×

สภาเสียงข้างมาก ‘เห็นชอบ’ รายงานแลนด์บริดจ์ พิธาถาม ลงทุน 1 ล้านล้านคุ้มค่าหรือไม่ ศิริกัญญาชี้ กำลังรับรองความผิดพลาด

โดย THE STANDARD TEAM
15.02.2024
  • LOADING...

วันนี้ (15 กุมภาพันธ์) ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อเข้าสู่วาระการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ที่มี วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการ หลังพิจารณาเสร็จแล้ว 

 

ขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ว่า ตนเองในฐานะอดีตกรรมาธิการที่ศึกษาแลนด์บริดจ์ฉบับนี้และได้ลาออก เพราะไม่สามารถให้ความเห็นต่อรายงานฉบับดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันนับตั้งแต่วันที่ตนเองนั้นได้ลาออกมา ไม่ได้มีการแก้ไขรายงานเพิ่มเติม

 

ศิริกัญญากล่าวต่อว่า คณะกรรมาธิการฯ มีธงที่จะดำเนินการโครงการอยู่แล้ว เพราะแลนด์บริดจ์กลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล แม้ว่าจะไม่มีการแถลงนโยบายดังกล่าวต่อรัฐสภาก็ตาม แต่สิ่งที่ตนเองมีความกังวลใจคือ ได้มีการศึกษาโครงการดังกล่าวมาอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน ถูกต้อง และมีสมมติฐานที่สมเหตุสมผลหรือไม่ 

 

“ในเมื่อพวกท่านไม่ให้ดิฉันสอบถามใน กมธ.แลนด์บริดจ์ ดิฉันก็จะไปสอบถามที่อื่นๆ ในที่สาธารณะ ตามสื่อต่างๆ รวมถึง กมธ.งบประมาณ ดิฉันได้คำตอบเพิ่มเติม แม้กรรมาธิการฯ หลายคนบอกว่าดิฉันไม่ตั้งใจฟัง ไม่เข้าประชุม และมาสาย” ศิริกัญญากล่าว

 

ศิริกัญญากล่าวว่า ตนเองได้รับคำตอบจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่ได้ส่งข้อมูลให้กับ กมธ.งบประมาณ ปี 2567 โดยเฉพาะความคุ้มค่าของเส้นทางการเดินเรือ 

 

ศิริกัญญากล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่น่ากังวลที่สุดของโครงการแลนด์บริดจ์คือ การคำนวณการเติบโตของ GDP โดยการใช้ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือ Tanjung Pelepas ของมาเลเซีย ที่มีการตั้งตัวเลขสูง สนข. ได้ให้ข้อมูลกับ กมธ.งบประมาณว่า จริงๆ แล้วไม่ได้ใช้ แต่ในรายงานนี้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าจะมีประมาณการตัวเลข GDP จากท่าเรืออื่นๆ ด้วย โดยใช้การเติบโต GDP ของประเทศคู่ค้าแทน ซึ่งตนเองมองว่าเป็นเรื่องประหลาด แต่ที่หนักกว่านั้นคือ มีการพิจารณาถึงปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือมะละกาที่โตเพียง 14% แต่มีการประมาณการปริมาณสินค้าที่ผ่านท่าเรือแลนด์บริดจ์เติบโตถึง 2 เท่าในช่วง 5 ปี โดยเราจะสามารถเชื่อรายงานฉบับนี้ของ สนข. ได้อยู่หรือไม่ 

 

ศิริกัญญากล่าวต่อว่า รายงานฉบับนี้การประเมินความคุ้มค่าของโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะคืนทุนภายใน 24 ปี โดยที่มีผลตอบแทนทางการเงินอยู่ที่ 8.62% นั้น ตนเองซึ่งได้ข้อมูลมาจาก สนข. ที่ได้ข้อมูลให้กับ กมธ.งบประมาณว่า รายได้จากท่าเรือมีจำนวนที่สูงมาก โดยในปีแรกมีการประมาณการว่าจะได้รายได้จากท่าเรืออยู่ที่ 58,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่มาจากการขายน้ำมัน 50,000 ล้านบาท และเป็นรายได้ที่มาจากท่าเรืออีก 8,000 ล้านบาท 

 

ศิริกัญญากล่าวอีกว่า 50,000 ล้านบาทที่มีรายได้มาจากการขายน้ำมันนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร หากประเทศไทยไม่มีโรงกลั่นเอง กำไรที่จะได้จากการขายน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ถ้าหากจะมีกำไร 50,000 ล้านบาท หมายความว่าเราจะต้องมีการขายน้ำมันถึง 140 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 3 เท่าของท่าเรือสิงคโปร์ที่ขายได้เพียง 45 ล้านตันต่อปีเท่านั้น 

 

“เรากำลังศึกษาอะไรกันอยู่ในรายงานฉบับนี้ และกำลังรับรองความผิดพลาดอะไรกันอยู่ ท่านไม่อายแต่ดิฉันอาย เวลาที่นายกรัฐมนตรีต้องออกไปพูดกับต่างชาติเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์โดยที่เนื้อในเป็นแบบนี้ เราไม่ได้ทำเพราะเป็นฝ่ายค้าน แต่เราต้องรักษาภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีของเราไว้บ้าง ดิฉันไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ยินดีและพร้อมใจที่จะรื้อรายงานของ สนข. และรื้อรายงานของคณะกรรมาธิการอีกครั้ง รวมถึงศึกษาหรือมีแนวทางใหม่ที่คุ้มค่า ดิฉันก็ยินดีที่จะสนับสนุนโครงการใหม่นั้น” ศิริกัญญากล่าว 

 

สส.ใต้ ภูมิใจไทย ชี้ 4 ต้องตระหนัก

 

ทั้งนี้ ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สส. สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายแสดงความกังวลว่า การลงทุนโครงการนี้เป็นของเอกชนร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ มีทางเลือกอื่นหรือไม่ หากเอกชนไม่ให้ความสนใจ และใช้หลักอะไรกับการให้สัมปทานโครงการ 50 ปี แม้โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อภาคใต้ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักมี 4 ข้อ 

 

  1. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 
  2. ค่าตอบแทนเวนคืนต้องเป็นธรรม 
  3. การจัดการไฟฟ้า แหล่งน้ำในพื้นที่พาดผ่าน จะจัดการอย่างไรไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ 
  4. การอ้างข้อมูลการจ้างงานในพื้นที่จะหลอกชาวบ้านหรือไม่ สิ่งที่ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นโครงการคือ ข้อมูลหน่วยงานรัฐมีความสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ ขอให้ กมธ. ทบทวนฟังความเห็นต่างของ สส. ด้วย

 

พิธาถาม ลงทุน 1 ล้านล้านคุ้มค่าหรือไม่

 

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย พร้อมตั้ง 3 คำถามจากระดับมหภาคสู่จุลภาค 

 

  1. ลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์โครงการเดียว 1 ล้านล้านบาท จะสามารถกระจายโอกาสให้กับผู้คนในภาคใต้ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาทอาจใช้การลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศได้ แต่ความเสี่ยงที่รัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่าการเวนคืนที่ดินคือ มอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ-โคราช ที่รัฐบาลจะต้องจัดเงินอุดหนุน

 

  1. จัดการความเสี่ยงจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างไร เนื่องจากโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่จะต้องเวนคืนพื้นที่ทั้งสวนทุเรียนและสวนผลไม้ที่มีมูลค่าสูงหลายหมื่นไร่ เรื่องการสูญเสียพื้นที่ประมง และปัญหาน้ำมันรั่วอุบัติภัยทางทะเล

 

  1. วางภาคใต้และประเทศไทยอย่างไรระหว่างแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกและเส้นทางเสริมเรือฟีดเดอร์ โดยสิ่งที่ต้องแลกระหว่างโครงการแลนด์บริดจ์และมรดกโลก สิ่งแวดล้อม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่วางยุทธศาสตร์ขณะนี้ไปจนถึงอนาคตอาจหายไป โดยมูลค่าการท่องเที่ยวเฉพาะภาคใต้ขณะนี้คิดเป็น 30% ของประเทศที่ 7 แสนล้านบาทต่อปี หากกระทบการท่องเที่ยวที่ 10% 50 ปีอาจสูญเสียรายได้ถึง 3.5 ล้านล้านบาท 

 

พิธากล่าวว่า หากรัฐบาลไม่สามารถที่จะตอบทั้ง 3 คำถามสำคัญดังกล่าวได้ ตนก็ไม่สามารถเห็นชอบต่อรายงานฉบับนี้ได้

 

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 17.00 น. หลังจากสมาชิกใช้เวลาอภิปรายแสดงความคิดเห็นนานเป็นเวลา 4 ชั่วโมง 15 นาที ที่ประชุมก็มีมติเห็นด้วยกับรายงาน 269 เสียง ไม่เห็นด้วย 147 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นชอบกับรายงานฉบับนี้

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising