×

โควิด-19 ระลอกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย สำนักวิจัยฯ แห่ปรับลด GDP ปี 2564 ต่ำ 3%

11.01.2021
  • LOADING...
โควิด-19 ระลอกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย สำนักวิจัยฯ แห่ปรับลด GDP ปี 2564 ต่ำ 3%

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • โควิด-19 รอบใหม่ฉุดเศรษฐกิจปี 2564 โตไม่สุด นักวิเคราะห์แห่ปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโตลดลง 
  • กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรปรับคาดการณ์ GDP ปี 2564 เหลือ 2% จากเดิมคาดไว้ที่ 2.5% ผลของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจไม่กลับเข้ามาอย่างที่คิด 
  • ด้านศูนย์วิจัยกรุงศรีปรับลด GDP ปี 2564 เหลือ 2.5% จากเดิมที่อยู่ 3.3.-3.5% ด้าน CIMBT ปรับลดเหลือ 2.6% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 4.1% ส่วน TMB Analytics เตรียมปรับลดคาดการณ์พรุ่งนี้

เปิดต้นปี 2564 บรรยากาศยังอึมครึมจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั้งอัตราการว่างงานที่อาจสูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้ การบริโภค รวมถึงความเสี่ยงที่หนี้เสียจะเพิ่มขึ้น 

 

แต่ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นบวกอย่างที่มองไว้หรือไม่? 

 

 

 

‘2-2’: KKP หั่น GDP ไทยปี 2564 เหลือ 2% นักท่องเที่ยวเหลือ 2 ล้านคน

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่าย วิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ทางธนาคารปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือเติบโตเพียง 2% จากก่อนหน้าที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 3.5% 

 

ทั้งนี้การปรับลดประมาณการ GDP มาจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ นอกจากนี้ยังปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 2 ล้านคน จากก่อนหน้านี้คาดว่าจะเริ่มเข้ามาในไตรมาส 3/64 ทำให้ทั้งปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 6.4 ล้านคน โดยตัวเลขที่ปรับคาดการณ์ลดลงมายังน้อยกว่าปี 2563 ที่ไตรมาส 1/63 มีนักเที่ยวต่างชาติราว 6.7 ล้านคน ขณะที่ภาคการส่งออกมองว่าจะโต 2% จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ประเทศขนาดใหญ่ทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นและน่าจะมีการกระจายวัคซีนที่ดี 

 

“รอบก่อน (โควิด-19 ระลอกแรก) ที่รัฐบาลมีมาตรการปิดเมืองราว 6 สัปดาห์ ซึ่งกระทบ GDP ราว 3% แต่รอบนี้แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันสูงกว่ารอบก่อน ทางภาครัฐใช้มาตรการที่เบากว่า และควบคุมเฉพาะพื้นที่เฉพาะธุรกิจเสี่ยง เพราะคนไทยและสาธารณสุขสามารถบริหารได้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบน้อยกว่ารอบก่อน แต่อาจจะยาวนานกว่า”

 

ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องติดตามและจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก การบริหารจัดการและกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 จะทั่วถึง มีประสิทธิผล และมีผลข้างเคียงหรือไม่ รวมถึงมาตรการของรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีผลต่อเศรษฐกิจและประชาชนมากน้อยเพียงใด

 

ช่างภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 อาจติดลบ 1.2% ในสมมติฐานว่าการระบาดโควิด-19 ยาวนานกว่าที่คาดการณ์ (การกระจายวัคซีนไม่ทั่วถึง) นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่กลับเข้ามาในปีนี้ และมาตรการรัฐยังขาดประสิทธิผล 

 

กรุงศรี: โควิดระลอกใหม่กระทบเศรษฐกิจไทย 0.8%
ศูนย์วิจัยกรุงศรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 เฟส 2 ในไทยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยราว 0.8% ทำให้ปี 2564 คาดว่า GDP จะลดลงมาอยู่ที่ 2.5% จากประมาณการครั้งก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวราว 3.3-3.5% 

 

ทั้งนี้คาดว่าการระบาดระลอกใหม่ในประเทศนี้จะมีผู้ติดเชื้อพุ่งถึงจุดสูงสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และทยอยลดลง ซึ่งคาดว่าผลกระทบจากการระบาดฯ จะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยหายไป 2% และมาตรการรัฐที่ออกมาเพิ่มเติมจะมีส่วนช่วย GDP ปีนี้เพิ่มขึ้น 1.2% 

 

อย่างไรก็ตาม GDP ที่ 2.5% มาจากสมมติฐานว่าการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่จะใช้เวลาราว 2 เดือน และเคสโควิด-19 ใหม่ทยอยปรับลดลง นอกจากนี้ภาครัฐต้องมีการเบิกจ่ายงบประมาณฯ ราว 200,000 ล้านบาท เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งปี 2564 ขณะเดียวกันภายในสิ้นปีนี้การกระจายวัคซีนต้องเข้าถึงคนไทยอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง โดยเบื้องต้นภาครัฐประมาณการว่าเดือนกุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม 2563 จะสามารถกระจายสู่ประชาชนราว 13 ล้านคน และครึ่งปีหลังปี 17.5 ล้านคน (ประชากรไทยราว 66 ล้านคน)

 

ขณะที่ไตรมาส 1/64 คาดว่า GDP จะติดลบ 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ช่วงก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะติดลบราว 2.2% อย่างไรก็ตาม มองว่าผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่จะน้อยกว่าระลอกแรก เพราะรัฐบาลมีการล็อกดาวน์เฉพาะจุด ไม่ได้ล็อกดาวน์ขนาดใหญ่เหมือนรอบแรก และปัจจัยต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน 

 

 

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ช่วงก่อนหน้า เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งปัจจัยนักท่องเที่ยวต่างชาติ การว่างงาน การกระจายวัคซีน และหนี้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ยังต้อติดตามอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ทั้งปี เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว

 

นอกจากทางศูนย์วิจัยฯ จะปรับลด GDP ปี 2564 แล้วผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ทางศูนย์วิจัยฯ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในหลายด้าน ได้แก่ 

  • การบริโภคเอกชนปี 2564 ปรับลดเหลือ 1.8% จาก 2.5% เนื่องจากการบริโภคในช่วงไตรมาส 1/64 จะลดลงจากควบคุมพื้นที่เสี่ยง กระแส Work from Home ทำให้คนทำงานที่บ้าน และพฤติกรรมกักตัวเองของคน รวมถึงการว่างงานและหนี้สินน่าจะเพิ่มสูงขึ้นกดดันการบริโภค
    อย่างไรก็ตามมองว่าสถานการณ์บริโภคจะดีกว่าปี 2563 ที่ผ่านมาเพราะมีทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของกลุ่มกลางถึงบน และโควิด-19 ที่เบาบางลงทำให้คนมีความเชื่อมั่นในการบริโภคมากขึ้น
  • การส่งออกปี 2564 ปรับลดเหลือ 3.8% จาก 4.5% โดยมีปัจจัยที่ต้องพึ่งพิงได้แก่ สัญญาณการฟื้นตัวตามวัฏจักรของภาคการผลิตทั่วโลกที่ประเทศขนาดใหญ่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และการส่งออกในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดสำคัญ 
  • การลงทุนภาคเอกชนปรับลดเหลือ 2.9% จากเดิมที่ 3.2% เนื่องจากไตรมาส 1/64 ที่การบริโภคเอกชนจะโตน้อยกว่าที่คาดไว้ แต่ปีนี้ยยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัว การลงทุนภาคเอกชนในกลุ่มภาคส่งออก และโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ
  • ภาคการท่องเที่ยว ยังคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 อยู่ที่ 4.0 ล้านคน ขณะที่ปี 2563 อยู่ที่ราว 6.7 ล้านคน ทางศูนย์วิจัยมองว่าเป็นภาคที่ยังได้รับกระทบต่อเนื่อง และหวังว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นชัดเจนในไตรมาส 4/64 หากมีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงในทั่วโลก

 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า โควิด-19 รอบใหม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจนทั้งการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวในประเทศ เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ฯลฯ 

 

ทั้งนี้ทางสำนักวิจัยปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัว 2.6% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 4.1% ขณะที่ปี 2563 คาดว่าจะติดลบที่ 6.7% จากก่อนหน้าที่คาดไว้ที่ 6.6%

 

ขณะที่ TMB Analytics เตรียมปรับคาดการณ์ GDP ปี 2564 ซึ่งจะรวมปัจจัยสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในวันพรุ่งนี้ (12 มกราคม)

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising