×

โควิด-19: เมื่อโรคระบาดทางกายส่งผลกระทบทางจิตใจ

19.05.2021
  • LOADING...
โควิด-19

HIGHLIGHTS

  • เราต่างได้รับผลกระทบทางจิตใจหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคทางกายไม่มากก็น้อย ซึ่งผลกระทบทางใจที่ได้รับขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามากระทบ และมุมมองต่อผลกระทบนั้น เพราะคนเรามีความคิดประเมินภัยหรือหายนะไม่เท่ากัน
  • การระบาดที่กินเวลาต่อเนื่องยาวนาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) ได้ ซึ่งเป็นภาวะที่จิตใจเกิดความเครียดจากการทำงานจนมีความรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ เบื่อหน่าย ไม่สนุกกับงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง 
  • เพื่อความคิดเห็นที่เป็นกลาง การรับข้อมูลรอบด้านจะช่วยให้เราสามารถประเมินภัยได้ตามความเป็นจริง
  • เรียนรู้ปัญหา รู้ทันความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ และลงมือทำในสิ่งที่ควบคุมได้ ยอมรับกับบางอย่างที่เราต่างควบคุมไม่ได้

โรคระบาดเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงมหภาคที่ส่งผลต่อมนุษย์ในหลายด้าน ทั้งด้านสุขภาพกาย เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ กระทั่งด้านการมีมุมมองต่อโลกที่ส่งผลต่อสภาวะในจิตใจ เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่และเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องอาศัยทักษะในการปรับตัวต่อการดำรงชีวิตค่อนข้างมาก 

 

ผู้ติดเชื้อ นอกจากได้รับผลกระทบจากโรคทางกายทั้งอาการไข้ เหนื่อยง่าย หลายคนอาการเข้าขั้นวิกฤตเชื้อไวรัสทำลายระบบการหายใจ ย่อมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือแม้แต่ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่มากอาจมีความรู้สึกผิดต่อตนเอง และมีความวิตกกังวลว่าตนมีส่วนทำให้เกิดการระบาดไปสู่ผู้อื่น

 

ญาติของผู้ติดเชื้อ ที่อยู่ในระหว่างการเฝ้าระวัง มักมีความรู้สึกหวาดหวั่นว่าตนจะป่วยไข้ไม่สบาย อีกทั้งยังกังวลสายตาตัดสินจากคนในสังคม เพราะความหวาดกลัวต่อโรคที่มากล้นส่งผลให้คนมีอคติต่อกันในเรื่องความเจ็บป่วย 

 

วิชาชีพ แม้จะเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบด้วยหลักจรรยาบรรณและหลักคุณธรรมที่จะไม่ปฏิเสธการรักษา และมุ่งสู่การดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุดเต็มกำลัง แต่ด้วยการระบาดที่กินเวลาต่อเนื่องยาวนาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) ได้ ซึ่งเป็นภาวะที่จิตใจเกิดความเครียดจากการทำงานจนมีความรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ เบื่อหน่าย ไม่สนุกกับงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง 

 

ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โรคระบาดทำให้ธุรกิจหลายชนิดได้รับผลกระทบทางตรง ในขณะที่การดำรงชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป ทำให้ความเครียดต่อการควบคุมและการจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น คนร่ำรวยที่ยากจนลง คนหาเช้ากินค่ำที่ต้องทนทุกข์กับความอดอยาก คือผลกระทบที่ทำให้จิตใจห่อเหี่ยวและหมดหวัง

 

ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ชีวิต แม้ในบางธุรกิจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตโดยเฉพาะในคนที่ขาดทักษะในการแก้ปัญหาและการปรับตัว อาจส่งผลต่อความกังวลและความเครียดได้ อีกทั้งยังหวาดหวั่นต่อการติดเชื้อจากคนอื่น สะสมความกลัว ขาดการเข้าใจข้อมูลอย่างเป็นกลาง สร้างอคติในใจจนอาจกลายเป็นความรู้สึกรังเกียจผู้ที่เจ็บป่วย

 

จะเห็นได้ว่า เราต่างได้รับผลกระทบทางจิตใจหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคทางกายไม่มากก็น้อย ซึ่งผลกระทบทางใจที่ได้รับขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามากระทบ และมุมมองต่อผลกระทบนั้น เพราะคนเรามีความคิดประเมินภัยหรือหายนะไม่เท่ากัน

 

บางคนเห็นปัญหาการระบาดน้อยกว่าที่ควรเป็น ทำให้ประมาทขาดการระมัดระวังและอาจเป็นส่วนให้เกิดการระบาดอย่างควบคุมไม่ได้ อาทิ การรวมตัวสังสรรค์เพราะไว้ใจในเพื่อนสนิทว่าไม่มีเชื้อโควิด-19

 

บางคนเห็นปัญหามากกว่าที่ควรจะเป็น ขาดการศึกษาข้อมูลที่แท้จริง ทำให้ตอบสนองต่อปัญหามากกว่าปกติ ส่งผลต่อความกังวลและความเครียด อาทิ มีความเชื่ออย่างเข้มงวดว่าการเดินสวนกันในขณะที่ใส่หน้ากากอนามัยทำให้ติดโควิด-19 ทำให้เก็บตัวไม่ออกไปทำงานและพบปะผู้คน

 

บางคนเลือกรับรู้ข้อมูลเพียงด้านที่ตนเองกำลังรู้สึก ยิ่งกังวลต่อความเจ็บป่วย ยิ่งเสพข่าวปริมาณผู้ติดเชื้อโดยลืมให้ความสนใจกับข้อมูลโดยภาพรวม ทั้งการหายป่วย การได้รับวัคซีน และความร่วมมือร่วมใจของคนในสังคม ฯลฯ ส่งผลให้ความคิดวนเวียนกับเรื่องที่กระตุ้นให้เกิดทุกข์ 

 

แล้วเราควรจะทำอย่างไรกับ ‘ความคิดที่มีต่อโรคระบาด’ เพื่อประคองกายและใจให้ผ่านการระบาดครั้งนี้ไปได้

 

1. รับข้อมูลรอบด้านในปริมาณที่พอเหมาะ

เพื่อความคิดเห็นที่เป็นกลาง การรับข้อมูลรอบด้านจะช่วยให้เราสามารถประเมินภัยได้ตามความเป็นจริง และสามารถประเมินสมรรถนะในการป้องกันภัยของตนเองได้แม่นยำมากขึ้น หากแต่การรับข้อมูลใดๆ ในปริมาณที่มากอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี ควรเน้นข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีความหลากหลาย และควบคุมปริมาณในการรับข้อมูลเท่าที่จำเป็น

 

2. รู้ทันความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ วัดไม่ได้ 

หลายครั้งการประเมินตนเองว่าไร้ความสามารถในการป้องกันระวังภัย ทำให้มีความคิดต่อตนเองและเหตุการณ์วนซ้ำไปมาในรูปแบบเดิมแบบวัดไม่ได้ อาทิ “ฉันจะติดไหม” โดยยังไม่มีอาการแสดงใดๆ หรือตรวจทางการแพทย์ไม่พบแต่ยังหยุดความคิดเหล่านี้ไม่ได้ กระทั้งความคิดวนซ้ำเหล่านี้กระทบกับความสามารถประจำวัน

 

3. ลงมือทำในสิ่งที่ควบคุมได้ ยอมรับกับบางอย่างที่ ‘เรา’ ต่างควบคุมไม่ได้ 

การมีข้อมูลที่เป็นกลางอย่างมากพอ การรู้ทันความคิด จะเกิดประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อเรานำข้อมูลดังกล่าวมาสร้างสมรรถนะในการดูแลตนเองเพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน อาทิ การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ ลดการพบปะผู้คน และเปิดใจยอมรับผลที่อาจติดโรคจากในส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ หากจะเกิดสิ่งใดก็ตามหลังจากที่เราได้ทำมันอย่างเต็มที่ 

 

4. เห็นความเป็นจริงเกี่ยวกับโรคระบาดจากอดีต อนาคต เพื่อยอมรับกับปัจจุบัน 

หากมองย้อนกลับไป ‘โลก’ ของเราได้พบเจอกับการระบาดของ ‘โรค’ มานับไม่ถ้วน อีกทั้งในอนาคตเราก็อาจต้องพบกับสิ่งที่ไม่แน่นอน หากเรามีทักษะในการดูแลสุขภาพกาย และกระบวนการจัดการความคิดและจิตใจ ก็จะส่งผลดีต่อการปรับตัวและการระวังภัยทั้งในวันนี้และอนาคต 

 

5. สังเกตความกังวลที่ ‘พอดี’ ต่อการดำรงชีวิต 

แม้ความกังวลจะเป็นสิ่งที่รบกวนหัวใจ แต่ความกังวลในระดับที่พอดี (กลางค่อนไปทางมาก) คือความกังวลในระดับที่ทำให้มนุษย์อยู่รอดปลอดภัยทั้งทางกายและใจ ไม่เครียดเกินไป และไม่ประมาทเกินไป โดยเราสามารถสังเกตผ่านอาการทางกายที่ทำงานมากขึ้น อาทิ ใจเต้น เหงื่อออก แต่ยังไม่กระทบกับการใช้ชีวิต สังเกตผ่านพฤติกรรมที่ทำซ้ำเพื่อการระวังภัย อาทิ การล้างมือบ่อยๆ สังเกตุความคิดต่อภัยและการระมัดระวังภัยที่หยุดยาก แต่ก็สามารถสงบและก้าวผ่านแต่ละวันแต่ละช่วงเวลาไปได้ 

 

เมื่อมนุษย์เราไม่สามารถแยกใจกับกายออกจากกันได้เช่นใด โรคระบาดทางกายก็ย่อมส่งผลกับจิตใจได้เหมือนกันเช่นนั้น ฉะนั้นเราควรเรียนรู้ที่จะจัดการกับความคิด เพื่อประคองกายและใจให้ผ่านการระบาดครั้งนี้ไปได้ 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X