณสุขและสังคม 
  • โรคประจำถิ่น (Endemic) หมายถึง การที่มีโรคปรากฏหรือระบาดในพื้นที่ แต่อาจจำกัดในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์หรือการกระจาย และการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่สามารถคาดการณ์ได้
  • โรคระบาด (Epidemic) หมายถึง การที่โรคแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือภาวการณ์เกิดโรคผิดปกติหรือมากกว่าที่เคยเป็นมา

 

ดังนั้นโรคประจำถิ่นคือโรคที่มีอัตราการติดเชื้อคงที่หรือคาดการณ์ได้ ซึ่งมีนัยยะว่าโรคจะยังไม่หายไป (ไม่ถูกกำจัดหรือกวาดล้าง) ส่วนการระบาดใหญ่แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

  • ก่อนการระบาดใหญ่ (Pre-Pandemic) เป็นระยะที่ตรวจพบไวรัสชนิดใหม่ จากนั้นมีการแพร่กระจายจากสัตว์สู่คน และคนสู่คนจนเป็นโรคระบาด
  • การระบาดใหญ่ (Pandemic) โรคระบาดแพร่กระจายกว้างขึ้น องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิดเป็นการระบาดใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 
  • หลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) เข้าสู่โรคประจำถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไป นพ.โอภาสกล่าวในวันนั้นว่า “ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเมื่อไรจะผ่าน Pandemic หรือเป็น Post-Pandemic แต่คิดว่าภายในปีนี้น่าจะจัดการให้ผ่านพ้นการระบาดใหญ่ได้”

 

แผนโควิดสู่โรคประจำถิ่นเป็นอย่างไร

 

เดือนเมษายน 2565 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่เอกสารแผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิดสู่โรคประจำถิ่น โดยระบุว่าเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและสร้างความสมดุลทางสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ มีเป้าหมาย 3 ข้อ ดังนี้

  • การเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ อัตราป่วยตายไม่เกิน 0.1%
  • ความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60%
  • สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และความร่วมมือของประชาชนในการรับมือและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิดจาก Pandemic สู่ Endemic อย่างปลอดภัย

 

ซึ่งสรุปเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานที่สำคัญ 2 ประการ เรียกกว่า ‘2U’ ได้แก่ 

  • Universal Prevention คือการป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล
  • Universal Vaccination คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ให้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์และเข็มกระตุ้นตามระยะเวลาที่กำหนด

 

 

สำหรับระยะเวลาในการดำเนินงานแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะขาขึ้น (Combatting) 12 มีนาคม – ต้นเมษายน 2565 เป็นการต่อสู้เพื่อลดการระบาดและความรุนแรง
  • ระยะทรงตัว (Plateau) เมษายน – พฤษภาคม 2565 เป็นการคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ
  • ระยะขาลง (Declining) ปลายพฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2565 เป็นการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000-2,000 ราย
  • ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ออกจากการระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่นหรือโรคติดต่อทั่วไป

 

กระทรวงสาธารณสุขกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข (การแจ้งเตือนภัยสำหรับประชาชน การเฝ้าระวังและการจัดการผู้เดินทางจากต่างประเทศ การเฝ้าระวังและสอบสวนโรค วัคซีนเข็มกระตุ้น), ด้านการแพทย์ (การตรวจวินิจฉัย การให้บริการกลุ่มที่มีอาการ/กลุ่มที่มีภาวะปอดอักเสบ), ด้านกฎหมายและสังคม (การบริหารจัดการด้านกฎหมาย มาตรการทางสังคม) และด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ โดยผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ตามระยะดำเนินการ

 

 

วันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ศบค. แถลงสถานการณ์การระบาดรายจังหวัดแยกตามลักษณะแนวโน้มการระบาด 4 ระยะข้างต้น กล่าวคือ

  • กลุ่มขาขึ้น จำนวน 21 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน, แพร่, ลำปาง, พิษณุโลก, สุโขทัย, กำแพงเพชร, นครสวรรค์, สกลนคร, บึงกาฬ, เลย, อุดรธานี, ขอนแก่น, นครพนม, หนองคาย, ยโสธร, มหาสารคาม, ศรีสะเกษ, นนทบุรี, นครนายก, กาญจนบุรี, อุทัยธานี
  • กลุ่มทรงตัว จำนวน 44 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, เพชรบูรณ์, อุตรดิตถ์, พะเยา, พิจิตร, ชัยนาท, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, สิงห์บุรี, ลพบุรี, ตาก, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, ราชบุรี, นครปฐม, อ่างทอง, สระบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สุพรรณบุรี, พัทลุง, พังงา, ชุมพร, ชลบุรี, สมุทรปราการ, มุกดาหาร, ฉะเชิงเทรา, จันทบุรี, ระยอง, ปราจีนบุรี, ตราด, สระแก้ว, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์
  • กลุ่มขาลง จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, ระนอง, ตรัง, นครศรีธรรมราช, ภูเก็ต, สตูล, สงขลา, ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส

 

และแจ้งให้ทุกจังหวัดพิจารณาปรับแผนปฏิบัติการเพื่อการเปิดประเทศที่กำลังดำเนินการ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะ Post-Pandemic เน้นการศึกษามาตรการบริหารจัดการระดับจังหวัด ติดตามผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้การสนับสนุนจังหวัดเพื่อขยายผลในจังหวัดอื่น โดยระบุรายละเอียดเกณฑ์พิจารณาสู่โรคประจำถิ่นด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้

 

  • ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐบาล เอกชน ประชาสังคม และประชาชน ป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้างอย่างเต็มที่ โดยประเมินจากแนวโน้มการติดเชื้อ แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก และอัตราการครองเตียงระดับ 2-3
  • การฉีดวัคซีน ความครอบคลุมของวัคซีนเข็มกระตุ้นในประชากรมากกว่า 60% ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มมากกว่า 80% และเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2565
  • จำนวนผู้เสียชีวิต อัตราป่วยตายจากโรคโควิดคำนวณจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด (ไม่นับการเสียชีวิตร่วมกับการติดเชื้อโควิด) หารด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคโควิดที่รับการรักษาน้อยกว่า 0.1% รายสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ติดต่อกัน

 

เราอยู่ตรงไหนของแผนนี้?

 

ความตั้งใจแรกของคำถามนี้คือ ในขณะนี้สถานการณ์ปัจจุบันตามเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อข้างต้นเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มจากการฉีดวัคซีนก่อน ข้อมูล ณ วันที่ 24 เมษายน 2565 มีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 51.0 ล้านคน คิดเป็น 73.3% และได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 25.5 ล้านคน คิดเป็น 36.6% ของประชากรทั้งหมด (ยังไม่ผ่านเกณฑ์) ส่วนผู้สูงอายุได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 84.1% (ผ่านเกณฑ์) และได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจำนวน 5.1 ล้านคน คิดเป็น 40.4% (ยังไม่ผ่านเกณฑ์) โดยยังมีเวลาอีก 2 เดือน

 

ต่อมาคือความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ประเมินโดยตรงยาก แต่กระทรวงสาธารณสุขประเมินทางอ้อมจากแนวโน้มผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ติดเชื้อตรวจด้วยวิธี RT-PCR เฉลี่ย 7 วันย้อนหลังลดลง ปัจจุบันเฉลี่ย 19,000 รายต่อวัน (แต่มีข้อจำกัดคือยังไม่รวมผู้ติดเชื้อที่ตรวจ ATK ด้วยตนเอง) แนวโน้มผู้ป่วยอาการหนัก จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบลดลง 8.7% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเหลือ 1,876 ราย ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 2.0% เป็น 903 ราย จึงถือว่ามีแนวโน้มทรงตัว สิ้นเดือนนี้น่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น

 

สุดท้ายจำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ปัจจุบันเฉลี่ย 128 รายต่อวัน แต่เนื่องจากเป็นผลมาจากการติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงว่าช่วงก่อนสงกรานต์มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น อัตราป่วยเสียชีวิตในระลอกสายพันธุ์โอมิครอนเท่ากับ 0.32% (ยังไม่ผ่านเกณฑ์) ส่วนถ้านับรวมทุกระลอกจะเท่ากับ 0.67% ทั้งนี้ทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้ออาจถูกประเมินต่ำกว่าความจริง (Underestimated) ได้ด้วยหลายปัจจัย อัตราป่วยเสียชีวิตนี้จึงคลาดเคลื่อนได้

 

ถ้าเทียบตามไทม์ไลน์แผนโควิดสู่โรคประจำถิ่น ในภาพรวมทั้งประเทศอยู่ในระยะทรงตัว (Plateau) ศบค. ดำเนินมาตรการเพื่อคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ แต่มีบางจังหวัดที่อาจเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ได้ก่อน เพราะมีแนวโน้มการระบาดลดลงแล้ว สังเกตว่าส่วนใหญ่เป็นทางภาคใต้ แต่ต้องไม่ลืมพิจารณาความครอบคลุมของวัคซีนด้วย เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่การเปิดประเทศและการกำหนดพื้นที่สีฟ้า ศบค. แทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกณฑ์วัคซีนเลย

 

ทั้งที่เป็นหลักประกันว่าหากเกิดการระบาดขึ้นมาใหม่จะมีผู้ป่วยอาการหนักไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยระดับ 2-3 ในโรงพยาบาล หรืออยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างปลอดภัย

 

‘เราอยู่ตรงไหนของแผนนี้’ อีกความตั้งใจหนึ่งของคำถามนี้คือ การจับตาว่าภาครัฐรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นนโยบายที่ส่งผลต่อหลายฝ่าย เรายังได้ยินแพทย์ที่กังวลเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์ (ที่จะทำให้โรคยังไม่ประจำถิ่น) และภาวะลองโควิด (Long COVID) ขณะเดียวกันเราก็ได้ยินผู้ที่ต้องการให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ยินผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เสนอนโยบายถอดหน้ากากใน 90 วัน และได้ยินผู้ประกอบการที่ต้องการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ นี่อาจเป็นจุดสมดุลระหว่างสุขภาพและสังคม-เศรษฐกิจที่ ศบค. ต้องไปให้ถึง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising