วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2563) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ คำกล่าวนายกรัฐมนตรี เรื่องโควิด-19 และความสำเร็จของประเทศไทย ระบุว่า
“พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ
วันนี้ผมขออัปเดตให้ทุกท่านทราบถึงแนวทางที่ประเทศไทยของเรากำลังเดินไปข้างหน้า ในภาวะการณ์ที่เรายังจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำลายทั้งชีวิตและเศรษฐกิจของทั้งโลก
ตอนนี้โลกกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มา
ปัจจุบันนี้ แต่ละวัน หลายประเทศในยุโรปและที่อื่นๆ มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และในสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตเกือบพันคนต่อวัน นับว่าเป็นวิกฤตที่ทำให้ประเทศต่างๆ ปั่นป่วน จนเกิดการประท้วงอย่างรุนแรงในเกือบ 30 ประเทศทั่วโลก
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือนว่า มีโอกาสที่โควิด-19 จะเกิดการระบาดอีกเป็นระลอกที่ 3 ในช่วงปีหน้า ถ้าแต่ละประเทศไม่รักษาวินัย และไม่เข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
- ที่สหราชอาณาจักร ตอนนี้มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศไปเรียบร้อย ร้านค้า ร้านอาหาร ผับ บาร์ สถานที่ทำกิจกรรมบันเทิงและกีฬา รวมถึงสถานที่ต่างๆ ต้องปิดให้บริการเกือบทั้งหมด และเมื่อวานนี้เพิ่งมีการแถลงสถานการณ์เศรษฐกิจที่คาดการณ์ GDP จะหดตัวถึง 11%
- ส่วนที่สาธารณรัฐฝรั่งเศสก็มีการล็อกดาวน์มาตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคม และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะยิ่งแย่หนัก GDP น่าจะทรุดลงถึง 11% ในปีนี้
- ที่ราชอาณาจักรสเปนมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะกินเวลานานหลายเดือน มีการประกาศเคอร์ฟิว จำกัดการเดินทาง และจำกัดเรื่องการรวมตัวกัน
- ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ก็มีการล็อกดาวน์ ห้ามออกจากบ้าน ถ้าไม่มีเอกสารตามขั้นตอน
- ราชอาณาจักรเบลเยียมก็ล็อกดาวน์เช่นเดียวกัน
- และในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร้านค้า ร้านอาหารปิด และมีการจำกัดเรื่องการรวมตัวกัน
สถานการณ์ทางด้านสาธารณสุข และผลกระทบที่ส่งมาถึงเรื่องเศรษฐกิจ ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก
สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดไม่ใช่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่หากปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายจนถึงขั้นเหนือการควบคุม จะส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพหรือป่วยเป็นโรคอื่น ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จะประสบปัญหาเตียงไม่พอ หมอและพยาบาลติดพันอยู่กับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิ่งที่แย่ที่สุดที่เราไม่อยากเห็นคือ หมอและพยาบาลมีงานล้นมือ จนถึงขั้นมีเวลาไม่เพียงพอสำหรับรักษาดูแลผู้ป่วยได้ทันทุกคน และจำเป็นต้องเลือกว่า จะรักษาคนไหนและไม่รักษาคนไหน ซึ่งจนถึงวันนี้ นับว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์แบบนั้นในประเทศของเราได้สำเร็จ
ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนในทุกภาคส่วน ทุกภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และคนทำงานต่างๆ ที่ได้เสียสละ และยอมรับที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำมาหากิน เพื่อที่จะปกป้องบ้านเมืองของเราไม่ให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายมากกว่านี้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
ความสำเร็จนี้เป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับประเทศไทย ในฐานะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในโลกตัวอย่างหนึ่งในการรับมือกับโควิด-19 อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่า ความสำเร็จของประเทศไทยในการดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็น ‘ความร่วมมือกันของประชาชนทุกระดับและทุกภาคส่วนในสังคม’ และด้วย ‘การบริหารจัดการสรรพกำลังทุกอย่างแบบบูรณาการของรัฐบาล’ ซึ่งผมอยากให้ทุกคนได้ภาคภูมิใจ และร่วมกันรักษาความรู้รักสามัคคี และสิ่งดีๆ นี้ไว้
ตอนนี้ผมขอบอกกับทุกคนว่า เรากำลังเตรียมตัวสำหรับเฟสถัดไปในการบริหารจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อไม่ให้โรคร้ายนี้สร้างปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และสร้างความยากลำบากในความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยไปมากกว่านี้
วิธีจัดการกับวิกฤตโควิด-19 ในระยะยาวคือ การมีวัคซีนป้องกัน และจะต้องกระจายไปยังประชาชนให้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนที่มีความเป็นไปได้ว่าจะประสบความสำเร็จ ซึ่ง 3-4 กลุ่มอยู่ในขั้นตอนที่ก้าวหน้าไปมากแล้ว โดยกำลังทำการทดสอบความปลอดภัยในการใช้ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ได้จริง อย่างไรก็ดี เรารู้ว่าประเทศใหญ่ๆ ในโลกต่างพยายามล็อกคิว เพื่อที่จะได้ใช้วัคซีนเป็นประเทศแรกๆ ทันทีที่วัคซีนได้รับการยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัย แล้วผลิตเสร็จออกมา ซึ่งผมเห็นว่าประเทศไทยเราก็สมควรที่จะได้รับโอกาสนั้นด้วย คือการเข้าถึงวัคซีนอย่างรวดเร็วและเพียงพอ เพราะการได้วัคซีนมาใช้นั้น ยิ่งเร็วเท่าไร ก็ยิ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้นด้วย
นั่นคือเหตุผลที่เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ผมได้ตัดสินใจว่า ประเทศไทยต้องเดินหน้าหาพันธมิตร เพื่อผลิตวัคซีนในประเทศไทยให้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ไปเข้าคิวรอซื้อจากการผลิตในประเทศอื่นเพียงอย่างเดียว เราต้องเลือกจับมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ ที่น่าจะมีโอกาสทำสำเร็จได้จริงอย่างรวดเร็ว
เมื่อเดือนที่แล้ว ความพยายามของเราประสบความสำเร็จ ซึ่งนอกจากเราได้ลงนามข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตราเซเนกา เพื่อผลิตวัคซีนในประเทศไทย หากการพัฒนาวัคซีนสำเร็จลุล่วงแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการคือ ประเทศไทยยังจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนนี้ด้วย และในวันพรุ่งนี้จะมีการลงนามเพิ่มเติมในอีกหนึ่งข้อตกลงเพื่อสั่งซื้อวัคซีนนี้ โดยเมื่อ 2-3 วันก่อน เราได้รับทราบข่าวดีว่า ทีมมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตราเซเนกา ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนแล้ว ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ได้ถึง 70-90% อยู่ในระดับที่ ‘ดีมาก’
นอกจากนั้น วัคซีนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตราเซเนกา พัฒนาขึ้น จะสามารถผลิตออกมาได้ในราคาที่ถูกกว่า หากเทียบกับวัคซีนของที่อื่นๆ และสำคัญมากกว่านั้นคือ วัคซีนนี้มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่า เพราะในขณะที่วัคซีนของที่อื่นๆ จำเป็นต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิ -20 ถึง -70 องศาเซลเซียส ตลอดเวลา ต้องใช้ตู้แช่เย็นที่ออกแบบพิเศษโดยเฉพาะ ทำให้มีข้อจำกัดทางด้านการขนส่งที่จะทำได้อย่างยากลำยากมาก แต่วัคซีนนี้สามารถเก็บรักษาได้ไม่ยากในตู้เย็นธรรมดา ณ อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส สามารถขนส่งเพื่อกระจายวัคซีนไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกจังหวัดของไทยเราได้อย่างทั่วถึงและไม่ยุ่งยาก
เราคาดว่าวัคซีนนี้น่าจะได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ และผลิตได้ในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งถ้าเร่งขั้นตอนต่างๆ ได้ ยิ่งเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เราสามารถเปิดรับคนจำนวนมากเข้าประเทศได้ และสามารถเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาอีกครั้ง ขณะนี้ ผมกำลังพิจารณาวางแผนกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ เพื่อเตรียมการสำหรับการกระจายวัคซีนไปให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของประเทศให้ได้อย่างรวดเร็ว ทันทีที่เราได้วัคซีน
แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ช่วงเทศกาลต่างๆ ผมขอให้พี่น้องชาวไทยทุกคน ผู้ที่ได้ร่วมมือร่วมใจเสียสละความสะดวกสบายส่วนตัวในการยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้ช่วยกันอีกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้คน และบรรเทาไม่ให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจนหนักหนาสาหัสในประเทศไทย เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก ผมขอให้พวกเราทุกคนยังคงรักษาวินัย ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่างทางสังคม ขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศไทย เพื่อไม่สร้างความทุกข์ยากให้กับประเทศรุนแรงกว่าที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล