ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศในประชาคมโลกต่างตื่นตัวกับประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะที่โลกมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น เกือบทุกประเทศจึงพยายามที่จะร่วมมือกันต่อสู้และรับมือกับปัญหานี้ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีขึ้นเมื่อปี 2015 โดยพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจะต้องได้รับการปรับสมดุลให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับหรือถูกนำออกจากระบบ รวมถึงอาจหันมาใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลและติดตามการทำงานของประเทศต่างๆ โดย Energy & Climate Intelligence Unit พบว่า ประเทศในลาตินอเมริกาอย่างซูรินาเม และประเทศเล็กๆ ในเอเชียใต้อย่างภูฏาน ถือเป็นเพียงสองประเทศที่ทำผลงานได้ดี โดยสามารถดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาในชั้นบรรยากาศ
โดยเมื่อช่วงกลางปี 2019 ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักร ภายใต้การบริหารประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ แสดงจุดยืนสำคัญ ผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่จะทำให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และตั้งเป้าจะยุติการผลิต จำหน่าย และนำเข้ายานพาหนะที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป ส่งผลให้กระแส #NetZero ได้รับความสนใจเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งสหราชอาณาจักรนับเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G-7) ที่ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมในประเด็นนี้
ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเป็นประเทศที่ 2 ในกลุ่ม G-7 ที่แสดงจุดยืนเข้าร่วมพิชิตเป้าหมายนี้ โดยตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 โดยเริ่มต้นจากการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง 30-40% ภายในปี 2030
ทางด้านนิวซีแลนด์เองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งเป้าไว้ที่ปี 2050 โดยระยะแรกตั้งเป้าจะผลิตกระแสไฟฟ้าราว 80% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งประเทศจากพลังงานหมุนเวียน ภายในปี 2035 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 10% จากประมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยในปี 2017 ให้ได้ภายในปี 2030 ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงอีกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงมากก็ประกาศจุดยืนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยจะลดการพึ่งพาการใช้พลังงานฟอสซิลและพลังงานจากถ่านหินลง พร้อมทั้งหันมาสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น
ส่วนมหาอำนาจอย่างจีน ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกก็ได้ให้คำมั่นเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2020 จะร่วมต่อสู้กับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมตั้งเป้าไว้ภายในปี 2060 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำจีนอย่างสีจิ้นผิงประกาศชัดร่วมผลักดันเป้าหมายของความตกลงปารีสในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
ขณะที่สหรัฐอเมริกา ภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นประเทศแรกที่ถอนตัวจากการเป็นภาคีของความตกลงปารีส โดยอ้างว่า ความตกลงดังกล่าวเอาเปรียบสหรัฐฯ และพลเมืองอเมริกัน เงื่อนไขที่จะให้สหรัฐฯ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 26% เป็น 28% ภายในปี 2025 นั้นอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ อาจแสดงความจำนงขอกลับเข้าร่วมความตกลงนี้อีกครั้ง เมื่อ โจ ไบเดน ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ แล้วในปี 2021 โดยสหรัฐฯ เคยตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี 2050
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://eciu.net/analysis/briefings/net-zero/net-zero-why
- https://eciu.net/netzerotracker
- https://www.nsenergybusiness.com/news/countries-net-zero-emissions/
- https://www.oxfordlearnersdictionaries.com/definition/english/zero-carbon