อินโดนีเซียไม่ใช่ประเทศแรกในโลกที่ต้องการจะย้ายเมืองหลวง ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมามีประเทศจำนวนไม่น้อยเคยเปลี่ยนทำเลที่ตั้งของเมืองหลวงด้วยเหตุผลต่างๆ ประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตไฟป่าในแอมะซอนอย่างบราซิลก็เคยทำการย้ายเมืองหลวงจากรีโอเดจาเนโรมายังกรุงบราซิเลียเมื่อปี 1960 เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องความหนาแน่นของประชากรที่มีมากเกินไป ประกอบกับทำเลที่ตั้งของรีโอเดจาเนโรอยู่ห่างจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศมากพอสมควร
ปากีสถาน ประเทศที่ตกอยู่ในห้วงของความรุนแรงและความขัดแย้งก็เคยย้ายเมืองหลวงจากการาจี เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดของประเทศมายังกรุงอิสลามาบัดอย่างเป็นทางการในปี 1967 ซึ่งขณะที่ทำการก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่นี้ เมืองราวัลปินดีก็เคยเป็นเมืองหลวงของปากีสถานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในปัจจุบันการาจีก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของปากีสถาน
โกตดิวัวร์ หรือประเทศที่เราคุ้นหูกันในชื่อไอวอรีโคสต์ ก็เป็นประเทศในแอฟริกาตะวันตกที่เคยประกาศย้ายเมืองหลวงเช่นกันเมื่อปี 1983 โดยย้ายจากอาบีจาน เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและถือเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินและการธนาคารของประเทศมายังกรุงยามูซูโกร ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Felix Houphouet-Boigny อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีคนแรกของโกตดิวัวร์ นับตั้งแต่ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 1960 แม้ในปัจจุบันกรุงยามูซูโกรจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของโกตดิวัวร์อย่างเป็นทางการ แต่อาบีจานก็ยังถือเป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ต่างจากกรุงการาจีของปากีสถาน
ไนจีเรีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในแอฟริกา ก็เคยประกาศย้ายเมืองหลวงเมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ที่ผ่านมา เนื่องด้วยการเผชิญสภาพปัญหาความแออัดของประชากร รวมถึงความแตกแยกทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ทางการไนจีเรียเริ่มต้นออกแบบเมืองหลวงแห่งใหม่ที่ชื่อกรุงอาบูจา ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงเก่าอย่างลากอสเป็นระยะทางราว 480 กิโลเมตร
คาซัคสถาน ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Landlocked Country) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้ประกาศย้ายเมืองหลวงจากอัลมาตีมายังกรุงอัสตานาเมื่อปี 1997 ที่ผ่านมา และได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘นูร์ซุลตาน’ ในปี 2019 นี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ นูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถาน ที่ปกครองประเทศมานานเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาก็เพิ่งจะมีประสบการณ์ย้ายเมืองหลวงเมื่อปี 2005 ที่ผ่านมา โดยย้ายจากย่างกุ้งไปยังกรุงเนปยีดอ ส่วนสาเหตุในการย้ายเมืองหลวงไม่เป็นที่แน่ชัด บ้างก็เชื่อว่าเป็นเพราะจุดทำเลที่ตั้งใหม่นั้นดีกว่า ยากแก่การรุกรานของข้าศึกที่ต้องการจะเข้ามารุกราน บ้างก็เชื่อว่าเป็นไปเพื่อที่จะมีอำนาจควบคุมกลุ่มชาติพันธุ์น้อยใหญ่ภายในประเทศ
โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศล่าสุดที่เดินหน้าประกาศย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาที่ตั้งอยู่บนเกาะชวาไปยังจังหวัดกาลีมันตันตะวันออกที่ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว หลังประสบปัญหาการจราจรติดขัด ความเสี่ยงการเป็นเมืองจมน้ำ รวมถึงความแออัดของประชากรในเมืองหลวงซึ่งมีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 10 ล้านคน โดยรัฐบาลเตรียมทุ่มเงินกว่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.05 ล้านล้านบาท) คาดจะเริ่มต้นสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ในปี 2021 และใช้เวลาในการย้ายเมืองหลวงราว 5-10 ปี ส่วนประเทศไทยเองก็เคยมีความคิดที่จะย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ในสมัยนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนจะได้รับมติคัดค้านในท้ายที่สุด
ภาพประกอบ: กริน ลีราภิรมย์
อ้างอิง:
- www.worldatlas.com/articles/countries-who-have-changed-capital-cities.html
- mentalfloss.com/article/21469/8-countries-states-moved-their-capitals
- www.telegraph.co.uk/travel/lists/countries-that-moved-capital-city
- www.abc.net.au/news/2019-08-27/indonesias-new-capital-city-announced-in-kalimantan-on-borneo/11451654
- www.bbc.com/news/world-asia-49470258
- www.bbc.com/news/world-49406700
- www.thaipost.net/main/detail/41621