×

กนง.-กนส. ชี้ ระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพรองรับวิกฤตได้ เร่งวางมาตรการรับมือ หลังหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

12.07.2021
  • LOADING...
การเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยที่ประชุมเห็นว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง 

 

ขณะที่ตลาดการเงินมีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ โดยการทดสอบภาวะวิกฤตระดับมหภาค (Macro Stress Test) ที่หน่วยงานกำกับดูแลจัดทำ พบว่า ธนาคารพาณิชย์, บริษัทหลักทรัพย์, กองทุนรวม และบริษัทประกันภัย มีสภาพคล่องเพียงพอ และมีฐานะทางการเงินที่สามารถรองรับภาวะวิกฤตได้

 

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส อีกทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าลงและไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอยู่เดิม ทำให้ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้น้อยยิ่งมีความเปราะบาง 

 

แม้ที่ผ่านมาทางการได้มีมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาภาระทางการเงินแก่ภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเตรียมมาตรการเพื่อดูแลความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและไม่ให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (Economic Scar) ที่รุนแรง จนเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว และส่งผ่านความเสี่ยงไปยังระบบการเงินได้

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน และให้น้ำหนักกับการดูแลความเสี่ยงใน 2 ประเด็นหลัก คือ

 

1. ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึง 90.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และวิกฤตโควิดได้ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นปัญหามากยิ่งขึ้นในช่วงวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยหรือเศรษฐกิจเผชิญความผันผวนสูง 

 

ที่ประชุมมองว่า มาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการคือ การเร่งผลักดันและกำหนดกลไก เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระหนี้สูงอย่างจริงจัง โดยมีการติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี จากการประเมินเบื้องต้น ขนาดของความช่วยเหลือที่ภาคครัวเรือนต้องการ อาจสูงเกินกว่าที่จะให้เป็นภาระของสถาบันการเงินเพียงฝ่ายเดียว จึงจำเป็นต้องพิจารณาบทบาทของภาครัฐและตลาดทุนประกอบไปด้วย 

 

นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความซับซ้อนในการแก้ไข เนื่องจากต้องคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการเกิด Moral Hazard และเกือบ 1 ใน 4 ของตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ ธปท. เผยแพร่เป็นหนี้ของสถาบันการเงินที่อยู่นอกการกำกับดูแลของ ธปท. และตัวเลขนี้ยังไม่ได้นับรวมหนี้บางชนิด เช่น หนี้นอกระบบ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องทำแบบองค์รวม อีกทั้งควรเร่งฟื้นฟูรายได้ของครัวเรือนอย่างยั่งยืนควบคู่กันไป เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างครบวงจร

 

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาวนั้นต้องมีการเตรียมการทั้งในเรื่อง 

 

  1. โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลเครดิตที่ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมดของครัวเรือน
  2. การผลักดันให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
  3. การส่งเสริมให้ลูกหนี้มีความเข้าใจและมีวินัยทางการเงิน
  4. การส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการทางการเงินทางเลือกเพื่อช่วยลดหนี้นอกระบบ

 

2. การสะสมความเสี่ยงในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในระยะข้างหน้า เช่น พฤติกรรมของนักลงทุนบางกลุ่มที่แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยประเมินความเสี่ยงของการลงทุนต่ำกว่าที่ควร (Search for Yield Behavior) ซึ่งอาจได้รับผลกระทบเมื่อมีการปรับขึ้นของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ย จึงจำเป็นต้องพิจารณากรอบและแนวทางในการดำเนินมาตรการดูแลเสถียรภาพระดับมหภาค (Macro-Prudential) ให้พร้อมใช้ในกรณีที่จำเป็น หลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง โดยบูรณาการร่วมกันระหว่าง ธปท. และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อช่วยลดการสะสมความเสี่ยงและป้องกันการส่งผ่านความเสี่ยงจากภาคส่วนหนึ่งไปยังภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจการเงิน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising