×

การระบาดระลอกสองของโควิด-19 คลื่นลูกใหม่ที่กำลังก่อตัว

23.03.2020
  • LOADING...
การระบาดระลอกสองของโควิด-19

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดระลอกที่สองของโควิด-19 หลังควบคุมการระบาดภายในประเทศได้แล้ว แต่ยังพบผู้ป่วยจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 
  • สำหรับประเทศไทยอาจเผชิญหน้ากับการระบาดระลอกที่สองซ้ำซ้อน โดยไม่ต้องรอให้ระลอกแรกสิ้นสุดก่อน 

นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วที่เกิดการระบาดของโควิด-19 จากเมืองอู่ฮั่นจนเกิดการระบาดใหญ่ (Pandemic) 

 

วันที่ 19 มีนาคม 2563 นับเป็นวันแรกที่ทางการจีนประกาศว่า ‘ไม่พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ’ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการระบาดกำลังสิ้นสุดลง คลื่นลูกแรกที่ซัดเข้าฝั่งไต่ระดับขึ้นจนถึงจุดสูงสุดแล้วพลิกความชันลงจนแบนราบ หากนับวันนี้ไปอีกสองเท่าของระยะฟักตัว (2×14 = 28 วัน) ก็จะถือว่า ‘จบบริบูรณ์’

 

แต่ทว่าความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะประเทศที่ควบคุมการระบาดภายในประเทศได้แล้วยังมีโอกาสนำเข้าผู้ป่วยจากต่างประเทศ (Imported Case) ได้อยู่ โดยในวันดังกล่าวประเทศจีนพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 39 รายในเมืองที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคม เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศที่กำลังมีการระบาดอยู่ในขณะนี้ เช่น สเปน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ทำให้มียอดผู้ป่วยนำเข้ารวม 228 ราย

 

การระบาดระลอกสองของโควิด-19

 

คลื่นลูกที่สองกำลังก่อตัว

เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบของแนวคิด ‘ตรวจ รักษา และค้นหา’ (Test, Treat and Trace) ที่องค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้ทุกประเทศปฏิบัติตาม รวมถึงการตั้งจุดตรวจแบบขับผ่าน (Drive Thru) ทำให้มีอัตราการคัดกรองผู้ป่วยมากที่สุดของโลก (2,138 ตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน) จึงสามารถแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนได้อย่างรวดเร็ว และเริ่มมีผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเรื่อยๆ โดยจะเห็นได้จากเส้นโค้งการระบาดที่ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว

 

แต่ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยนำเข้ากลับกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งตรวจพบได้ทั้งที่สนามบินและการคัดกรองในชุมชน รวมผู้ป่วยทั้งหมด 86 ราย โดยจะเห็นจากภาพที่ 2 ที่มีผู้ที่เดินทางมาจากทวีปยุโรป (แท่งสีน้ำเงิน) เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ เกินครึ่งหนึ่งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ต่างจากไต้หวันและสิงคโปร์ที่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่มีประวัติเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ (สิงคโปร์มีผู้ป่วยนำเข้าจากประเทศอาเซียน รวมถึงไทยด้วย)

 

การระบาดระลอกสองของโควิด-19

 

ย้อนกลับไปที่ระยะที่ 1

หากแบ่งระยะการระบาดในประเทศเป็น 3 ระยะ (Phase) ตามกรมควบคุมโรคคือ

 

ระยะที่ 1 พบผู้ป่วยจากประเทศอื่น ไม่พบการแพร่โรคในประเทศ 

 

ระยะที่ 2 พบการแพร่เชื้อในประเทศในวงจำกัด 

 

และระยะที่ 3 เป็นการแพร่เชื้อในประเทศเป็นวงกว้าง จำนวนผู้ที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และกระจายตามจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 

 

แต่สำหรับบางประเทศกำลังจะย้อนกลับไปที่ระยะแรกอีกครั้ง

 

มาตรการสำหรับระยะนี้คือการคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ เพื่อค้นหาผู้ป่วยก่อนที่จะเข้าแพร่เชื้อในชุมชน (Early Detection) 

 

โดยตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 เกาหลีใต้ประกาศให้ผู้ที่เดินทางจากทวีปยุโรปต้องตอบคำถามคัดกรองสุขภาพ วัดไข้ และแยกไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ใหม่ทุกราย หากพบเชื้อจะถูกย้ายไปที่โรงพยาบาลหรือศูนย์การแพทย์ ขึ้นกับความรุนแรง ส่วนผู้ที่ไม่พบเชื้อจะต้องกักตัวเอง (Self-quarantine) ที่บ้านหรือสถานที่ที่ทางการกำหนด หากเป็นผู้ที่เดินทางมาชั่วคราวจะถูกติดตามแบบเชิงรุก (Active Monitoring) โดยรายชื่อของพวกเขาจะถูกส่งต่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เพื่อใช้ในการติดตามอาการต่อจนครบ 14 วัน

 

ส่วนสิงคโปร์ประกาศให้พลเมืองหรือผู้ที่ได้รับอนุญาตให้พักอาศัยในสิงคโปร์ระยะยาว (Long Term Pass Holder) ที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้องแยกตัวอยู่ในที่พักเป็นเวลา 14 วัน (14-day SHN หรือ Stay-home Notice) ส่วนนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางชั่วคราวจะต้องปฏิบัติตาม 14-day SHN เช่นกัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี อิหร่าน เกาหลีใต้ และสเปน จะห้ามเข้าประเทศ

 

การระบาดระลอกสองของโควิด-19

 

หันกลับมาที่ประเทศไทย

ในการแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ได้แบ่งผู้ป่วยโควิด-19 ออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 41 ราย และกลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 9 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ 4 รายเป็นกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ แสดงว่าถึงแม้ในขณะนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ระยะที่ 2-3 แล้ว แต่ระยะที่ 1 ก็ยังเกิดขึ้นซ้ำอยู่

 

ซึ่งถ้าหากไม่สามารถค้นหาผู้ป่วยกลุ่มหลังได้ทั้งหมด (อาจเพิ่มสถานที่คัดกรองนอกจากที่สนามบิน) โดยช่วงแรกตัวเลขผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจสูงขึ้นจากการตรวจพบมากขึ้น และไม่ได้จำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยว

 

ปัจจุบันมีการกักกันผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรค และการคุมไว้สังเกตผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง ประเทศไทยก็อาจเผชิญกับการระบาดระลอกสองซ้ำซ้อนขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องรอให้การระบาดระลอกแรกสิ้นสุดลง

 

ส่วนการควบคุมการระบาดระยะที่ 2-3 ก็ต้องดำเนินไปอย่างเข้มข้น

 

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage

และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardth

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising