×

ผื่นโควิด-19 ต่างจากภูมิแพ้อย่างไร รู้จักผื่นทั้ง 6 ประเภท และผื่นขึ้นแค่ไหนถึงควรไปพบแพทย์

12.04.2021
  • LOADING...
ผื่นโควิด-19

หลังจากที่เมื่อวานนี้ (10 เมษายน) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาแถลงข่าวอัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และเล่าถึง ‘อาการใหม่’ ที่พบในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งนี้ ที่เชื้อมีความเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์อังกฤษ หรือเรียกว่า B.1.1.7 ว่า ผู้ป่วยบางรายไม่มีไข้ แต่พบอาการผื่นขึ้น ตาแดง และมีน้ำมูก 

 

การรายงานดังกล่าวพบว่า อาการพื้นฐานใกล้เคียงกับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ จนเกิดคำถามต่อมาว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือภูมิแพ้ที่เป็นโรคประจำตัว หรือผื่นขึ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 กันแน่ THE STANDARD จึงนำความสงสัยไปปรึกษา ‘หมอณัฐ หรือ พญ.ณัฐนันท์ คณิสสรมงคล’ แพทย์เฉพาะทางผิวหนังและเลเซอร์ โรงพยาบาลนครธน และเจ้าของคลินิก Remede Wellness Clinic เพื่อปูพื้นฐานเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดผื่น ลักษณะเฉพาะของผื่นจากโควิด-19  และที่สำคัญ ผื่นขึ้นถึงจุดไหนที่เรารู้แน่ๆ ว่านี่แหละ ต้องไปพบแพทย์แล้ว เพื่อให้ทุกคนเฝ้าระวังตัวเอง ท่ามกลางการแพร่ระบาดที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

ปูพื้นฐานลักษณะของการเกิดผื่น 

ผื่นสามารถแบ่งได้ง่ายๆ เป็นสองประเภท แบ่งตามแสดงอาการ

1. เกิดขึ้นเฉพาะจุด (Localized) เช่น ผื่นเกิดขึ้นเฉพาะหน้า แขน ขา หรือเฉพาะข้อเท้า มักจะเกิดจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการภูมิแพ้ผิวสัมผัส มักจะเกิดเฉพาะจุด

2. คือการเกิดกระจัดกระจายตามตัว (Generalized) เป็นผื่นที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติภายในร่างกาย เช่น การแพ้ยา แพ้อาหาร หรือการติดเชื้อบางอย่างที่เข้าไปในร่างกาย

 

ผื่นโควิด-19

 

ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 

จากหลักฐานทางการแพทย์พบว่าสามารถเกิดได้ 6 ลักษณะ ซึ่งครอบคลุมลักษณะของผื่นทั้ง 2 ประเภท คือ ผื่นขึ้นเฉพาะจุด และผื่นขึ้นกระจายทั้งตัว เราสรุปมาให้ได้ดังนี้ 

 

ประเภทที่ 1: ลมพิษ (Urticaria) 19%  

ลมพิษอาจจะเกิดขึ้นก่อนมีอาการไข้ หรือก่อนมีอาการทางระบบทางเดินหายใจได้ หลายๆ คนที่เป็นลมพิษอยู่แล้วควรเฝ้าระวังตัวเองว่าเป็นลมพิษเกิดใหม่หรือไม่ มีการเดินทางไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และมีอาการทางทางเดินหายใจตามมาหรือไม่ เหล่านี้จะช่วยให้ชี้ชัดได้ว่ามีโอกาสเกิดลมพิษจากการติดเชื้อโควิด-19 

 

ประเภทที่ 2: ผื่นแดงตามตัว Exanthematous (Morbilliform) Rash 47%  อาการตัวแดงทั้งตัวพบได้บ่อยที่สุด เวลามีผื่นลักษณะนี้ มักจะมีไข้และมีอาการอื่นๆ ของโควิด-19 ร่วมด้วย จึงสามารถสรุปความเป็นไปได้ว่าติดเชื้อ 

 

ประเภทที่ 3: ตุ่มน้ำ คล้ายผื่นสุกใส (Varicella-Like) Eruptions 9%

กระจายตามตัว คล้ายผื่นสุกใส เกิดหลังมีอาการทางกาย โดยเฉลี่ยประมาณ 3 วัน  

 

ประเภทที่ 4: ผื่นบริเวณนิ้วเท้า หรือ COVID TOEs (Chilblain) 19% 

เป็นผื่นลักษณะพิเศษ ชนิดนี้พบมากในเด็ก และ Young Adult โดยจะพบในชาติพันธุ์กลุ่ม Caucasian มากกว่าคนผิวสี อาการจะมีผื่นเป็นตุ่ม เจ็บๆ คันๆ ที่เท้าหรือนิ้วเท้า แตกต่างจากชนิดอื่นๆ ตรงที่มักไม่แสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ หรือมีอาการน้อยมาก เมื่อเจอควรไปพบแพทย์

 

ประเภทที่ 5: ผื่นแดงตาข่าย หรือเส้นใยเล็กๆ (Livedo Reticularis) พบได้น้อย ชนิดนี้เกิดจากระบบไหลเวียนของเส้นเลือดไหลช้า เวลาเกิดจะมีลักษณะตัวลายๆ เป็นตาข่าย   

 

ประเภทที่ 6: จุดเลือดออกใต้ผิวหนัง  (Vasculitis) 6%

ผื่นที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยอักเสบ เป็นที่ขาเป็นหลัก กระจายทั่วทั้งขา (เรียกได้ว่าเป็นขั้นกว่าประเภทที่ 5) พบในเคสที่มีอาการรุนแรง ซึ่งทั้งชนิดที่ 5 และ 6 มักจะมีอาการทางเดินหายใจอื่นๆ ร่วมด้วย 

 

สิ่งที่เราสามารถสรุปได้เพื่อเป็นแนวทางการสังเกตอาการ มีดังต่อไปนี้ 

1. จากการเกิดผื่นทั้งหมด 6 ลักษณะ มีผื่นเฉพาะชนิดลมพิษ ผื่นแดงตามตัว และผื่นบริเวณนิ้วเท้า ที่พบมากที่สุดในกรณีของผู้ติดเชื้อโควิด-19 

2. สำหรับกรณีของลมพิษ หากผู้ป่วยมีโรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว และมีการเกิดลมพิษบ่อยๆ ให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้ 

  • ถ้าลมพิษหายได้หลังกินยาแก้แพ้ อาจระบุได้เบื้องต้นว่าไม่เกี่ยวกับโควิด-19 
  • ถ้าไม่หาย และมีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจตามมา เช่น ไอ ไข้ขึ้น เจ็บคอ (ทั้งนี้อาจไม่แสดงอาการทันที และกินเวลาต่อเนื่องได้ 3-4 วัน) ควรไปพบแพทย์ 
  • ถ้าเป็นลมพิษที่เกิดขึ้นใหม่ หลังการเดินทางไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยง ควรไปพบแพทย์

 

3. สำหรับผื่นประเภทตุ่มใสบริเวณนิ้วเท้า (COVID TOEs) เราเรียกได้ว่าเป็นอาการบ่งชี้เฉพาะของการติดเชื้อโควิด-19 หมายความว่า หากเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที เพราะความน่าจะเป็นที่ตุ่มใสนี้จะเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นมีน้อยมาก ต่างจากลมพิษที่มีความน่าจะเป็นอื่น

4. ความแตกต่างคือ อาการลมพิษที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้น จะมักมีอาการทางระบบทางเดินหายใจตามมา ในขณะที่ COVID TOEs หรือผื่นขึ้นบริเวณนิ้วเท้า สามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีอาการทางเดินหายใจ

5. จนถึงตอนนี้ในประเทศไทยยังมีรายงานผู้ป่วยที่เกิดผื่นบริเวณนิ้วเท้าน้อยมาก เพราะอาการนี้พบน้อยในประเทศเขตร้อน พบมากในทวีปยุโรป พบมากในกลุ่ม Caucasian แต่อย่างไรก็ตาม ควรติดตามการรายงานจากแพทย์ เพราะถือเป็นอาการใหม่ในบ้านเราเช่นกัน

6. สุดท้าย ทางที่ดีที่สุดคือเช็กให้แน่ชัดว่าคุณได้เดินทางไปอยู่ในจุดเสี่ยงหรือไม่ ผื่นอาการตามร่างกายเกิดขึ้นแตกต่างจากโรคประจำตัวหรือไม่ และหากผื่นตามมาด้วยอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจควรพบแพทย์ทันที 

 

หมายเหตุ:

ตัวเลขแสดง % ทางด้านหลังชื่อประเภทผื่นแต่ละชนิด แสดงถึงเปอร์เซ็นต์การเกิด เมื่อเทียบกับผื่นผิวหนังทั้งหมด

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X