×

เปิดฉายาสภา ปี 2566 ‘สภาลวงละคร’ พิธาได้ ‘ดาวดับ’ ยก ‘เลือกนายกฯ (3 รอบ)’ เหตุการณ์แห่งปี

โดย THE STANDARD TEAM
27.12.2023
  • LOADING...

เปิดฉายาสภา ปี 2566 ‘สภาลวงละคร’ พิธาได้ ‘ดาวดับ’ ยก ‘เลือกนายกฯ (3 รอบ)’ เหตุการณ์แห่งปี

 

วันนี้ (27 ธันวาคม) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมร่วมกันของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาได้มีความเห็นร่วมกันในการตั้งฉายาของรัฐสภาตลอดปี 2566 

 

ทั้งนี้ การตั้งฉายาการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง สส. และ สว. เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาทุกปี ในฐานะที่ติดตามการทำหน้าที่ของ สส. และ สว. อย่างใกล้ชิด เพื่อสะท้อนความคิดเห็นในการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา 

 

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนขอเป็นกำลังใจให้ สส. และ สว. ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีอยู่แล้วให้มุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ สส. และ สว. ที่บกพร่องในการทำหน้าที่ ขอให้ทบทวน ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนต่อไป ซึ่งมีความเห็นร่วมกันดังนี้ 

 

ฉายาสภา ปี 2566

 

1. สภาผู้แทนราษฎร (สส.): สภาลวงละคร

สภาที่มีการชิงไหวชิงพริบเพื่อเป็นเจ้าของอำนาจ มีการเจรจาจับมือกันหลายฝ่าย โดยในครั้งแรกพรรคเพื่อไทยเล่นตามบทเป็นมวยรอง แต่สุดท้ายใช้สารพัดวิธีพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีแต่การหักเหลี่ยม เฉือนคม ตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี จนถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้กระทั่งการหักหลังฝ่ายเดียวกันเองระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่เคยเป็นฝ่ายเดียวกัน จับมือต่อสู้กันมาก่อน จนถึงขั้นฉีก MOU ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเล่นตามบทของพรรคอันดับรอง จับมือกอดคอกันอย่างหวานเจี๊ยบ เปรียบเสมือนโรงละครโรงใหญ่ที่มีแต่ฉากการหลอกลวง

 

2. วุฒิสภา: แตก ป. รอ Retire

ล้อมาจากฉายาของวุฒิสภาในปี 2565 คือ ตรา ป. ที่ สว. ทำหน้าที่รักษามรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประโยชน์ของ 2 ป. คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ ป.ประยุทธ์ และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี หรือ ป.ประวิตร แบบไม่มีแตกแถว แต่ในปีนี้ทั้ง 2 ป. ได้แยกทางกัน ซึ่งในการลงมติเลือกนายกฯ ที่ผ่านมา สว. ฝ่าย ป.ประยุทธ์ ได้ลงมติยอมสนับสนุน เศรษฐา ทวีสิน สวนทางกับ ป.ประวิตร ที่งดออกเสียง และ สว. กำลังจะหมดอำนาจหน้าที่ในเดือนพฤษภาคม 2567 จึงเป็นเสมือนการรอเวลาเกษียณ หมดเวลาการทำหน้าที่ สว. 

 

3. วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร: (วัน)นอ-มินี

เนื่องจากตำแหน่งนี้เป็นที่แย่งชิงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมาก่อน ก่อนที่จะเห็นร่วมกันว่าใช้โควตาคนนอก พรรคเพื่อไทยจึงได้เสนอชื่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา สส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติในขณะนั้น เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ยอมรับ ดังนั้นวันมูหะมัดนอร์จึงเป็นเสมือนนอมินีของการแย่งชิงครั้งนี้ ทั้งที่จำนวนเสียง สส. ที่มีก็ไม่ได้เพียงพอต่อการชิงตำแหน่งประธานสภา แต่ก็ถือเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยที่พรรคพร้อมให้การสนับสนุน ทั้งยังเคยเป็นคนของพรรคเพื่อไทยมาก่อนด้วย

 

4. พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา: แจ๋วหลบ จบแล้ว

เปรียบเสมือนบทบาทของผู้รับใช้ ซึ่งเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา พรเพชรถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าเป็นผู้รับใช้ คสช. แต่เมื่อเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในยุคปัจจุบัน บทบาทของพรเพชรในฐานะประธานวุฒิสภาพยายามหลบแรงปะทะ ไม่แสดงความเห็นที่เสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งมากนัก รวมถึงไม่ออกสื่อ เพื่อรอเวลาวุฒิสภาหมดวาระในการทำหน้าที่ สว. ในเดือนพฤษภาคม 2567 

 

5. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร: งด

ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาเห็นควรว่าควรงดตั้งฉายา เนื่องจากเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ และยังไม่ได้เริ่มทำงานในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

 

6. ดาวเด่น: งด

ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาเห็นว่าไม่มีผู้ใดเหมาะสมและโดดเด่นเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว 

 

7. ดาวดับ: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล 

พิธามีความโดดเด่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งรับทราบผลเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้จำนวน สส. มากที่สุด เดินสายขอบคุณประชาชน พบหน่วยงานต่างๆ ประหนึ่งว่าเป็นนายกฯ แล้ว พลอยให้บรรดาด้อมส้มเรียก ‘นายกฯ พิธา’ ทำให้เกิดกระแสพิธาฟีเวอร์ แต่สุดท้ายกลับไปไม่ถึงดวงดาว สภาไม่ได้เหยียบ ทำเนียบไม่ได้เข้า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งแขวน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จากคดีหุ้น ITV ที่ยังลูกผีลูกคน จึงเป็นดาวที่เคยจรัสแสง แต่ตอนนี้ได้ดับลงแล้ว

 

8. วาทะแห่งปี: นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หนึ่งในแกนนำทีมเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ลุกขึ้นชี้แจงคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ว่า 

 

“เราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเราเป็นพรรคอันดับ 2 มีความยินดีร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล และถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เราเป็นพรรคอันดับ 2 สามารถที่จะแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้ากลไกการเมืองและรัฐธรรมนูญมันปกติ แต่ด้วยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญแบบนี้ เราไม่ร่วมมือกันไม่ได้ แต่เราก็คิดผิด เพราะว่ายิ่งเราจับมือกันยิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้”

 

9. เหตุการณ์แห่งปี: เลือกนายกรัฐมนตรี (3 รอบ)

ถือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่มีการเลือกนายกฯ มากถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อคือพิธา แต่ปรากฏว่าได้รับความเห็นชอบไม่ถึง 376 เสียง ทำให้มีการโหวตเลือกผู้ที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ รอบที่ 2 อีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 แต่ปรากฏว่าในที่ประชุมรัฐสภากลับมีการถกเถียงกันถึงข้อบังคับการประชุมว่าจะสามารถเสนอรายชื่อพิธาซ้ำได้หรือไม่ เนื่องจากมีความเห็นว่าญัตติที่เสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ ตกไปแล้ว ไม่สามารถนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ แม้วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะเปิดลงมติตามข้อบังคับที่ 151 ปรากฏว่าเสียงกึ่งหนึ่งเห็นว่าไม่สามารถเสนอชื่อพิธาซ้ำได้

 

จากนั้นช่วงเช้าของวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ชัยธวัช ตุลาธน ได้แถลงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น นพ.ชลน่าน ในนามของพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวจับมือตั้งรัฐบาลเพื่อไทย 314 เสียง กับ 11 พรรคการเมืองที่เคยเป็นพรรครัฐบาลเดิมในสมัย พล.อ. ประยุทธ์ เป็นเหตุให้วันที่ 22 สิงหาคม วันมูหะมัดนอร์ได้นัดประชุมรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ เป็นครั้งที่ 3 โดยมีการเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ สุดท้ายก็ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาด้วยเสียง 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง ทำให้เศรษฐาเป็นนายกฯ คนที่ 30

 

10. คู่กัดแห่งปี: งด

ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาเห็นควรว่าควรงดตั้งฉายาคู่กัดแห่งปี เนื่องจากเพิ่งเปิดสมัยประชุมได้เพียงสมัยเดียว และเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเลือกนายกฯ รวมถึงตรงกับช่วงปิดสมัยประชุม จึงยังไม่มีใครเป็นคู่กัดที่ชัดเจน มีเพียงการปะทะคารมในบางเหตุการณ์เท่านั้น

 

11. คนดีศรีสภา: งด

สื่อมวลชนประจำรัฐสภามีความเห็นร่วมกันว่ายังไม่มี สส. หรือ สว. คนใดเหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X