วันนี้ (13 ธันวาคม) ศาลแขวงดุสิตนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ แกนนำกลุ่มราษฎร ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1 จากการเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือลาออกให้นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล
ภัสราวลีเดินทางมารับฟังคำพิพากษาของศาล โดยกล่าวว่า ช่วงที่มีการนำสืบพยาน ได้ยืนยันในหลักการณ์ว่าประชาชนมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพราะทนไม่ไหวแล้ว รวมถึงยืนยันว่าเป็นสิทธิที่ประชาชนทำได้และเรียกร้องได้ วันนี้ต้องลุ้นว่าศาลจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งคดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการพิพากษาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง คาดว่าจะส่งผลต่อการพิจารณาคดีของเพื่อนๆ ด้วย ซึ่งมีประมาณ 10 คนที่ร่วมกิจกรรมในวันนั้นถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง โดยคดีของตนเป็นการสืบคดีแยก และพิพากษาเป็นคดีแรก
ต่อมาภายหลังฟังคำพิพากษา เวลา 11.00 น. ภัสราวลีเปิดเผยว่า ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยศาลวินิจฉัยว่า ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง จะถูกบังคับใช้ก็ต่อเมื่อเป็นสถานการณ์ที่ฉุกเฉินร้ายแรงจริงๆ ถึงบังคับใช้ได้ และการกระทำนั้นไม่เข้าข่ายเป็นการมั่วสุม ซึ่งคำว่า มั่วสุม ตามพจนานุกรมเป็นการรวมกลุ่มรวมตัวกันเพื่อเจตนาที่ไม่ดี แต่การชุมนุมของประชาชนเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญที่พึงกระทำได้
ภัสราวลียังระบุด้วยว่า ส่วนตัวพอใจมากๆ ในคำพิพากษาของศาลในครั้งนี้ รู้สึกเห็นแนวทางทิศทางที่เริ่มดีขึ้นในระบบกระบวนการยุติธรรม เริ่มมีความเชื่อถือ เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง อยากให้ทุกศาลที่พิจารณาคดีทางการเมืองมีความยุติธรรมและเป็นธรรมในการพิจารณาตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น และพิจารณาตามเหตุและผลตามความถูกต้อง คาดหวังว่าการพิจารณาคดีของเพื่อนๆ จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นการกระทำที่เป็นไปตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญ