×

อัยการสอบสวนนำ 30 ผู้ต้องหาคดี ‘เป้รักผู้การ’ ส่งให้อัยการปราบทุจริตฯ รับเป็นคดีอุ้มหายแรกที่ผู้ต้องหาเป็นตำรวจจำนวนมาก

โดย THE STANDARD TEAM
28.08.2024
  • LOADING...
วัชรินทร์ ภาณุรัตน์

วันนี้ (28 สิงหาคม) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก วัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน หัวหน้าชุดคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนในคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับทรัพย์จากเครือข่ายเว็บไซต์พนันออนไลน์ 140 ล้านบาท พร้อมคณะทำงานสอบสวน นำสำนวนพร้อมเอกสารพยานหลักฐาน 55 แฟ้ม จำนวนเอกสารมากกว่า 20,658 หน้า พร้อมความเห็นทางคดีมาส่งให้ สุรพันธ์ กิจพ่อค้า อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต เพื่อพิจารณาสั่งคดี 

 

โดยในวันนี้ ผู้ต้องหาทุกคนเดินทางมาตามนัดส่งตัว

 

ภายหลังรับตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวน วัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย สุรพันธ์ กิจพ่อค้า อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต, รชต พนมวัน อัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 และ พ.ต.อ. เอกราช อุ่นเจริญ รอง ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา ร่วมแถลงข่าว

 

วัชรินทร์แถลงว่า คดีนี้เป็นไปตามกฎหมายใหม่คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ซึ่งเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ คดีนี้มีอัยการเข้าไปร่วมทำหน้าที่ตรวจสอบ กำกับการสอบสวน และมีตัวแทนของทีมสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ตั้งขึ้นมา คดีนี้ได้ดำเนินคดีกับ พล.ต.ต. กัมพล ลีลาประภาภรณ์ อดีตผู้การชลบุรี กับพวก ซึ่งมีตำรวจที่เกี่ยวข้องในบางหน่วยคือตำรวจ สอท. หรือตำรวจไซเบอร์ และมีพลเรือนเข้าไปเกี่ยวข้อง

 

คดีนี้เป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้นทำหนังสือแจ้งมาทางอัยการสูงสุด มอบหมายให้ตนเข้าไปเป็นหัวหน้าคณะตรวจสอบ กำกับการสอบสวน และตั้งทีมอัยการเข้าไป 10 คนด้วยกัน ผบ.ตร. ก็ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้นใหม่ มีประมาณทั้งหมดเกือบ 100 คน มีระดับนายพลตำรวจประมาณ 10 กว่าคน มี พล.ต.ท. อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจ ใช้ระยะเวลาสืบสวนสอบสวนคดีนี้ 1 ปีเศษ 

 

วัชรินทร์กล่าวว่า ในการสรุปสำนวน เนื่องจากคดีนี้มีเอกสารจำนวนมาก และเราให้โอกาสผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม เรียกว่าอยากให้ทีมเราสอบใครเพิ่มเติมก็สามารถร้องขึ้นมาได้ และผู้ต้องหาก็ร้องขอความเป็นธรรมทั้งหมด โดยอ้างพยานหลักฐาน ซึ่งชุดเราก็ไปสอบสวนให้หมด ไม่ว่าจะอ้างพยานหลักฐานจังหวัดใด เราสอบให้หมด จนกระทั่งสรุปสำนวนก็นำมาปรึกษาหารือกับสุรพันธ์ ตามระเบียบการสอบสวนคดี วันนี้ได้ข้อสรุปในสำนวน

 

โดยมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา 31 คน มี พิสิษฐ์ หรือ ต้น หลบหนี 1 คน และสั่งไม่ฟ้อง 3 คน ในส่วนที่สั่งฟ้องวันนี้เป็นตำรวจ 19 นาย พลเรือน 12 คน ผู้ต้องหาที่หลบหนีดำเนินการขอศาลออกหมายจับแล้ว ส่วนที่สั่งไม่ฟ้อง 3 คน คือ พ.ต.อ. ณรงค์ฤทธิ์, ร.ต.อ. กฤติภาส และ นันทวัฒน์ ซึ่งพิจารณาสำนวนโดยรอบคอบแล้วว่า ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้ง 3 คนกระทำความผิด เห็นควรสั่งไม่ฟ้อง วันนี้ผู้ต้องหามาทั้งหมด 30 คน อัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตนัดฟังคำสั่งวันที่ 26 กันยายน เวลา 10.00 น.

 

โดยหากพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตสั่งฟ้อง ก็จะต้องนำตัวไปฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 

 

เมื่อถามว่า คดีนี้ผู้ต้องหาที่ 1 เป็นใคร วัชรินทร์กล่าวว่า พล.ต.ต. กัมพล ลีลาประภาภรณ์ อดีตผู้การชลบุรี กับพวก โดยข้อหาที่กลุ่มผู้ต้องหาชุดของผู้การชลบุรีถูกดำเนินคดีคือเรื่องการจับกุม เป้ ที่เรียกรับเงินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบกับ พ.ร.บ. ป.ป.ช. และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 7 คือจับผู้ต้องหาได้ ต้องนำส่งพนักงานสอบสวนในท้องที่ แต่ถ้าไม่ได้นำส่งก็จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ชุดของทีมตำรวจชลบุรีโดนข้อนี้

 

ส่วน บอย พัทยา กับ ต้น พัทยา ถูกดำเนินคดีในฐานอื่นด้วย คือแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา 145 และ พ.ร.บ.อุ้มหาย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ไม่ถือว่าพลเรือนเป็นผู้สนับสนุน แต่ถือว่าเป็นตัวการร่วม

 

ส่วนผู้ต้องหาอีกชุดเป็นชุดของตำรวจไซเบอร์ เราพิจารณาดูแล้วเป็นความผิดตามมาตรา 157 คือการเข้าไปตรวจค้นจับกุมในบ้านของเป้ โดยที่ปล่อยให้พลเรือนเข้าไปร่วมตรวจค้น แต่ตำรวจไซเบอร์ 2 นายที่โดนข้อหาดังกล่าวไม่ได้ตามไปที่จังหวัดชลบุรีด้วย และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียกรับหรือยอมจะรับ จึงไม่โดนข้อหาตามมาตรา 149 และ พ.ร.บ.อุ้มหาย

 

เมื่อถามต่อว่า ตำรวจถูกดำเนินคดีจำนวนมากขนาดนี้ มีการวิ่งเต้นคดีหรือข่มขู่หรือไม่ และอัยการกลัวถูกปองร้ายหรือไม่ วัชรินทร์กล่าวว่า ไม่มีทาง ตำรวจก็คงเข้าใจว่านี่คือการทำงาน สมมติว่ามาข่มขู่ชุดเราแล้วชุดเรากลัว เราถอนตัว ก็ต้องมีชุดใหม่เข้ามาอยู่ดี ส่วนวิ่งเต้นก็คงไม่กล้ามาวิ่งเต้น เพราะที่เขาโดนก็หลายข้อหาแล้ว ถ้าจะมาวิ่งเต้นอีกก็จะโดนข้อหาแถม ส่วนเรื่องกลัวตาย ตนไม่กลัว เพราะคนเราเกิดมาครั้งเดียว ตายครั้งเดียว คดีก่อนหน้านี้เสี่ยงภัยมากกว่านี้ก็ทำมาแล้วใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

เมื่อถามต่อว่า ที่บอกว่ามั่นใจในหลักฐาน หากสุดท้ายศาลยกฟ้องทำใจได้หรือไม่

 

วัชรินทร์กล่าวว่า ทำใจได้ เพราะอัยการไม่ได้สร้างมาเพื่อเอาคนเข้าคุก อัยการสร้างมาให้ความเป็นธรรมกับคน อัยการไม่ได้เป็นเหมือนอาชีพที่จะต้องไปเข้าข้างผู้ต้องหาหรือเอาอันตรายไปให้ผู้ต้องหา อัยการจะดูตามพยานหลักฐานว่าถ้าพยานหลักฐานถึงใครอีก เราก็ดำเนินคดี แต่สุดท้ายศาลจะยกฟ้องนั้นเป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งเราทำใจได้ ถ้าเกิดยกฟ้องขึ้นมา อันนั้นเป็นเรื่องปกติ

 

รชต พนมวัน อัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าของสำนวน กล่าวว่า อัยการคดีปราบปรามการทุจริตจะทำคดีที่เกี่ยวกับคดีในศาลฎีกานักการเมือง คดีเกี่ยวกับการทุจริต โดยเราจะทำอย่างมืออาชีพ เราจะมีกรอบเวลาที่ค่อนข้างชัดเจน ครั้งแรกจะให้เสร็จภายใน 1 เดือน เท่าที่ดูตนเชื่อมั่นในชุดพนักงานสอบสวนและสำนักงานการสอบสวนของอัยการว่าสอบสวนต่อค่อนข้างจะครบถ้วน แต่ในส่วนของสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต อัยการขออนุญาตพูดแทนท่านอธิบดีว่า เราก็ต้องมาพิจารณาเริ่มกันใหม่ให้ความเป็นธรรม เพราะบางทีผู้ต้องหาหรือผู้กล่าวหาเขาอาจมีข้อมูลอะไรที่ยังซ่อนอยู่ และถูกพิจารณาครบถ้วนหรือไม่ 

 

อันนี้เป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องดู ไม่ต้องห่วง สำนักงานเราเป็นมืออาชีพเพียงพอที่จะดำเนินคดีนี้ด้วยความเป็นธรรม หลังจากวันนี้ผลคดีเป็นอย่างไร เราจะมีคำอธิบายทั้งหมด ส่วนเรื่องขอความเป็นธรรม เราเปิดโอกาสให้ร้องขอความเป็นธรรมตามระเบียบที่รองรับอยู่แล้ว สามารถดำเนินการได้ แต่ชุดสอบสวนทำคดีมานาน น่าจะมีเข้ามาอยู่ในนี้ครบถ้วนแล้ว เราก็จะรับพิจารณาทั้งหมด ส่วนจะต้องมีคณะทำงานกี่คนยังตอบไม่ได้ ขออนุญาตดูสำนวนก่อน ซึ่งเรามีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านเข้าไปอยู่ในชุด ส่วนเรื่องความหนักใจที่ทำคดีที่มีตำรวจจำนวนมากเป็นผู้ต้องหา เราไม่หนักใจ สำนักงานเรารับคดีที่มีตำรวจเป็นผู้ต้องหาเป็นหลักอยู่แล้ว ทำมาจำนวนมาก เราก็รับทำเต็มที่อยู่แล้ว ที่ผ่านมาคดีสำคัญอย่างคดีอดีตผู้กำกับโจ้ ตนก็ทำมาแล้ว

 

ด้าน วีระ หรือ บอย หนึ่งในผู้ต้องหาในคดีนี้ เปิดเผยว่า ในคดีของตนมองว่าข้อกฎหมายของประเทศไทยเป็นการกล่าวหาไว้ก่อนแล้วค่อยมาต่อสู้หรือชี้แจงด้วยข้อเท็จจริง ซึ่งตนส่งเอกสารและพยานหลักฐานไปหมดแล้ว หลังจากนี้ให้เป็นเรื่องของกฎหมาย พร้อมระบุว่า ความจริงก็คือความจริง ส่วนวันนี้ดีใจที่คนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยรอดหมดแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาคนกลุ่มนั้นถูกกลั่นแกล้ง ถูกจับใส่กุญแจมือเข้าห้องขัง ยึดของกลาง รวมถึงโทรศัพท์ ถือว่าเป็นวิธีการที่โหดร้าย เพราะพวกเขาไม่เกี่ยวข้องด้วยเลย และตอนนี้ของกลางก็ยังไม่ได้คืน ซึ่งตำรวจอ้างว่าหาย และไม่มีใครติดตามหรือช่วยเหลือคดี

 

พร้อมยืนยันว่า ตนไม่เคยมีพฤติกรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่เคยแตะตัวเป้ และไม่เคยกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วยเพราะตนเป็นสายลับคอยให้ข้อมูลกับตำรวจว่าใครทำเว็บพนันบ้าง ซึ่งข้อมูลที่ให้กับตำรวจ ตนไม่รู้รายละเอียดเชิงลึก แต่มีการพูดต่อๆ กันมา ส่วนตำรวจจะไปสืบสวนด้วยวิธีการแบบใดนั้น ตนไม่ทราบ แต่ยอมรับว่าไปชี้เป้าที่บ้านจริง แต่ไม่ได้เข้าไปร่วมจับกุมด้วย ส่วนข้อกล่าวหาที่บอกว่าตนไปล็อบบี้คดี ปฏิเสธว่าไม่มี

 

ส่วนความสนิทสนมของตนกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ยอมรับว่าเคยดูแลนายพลระดับสูงที่เป็นคนดำเนินคดีกับตนเอง เนื่องจากตนทำธุรกิจท่องเที่ยว จึงอำนวยความสะดวกให้นายพลระดับสูงและพรรคพวกระหว่างท่องเที่ยว แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ลูกน้องใคร และไม่เคยทำหน้าที่พ่อบ้านรับเคลียร์หน้าเสื่อให้กับใคร

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising