×

กรมราชทัณฑ์แจงไทม์ไลน์ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ เสียชีวิต สับสน เผยไม่มีหมอเทวดาที่ไหนรักษาผู้ต้องขังที่มีอุดมการณ์อดอาหารได้

โดย THE STANDARD TEAM
15.05.2024
  • LOADING...
กรมราชทัณฑ์ ไทม์ไลน์ การเสียชีวิต บุ้ง ทะลุวัง

วันนี้ (15 พฤษภาคม) นพ.สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ และ นพ.พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ร่วมแถลงข่าวกรณีการเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง นักกิจกรรมทางการเมืองที่เสียชีวิตวานนี้ (14 พฤษภาคม) ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นการเสียชีวิตขณะอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์

 

นพ.สมภพ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับตัวเนติพรมาควบคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 โดยขณะนั้นเนติพรประสงค์อดอาหารอยู่แล้ว ทางทัณฑสถานหญิงกลางได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเนติพรมีอาการอ่อนเพลียจากภาวะอดอาหาร จึงได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในทัณฑสถานหญิงกลาง

 

จากนั้นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม ได้ส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนจะย้ายตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จนกระทั่งวันที่ 4 เมษายน ที่ย้ายกลับมาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์อีกรอบ ซึ่งมีรายงานว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาเนติพรปฏิเสธการรับสารอาหาร ยาบำรุงเลือดต่างๆ เรื่อยมา แต่อยู่ในภาวะทั่วไปที่สามารถรับประทานอาหารเองได้

 

นพ.พงศ์ภัค กล่าวว่า หลังจากที่เนติพรได้กลับมาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ สามารถรับประทานอาหารได้ โดยทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้จัดให้พักในห้องผู้ป่วยรวมที่มี ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน เพื่อนสนิทพักอยู่ด้วย ยืนยันว่าแพทย์และพยาบาลได้เฝ้าตรวจรักษาอาการอยู่ตลอดเวลา

 

การตรวจสุขภาพวันที่ 13 พฤษภาคม พบว่าเนติพรรู้สึกตัวดี มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จนกระทั่งวันเกิดเหตุคือวันที่ 14 พฤษภาคม เวลาประมาณ 06.00 น. เนติพรวูบและหมดสติขณะพูดคุยกับทานตะวัน เจ้าหน้าที่จึงได้ให้การช่วยเหลือ ปั๊มหัวใจ และฉีดยากระตุ้นหัวใจทันที พร้อมประสานส่งตัวไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จนกระทั่งมีข่าวว่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

นพ.สมภพ กล่าวยืนยันว่า กระทรวงยุติธรรมโดยกรมราชทัณฑ์ได้ให้ความสำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและหลักนิติธรรม เฝ้าระวังและดูแลรักษาอาการของเนติพรอย่างใกล้ชิด และเพื่อความโปร่งใส กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสาเหตุการเสียชีวิตของเนติพร ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตจะชี้แจงให้ทราบเมื่อผลการชันสูตรออกมาอย่างชัดเจน

 

สำหรับอาการของเนติพรนั้น นพ.สมภพ กล่าวว่า ก่อนจะเกิดภาวะช็อก เนติพรมีอาการปกติทุกอย่าง และขณะที่เนติพรรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ก็มีรายงานว่าปฏิเสธการรับสารอาหาร ยาบำรุงเลือดต่างๆ ด้วยเช่นกัน และยังอยู่ในภาวะทั่วไปที่สามารถรับประทานอาหารเองได้ จึงมองว่าไม่น่าเกิดเหตุการณ์วิกฤตจนนำไปสู่การเสียชีวิตดังกล่าวขึ้น เนื่องจากในเช้าวันเกิดเหตุก็ยังสามารถคุยกับทานตะวันได้ตามปกติ เพียงระบุว่ามีอาการปวดหัว

 

สำหรับแนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ต่อผู้ต้องขังที่มีเจตนารมณ์อดอาหารนั้น นพ.สมภพ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นจะส่งนักจิตวิทยาเข้าไปพูดคุยและโน้มน้าวไม่ให้อดอาหาร แต่หากผู้ต้องขังยังยืนยันเจตนาเดิม ทางกรมราชทัณฑ์ก็จะใช้แนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ ทั้งด้านจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์เข้าประเมินร่างกาย หากพบว่าเกิดภาวะที่พิจารณาว่าน่าจะเกิดอันตราย เกินศักยภาพของสถานพยาบาลเรือนจำ ก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย

 

นพ.พงศ์ภัค กล่าวว่า ตั้งแต่หลังวันที่ 4 เมษายน ที่เนติพรกลับจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ มีอาการอ่อนเพลีย สามารถรับประทานอาหารได้บ้างตามลำดับ เช่น ข้าวต้ม ไข่เจียว โดยจัดหาอาหารให้ทั้ง 3 มื้อ และยืนยันว่าที่ผ่านมาได้แนะนำกับเนติพรโดยตลอดว่า การอดอาหารอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทางเนติพรรับทราบแต่ยังยืนยันในแนวทางเดิม โดยมีเจตจำนงที่จะปฏิเสธรับเกลือแร่หรือวิตามิน สำหรับการนำตัวเนติพรไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ในวันที่เกิดเหตุนั้นไม่ได้ใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) เพราะไม่มีข้อบ่งชี้

 

ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงข้อมูลลำดับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ รวมถึงขั้นตอนการช่วยเหลือกู้ชีพเนติพรทั้งหมด นพ.สมภพ และ นพ.พงศ์ภัค ยังคงสับสนและให้ข้อมูลไม่ตรงกัน

 

เช่น ช่วงแรก นพ.สมภพ กล่าวว่า ไม่พบสัญญาณชีพของเนติพรจึงได้ฉีดยากระตุ้นหัวใจ แต่ภายหลังแพทย์ให้ข้อมูลว่า มีสัญญาณชีพอ่อน ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกให้เป็นผู้ช่วยพยาบาลจึงได้ทำ CPR ที่เตียงผู้ป่วยจนมีสัญญาณชีพกลับมา ก่อนเจ้าหน้าที่จะพยุงเนติพรลงไปยังห้องรักษาพยาบาล

 

รวมถึงข้อมูลก่อนเนติพรจะหมดสติไป ที่ตอนแรกระบุว่าเนติพรลุกไปเข้าห้องน้ำ และพูดคุยกับทานตะวันว่าปวดท้องหรือไม่และกลับมานอนข้างกัน ภายหลังให้ข้อมูลว่าทานตะวันเป็นผู้ลุกไปเข้าห้องน้ำ และเนติพรนอนอยู่ที่เตียง

 

ก่อนที่สุดท้ายทาง นพ.พงศ์ภัค ได้แก้ไขว่า ยังไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนลุกไปเข้าห้องน้ำ แต่หลังกลับจากเข้าห้องน้ำแล้วเนติพรและทานตะวันพูดคุยกัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาวัดความดัน หลังจากนั้น 1-2 นาที เนติพรกระตุก 1-2 ครั้ง เจ้าหน้าที่ตรวจไม่พบสัญญาณชีพ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลสับสนว่าทานตะวันเห็นเหตุการณ์ขณะเนติพรกระตุกหรือไม่ ตอนแรกให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุขณะทานตะวันหลับอยู่ แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้อย่างไรเมื่อมีคนหนึ่งไปเข้าห้องน้ำอยู่ นพ.พงศ์ภัค จึงให้ข้อมูลใหม่ว่า ทานตะวันเองก็วัดความดันอยู่เช่นกันขณะที่เนติพรเกิดอาการกระตุก

 

นพ.พงศ์ภัค ระบุว่า ส่วนตัวได้ดูเพียงกล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุการณ์เท่านั้น แต่ช่วงอื่นๆ นั้นไม่ทราบและไม่ได้ดูกล้องวงจรปิด จึงไม่สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนได้ ทำให้ นพ.สมภพ ตำหนิ นพ.พงศ์ภัค ว่ายังสับสนในคำถาม ไม่เข้าใจ และไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้ ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการตามมาตรฐานการกู้ชีพทั้งหมด เป็นไปตามจรรยาบรรณของแพทย์ พร้อมแจ้งว่าเป็นข้อมูลที่ลึกเกินไป แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง

 

ด้านอาการของทานตะวันที่ยังอยู่ในโรงพยาบาลนั้น นพ.สมภพ กล่าวว่า อาการแข็งแรงดีและกลับมารับประทานอาหารตามปกติแล้ว ทานตะวันยังคงมีภาวะเครียดและซึมเศร้า ทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ส่งจิตแพทย์เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ทางกรมราชทัณฑ์จะมีมาตรการในการป้องกันเหตุซ้ำรอยหรือไม่ นพ.สมภพ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามมาตรฐานอยู่แล้ว แต่หากเกิดเหตุจนถึงแก่ชีวิตนั้นไม่มีแพทย์ที่ไหนจะยื้อชีวิตได้ แม้กระทั่งเนติพรเองก็ทำนิติกรรมไว้แล้วล่วงหน้า เนื่องจากมีความมุ่งมั่นในอุดมการณ์

 

ส่วนการป้องกันนั้นได้พยายามส่งนักจิตวิทยาเข้าไปโน้มน้าวแล้วอย่างเต็มที่ แต่หากเขายืนยันจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ร่างกายทนไม่ไหวแล้ว กรมราชทัณฑ์ทำได้เต็มที่ก็คือส่งให้แพทย์รักษาเท่านั้น ส่วนการจะให้เปลี่ยนใจนั้นทำไม่ได้ เป็นเรื่องยาก

 

“หากร่างกายมาถึงจุดที่ไม่สามารถดูแลได้แล้วก็ยาก ต่อให้เป็นแพทย์เทวดาก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้” นพ.สมภพ กล่าว

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising