×

โควิด-19 ผลกระทบกับอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลกครั้งล่าสุด ตอนที่ 2: Now & Then

28.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ณ จุดนี้สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นคือ ‘Virtual Concert’ มีโชว์จากศิลปินต่างๆ ทางไลฟ์สตรีมมิงอย่างเป็นกิจจะลักษณะเกิดขึ้นเพียบ นี่อาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่นำไปสู่ก้าวใหม่ของวงการเพลงในที่สุดก็เป็นได้
  • คุณน้าบิลลี โจ อาร์มสตรอง แห่งคณะ Green Day ที่ได้เลื่อนทัวร์คอนเสิร์ตทั้งหมดไปเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งในบางกอกของเราด้วย ได้ทำคลิปเพลงคัฟเวอร์ปล่อยออกมาทุกวันจันทร์ในโปรเจกต์ชื่อ ‘No Fun Mondays’ บิลลีเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทำโปรดักชันงานคัฟเวอร์ได้น่าฟังที่สุดในช่วงนี้ เนื้องานยังคงความมันแบบ Green Day ไว้ครบถ้วน ถึงแม้จะเป็นการแสดงจากที่พักส่วนตัวตามข้อจำกัดเดียวกับศิลปินอื่นๆ
  • เทรนด์การแสดงดนตรีจากที่บ้านศิลปิน หรือ Virtual Show เป็นทางออกสำหรับสถานการณ์ช่วงนี้ แม้แต่รายการทอล์กโชว์ชื่อดังของ จิมมี แฟลลอน หรือ เจมส์ คอร์เดน ก็เลือกที่จะให้ศิลปินที่โชว์ในรายการใช้การแสดงรูปแบบนี้ ซึ่งแต่ละโชว์ก็เริ่มเพิ่มความครีเอทีฟและโปรดักชันที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ 
  • จากที่ช่วงแรกๆ มักเป็นการเล่นดนตรีแบบอะคูสติกง่ายๆ จนเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า นี่คือสิ่งใหม่ที่จะมาเป็น The New Normal ในวงการดนตรีต่อไป

“ยังไหวไหมทุกคน” ร็อกสตาร์ขวัญใจมหาชนตะโกนถามฝูงชนคนดูนับหมื่นที่คลาคล่ำอยู่เบื้องหน้า ที่ส่งเสียงตอบรับอย่างอื้ออึงฟังไม่ได้ศัพท์ “นี่ยังไม่ถึงครึ่งโชว์เลยนะ ถ้าผมยังไหว พวกคุณก็ต้องไหวไปด้วยกันสิ!” พี่ร็อกสตาร์พูดจาปลุกเร้าเรียกเสียงเฮได้อย่างล้นหลาม พลางหยิบขวดน้ำมาจิบ พี่เขาเต็มที่จริงๆ สังเกตได้จากรอยเหงื่อรูปหัวใจบนเสื้อยืดตรงกลางอก “ถ้าอย่างนั้นเราไปกันต่อเลยนะ ไม่รอแล้ว!” สิ้นเสียงพี่เขา อินโทรจังหวะเร้าใจของเพลงฮิตเพลงต่อไปก็เริ่มระรัวขึ้นมาให้เหล่าผู้ชมได้กระโดดกันต่อ… ขอกด Pause ไว้ก่อนนะ เพราะอาหารที่สั่งไว้มาส่งพอดี การดูคอนเสิร์ตผ่าน YouTube มันดีอย่างนี้นี่เอง

 

ดนตรีได้กลับมาทำหน้าที่ในการเยียวยารักษาใจให้กับโลกมนุษย์อีกครั้งในช่วงเวลาอันวิปริตเช่นนี้ ถึงแม้ทุกอย่างจะเกิดขึ้นเร็วมาก แต่ก็สามารถเห็นได้ชัดว่ามนุษย์ดนตรีเราก็สามารถปรับตัวได้ว่องไวอย่างน่านับถือ เป็นช่วงเวลาที่เราได้เห็นสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย จนอาจจะกลายเป็นวัฒนธรรมต่อเนื่องไปเลยก็เป็นได้ในอนาคต ถ้าสิ่งนั้นลงตัวกับบริบทของโลกหลังวันสิ้นโรค

 

ตารางโชว์ที่ทยอยกลับมาให้ศิลปินได้แสดงอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ ณ สถานที่แบบเดิมโดยสิ้นเชิง

หนึ่งในการปรับตัวของศิลปินที่เร็วที่สุดคือ การหันมาสื่อสารกับแฟนเพลงผ่านทางสื่อออนไลน์มากขึ้น เริ่มต้นจากการแสดงเล็กๆ แบบเป็นกันเองจากที่บ้านตามที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนที่ 1 และเริ่มขยายขนาดและความซับซ้อนขึ้น เริ่มมีการเล่นดนตรีร่วมกันผ่านทางออนไลน์ โดยที่สมาชิกแต่ละคนต่างก็บรรเลงจากบ้านพักของตัวเอง อย่างวง Chvrches ศิลปิน แนวอิเล็กทรอนิกส์ได้เผยแพร่เพลง Forever ในเวอร์ชันที่เรียกว่า ‘Separate But Together’ จากวงที่เท่อยู่แล้ว ไอเดียนี้ยิ่งทำให้วงยิ่งดูเท่ขึ้นไปอีก

 

 

ส่วนคุณน้าบิลลี โจ อาร์มสตรอง แห่งคณะ Green Day ที่ได้เลื่อนทัวร์คอนเสิร์ตทั้งหมดไปเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งในบางกอกของเราด้วย ก็ได้ทำคลิปเพลงคัฟเวอร์ปล่อยออกมาทุกวันจันทร์ในโปรเจกต์ชื่อ ‘No Fun Mondays’ บิลลีเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทำโปรดักชันงานคัฟเวอร์ได้น่าฟังที่สุดในช่วงนี้ เนื้องานยังคงความมันแบบ Green Day ไว้ครบถ้วน ถึงแม้จะเป็นการแสดงจากที่พักส่วนตัวตามข้อจำกัดเดียวกับศิลปินอื่นๆ ล่าสุดเขาได้นำเพลง That Thing You Do! มาคัฟเวอร์เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ที่แต่งเพลงเพลงนี้ นั่นคือ อดัม ชเลซิงเกอร์ สมาชิกวง Fountains of Wayne และนักแต่งเพลง เจ้าพ่อเพลงประกอบภาพยนตร์ ชเลซิงเกอร์ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคโควิด-19 ในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ผลงานฮิตของเขายังมีเพลง Way Back Into Love จากภาพยนตร์เรื่อง Music and Lyrics และ Josie and the Pussycats จากภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน

 

 

 

 

มาถึงวง Lo-Fi Rock สุดเท่อย่าง The Strokes ที่ทุกคนรอคอยและรอลุ้นว่าทางวงจะเลื่อนกำหนดการออกอัลบั้มใหม่ในรอบ 4 ปีหรือไม่ ภายใต้สถานการณ์ที่ทุกสิ่งอย่างต้องถูกเลื่อนไปหมด โดยเฉพาะกับศิลปินกลุ่มนี้ที่สมาชิกมีพื้นเพเป็นชาวนิวยอร์ก เมืองที่สถิติผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ปรากฏว่าไม่เลื่อน พวกเขากลับวิ่งเข้าใส่ปัญหาด้วยการเปิดตัวอัลบั้มใหม่ด้วยวิธีการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยการไลฟ์สตรีม ‘Virtual Talk Show’ โดยใช้ชื่อตอนว่า 5 Guys Talking About Things They Know Nothing About โดยทางวงได้เปิดเพลงทั้งหมดในอัลบั้มใหม่ที่ชื่อว่า The New Abnormal (ชื่ออัลบั้มช่างเข้ากับสถานการณ์) ให้เราได้ฟังกันในวันที่ 10 เมษายนตามกำหนดเดิมในไลฟ์สตรีมนี้ด้วย

 

 

ณ จุดนี้สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นคือ ‘Virtual Concert’ มีโชว์จากศิลปินต่างๆ ทางไลฟ์สตรีมมิงอย่างเป็นกิจจะลักษณะเกิดขึ้นเพียบ นี่อาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่นำไปสู่ก้าวใหม่ของวงการเพลงในที่สุดก็เป็นได้ แม้กระทั่งวงการเพลง Classical ที่สถานที่จัดแสดงถูกปิดชั่วคราวไปเกลี้ยงโลกแล้ว ก็ยังมีการให้ผู้ชมสามารถเข้าไปดูสตรีมมิงโชว์ได้ฟรีผ่านเว็บไซต์ของวงอย่าง Berlin Philharmonic, Detroit Symphony Orchestra และที่เปรี้ยวกว่าคือการแสดงสดจริงๆ ไลฟ์สตรีมจากวง Chamber Music of Lincoln Center จากนิวยอร์ก และ Seoul Philharmonic Orchestra สำหรับผู้นิยมสายเกาหลี ถ้าดูซีรีส์จนเบื่อแล้ว จะหันมาดูดนตรีคลาสสิกสัญชาติเดียวกันก็ได้นะ

 

 

และแล้วในที่สุดก็มี Virtual Music Festival

รวดเร็วกว่าใจนึก มันได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ โดยองค์กร Global Citizen ร่วมเป็นเจ้าภาพร่วมกับศิลปินเบอร์ใหญ่อย่าง เลดี้ กาก้า เพื่อช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ในการจัดแคมเปญที่ชื่อ One World: Together At Home เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีศิลปินเข้าร่วมแสดงมากมาย เช่น คริส มาร์ติน, เอลตัน จอห์น, พอล แม็กคาร์ตนีย์, สตีวี วันเดอร์ ฯลฯ ถึงแม้ว่าจะมีความรู้สึกแปลกๆ ไม่คุ้นเคยกับการแสดงรูปแบบใหม่นี้อยู่บ้าง เพราะคอนเซปต์คือศิลปินต้องทำการแสดงจากที่บ้าน เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนอยู่บ้านเพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อ โชว์มีความจิ้มลิ้มเบาๆ และความสดมากของดนตรีและใบหน้าของศิลปิน แต่มันก็เป็นการจุดประกายให้มีโชว์ในรูปแบบนี้ที่ขยายความสร้างสรรค์ในเชิงโปรดักชัน ภายใต้ข้อจำกัดใหม่นี้ต่อไปได้อีกอย่างน่าติดตาม

 

 

ต่อจากนั้นก็มี Play On Festival โดย Warner Music Group ได้นำบันทึกการแสดงในอดีตของหลากหลายศิลปินมาสตรีมผ่าน YouTube ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 วันเต็มดูกันให้ตาแฉะ ตั้งแต่วันที่ 24-26 เมษายน โดยเลือกเอาการแสดงใหญ่ๆ โดยศิลปินดังจากงาน Coachella, Lollapalooza, The O2 Arena, Sydney Opera House และอีกมากมาย งานนี้เลือกเอาการแสดงที่เต็มไปด้วยพลังมาให้แฟนเพลงที่กระหายอยากออกไปดูคอนเสิร์ตจริงๆ ได้พอรู้สึกบรรเทาความเหี่ยวเฉาคาบ้านขึ้นมาบ้าง

 

 

เทรนด์การแสดงดนตรีจากที่บ้านศิลปิน หรือ Virtual Show เป็นทางออกสำหรับสถานการณ์ช่วงนี้ แม้แต่รายการทอล์กโชว์ชื่อดังของ จิมมี แฟลลอน หรือ เจมส์ คอร์เดน ก็เลือกที่จะให้ศิลปินที่โชว์ในรายการใช้การแสดงรูปแบบนี้ ซึ่งแต่ละโชว์ก็เริ่มเพิ่มความครีเอทีฟและโปรดักชันที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จากที่ช่วงแรกๆ มักเป็นการเล่นดนตรีแบบอะคูสติกง่ายๆ จนเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า นี่คือสิ่งใหม่ที่จะมาเป็น The New Normal ในวงการดนตรีต่อไป ซึ่งจะว่าไปแล้วมันน่าจะเรียกว่าเป็น ทางเลือกใหม่ ที่เพิ่มเข้ามามากกว่า เพราะอย่างไรการชมคอนเสิร์ตในสถานที่จริงมันมีความหมายมากกว่าการฟังดนตรีธรรมดาแน่นอน หากแต่มันคือการเข้าไปอาบรังสีแห่งประสบการณ์ของประสาทสัมผัสทั้งห้าแบบที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยหน้าจอใดๆ ไม่ว่าจะจอใหญ่ขนาดกี่นิ้วก็สู้ไม่ได้ และไม่มีเหตุผลอันใดที่ Virtual Show จะมาแทนที่ได้ หลังจากที่โลกผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไป คอนเสิร์ตต้องกลับมาอย่างแน่นอน ในทุกคอนเสิร์ตมีเรื่องราวให้จดจำเสมอ เราอาจต้องลางานช่วงบ่ายทั้งช่วงเพื่อออกเดินทางไปดูคอนเสิร์ตที่เริ่มแสดงตอนค่ำ เพราะการเดินทางอันหฤโหดที่ต้องเจอสภาพรถติดหน้างานถึง 4 ชั่วโมง เพราะในวันนั้นมีทั้งอีเวนต์มอเตอร์โชว์และงานแสดงสินค้าโอทอปจัดอยู่ในบริเวณเดียวกัน ความกลั้นฉี่ตรงทางลงทางด่วนก่อนเข้างาน นั่นก็ถือเป็นอีกประสบการณ์หนึ่ง ไหนจะประสบการณ์ในการวนหาที่จอดรถอีกชั่วโมงครึ่ง จนสุดท้ายได้ที่จอดในเขตตำบลข้างๆ แล้วต้องต่อวินมอเตอร์ไซค์เข้าไปที่หน้างานอีกที ใครได้เจอคงไม่มีทางลืมความทรงจำนี้แน่นอน และในคอนเสิร์ตยังมีกลิ่นละมุดจากลมหายใจผู้คนฟุ้งอยู่รอบตัว พร้อมกับพื้นเหนียวๆ จากเบียร์ที่คนข้างๆ ทำหก แต่ละงานก็มีกลิ่นและความเหนียวที่พื้นรองเท้าต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเบียร์ยี่ห้อไหนเป็นสปอนเซอร์งาน และไม่มีคอนเสิร์ตเลยไหนที่ไม่มีคนเสร่อทำเบียร์หก นี่คือสุดยอดประสบการณ์และอุปสรรคที่หล่อหลอมให้เราเป็นสุดยอดนักดูคอนเสิร์ตขึ้นมาได้ หลายคนยอมแลกหลายสิ่งเพื่อที่จะได้สัมผัสถึงพลังโชว์ของศิลปินคนโปรดแบบตัวเป็นๆ เพื่อต่ออายุการใช้งานของสุขภาพจิตของตน

 

 

 

ช่วงเวลาแห่งการหยุด…คิด ไม่ใช่หยุด…ชะงัก

เมื่อโลกทั้งใบหยุดหมุนชั่วคราว ในความสงบมีกระแสเหนี่ยวนำของภูมิความคิดซ่อนอยู่ เราผ่านช่วงตีโพยตีพายมาแล้ว เข้าสู่ช่วงแห่งการปรับตัวตามสถานการณ์ และมีของแถมคือเวลาก้อนโตที่เอาไว้ครุ่นคิดหาวิถีชีวิตที่ลงตัวโดยไม่ต้องวิ่งแข่งกับใคร ซาวนด์เอ็นจิเนียร์สักคนอาจจะได้ค้นพบว่า พรสวรรค์ในการทำเกี๊ยวซ่าของตนนั้นช่างเหนือชั้นกว่าเกี๊ยวซ่าไดมารูยิ่งนัก นำพารายได้ทั้งทางกายและใจมาสู่ครอบครัวมากกว่างานโปรดักชันดนตรีที่เน้นการประหยัดค่าแรงมากกว่าคุณภาพของเนื้องาน นั่นก็เป็นอีกหนึ่งหนทางชีวิตบนทางแยกที่ใครจะไปหยั่งรู้

 

นักดนตรีบางคนอาจได้แรงบันดาลใจจากการถูกยัดเยียดอาชีพเกษตรกรให้จากโครงการเราจะถูกทิ้ง จึงหันมาประชดปลูกข้าวสีข้าวครบวงจร ผนวกกับวิชาไสยศาสตร์ที่บ้านเราไม่เคยเป็นรองใคร ได้ผลผลิตเป็นข้าวสารเสกลงอาคมส่งออก ต่างประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคู่ค้าเป็นประเทศโลกที่สามที่มีอัตราการคอร์รัปชันชนิดที่ตรวจสอบไม่ได้สูง เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นอาวุธในการสาดโปรยไล่ผีดูดเลือดที่คอยสูบเลือดเนื้อของแผ่นดินจนกระเพาะครากก็ยังไม่หยุดยั้ง

 

สถานการณ์นี้บังคับให้เราขุดคุ้ยหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเองให้เจอแล้วนำมาใช้ ขอแค่หามันให้เจอครั้งเดียว ทีนี้เราก็จะสามารถใช้มันได้ยาวไปจนหมดโปรโมชันโค วิด-19 ต่อยอดไปยาวๆ หล่อๆ สวยๆ เลย คนหนึ่งคนอาจจะมีหลายอาชีพขนานกันไปก็ได้

 

ความจริงครั้งใหญ่จะปรากฏให้ประจักษ์ถึงทักษะและวิสัยทัศน์ของบุคลากร ไม่ใช่แค่เพียงศิลปิน แต่องค์กรอย่างค่ายเพลงก็จะได้พิสูจน์ฝีมือในการบริหารวิกฤตว่าจะดีหรือร้าย ต่างกับช่วงสภาวะปกติแค่ไหน ศิลปินที่ยังลังเลในระบบค่ายเพลงจะได้หายสงสัย แล้วมูฟออนต่อไปในทางที่เห็นควรแก่สถานะของตน ลองมองดีๆ ว่านี่คือสถานการณ์ที่บังคับให้ทุกอย่างมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ เป้าหมายเชิงพฤติกรรมผู้บริโภคถูกตีกรอบให้แคบลงมาอย่างน่าท้าทาย โฟกัสได้ง่ายขึ้น ถ้าจะปล่อยเกียร์ว่างโดยอ้างโควิด-19 เป็นเหตุผลสั้นๆ กำปั้นทุบดินก็คงเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย นี่คือวาระที่ควรโยนเทมเพลตการตลาดแผนโบราณทิ้งไป แล้วลงกำลังสมองให้เท่ากับที่ศิลปินเขาเอาชีวิตมาวางเดิมพันกับอาชีพนี้โดยไม่มีเงินเดือนมารับประกันปากท้องเหมือนเหล่าพนักงาน ค่ายไหนจะอยู่รอด หรือค่ายไหนจะหย่อนล่มก็สุดแล้วแต่ปัญญาและวิสัยทัศน์ ผสมด้วยความจริงใจที่ควรเป็นสารประกอบตั้งต้นโดยไม่จำเป็นต้องย้ำเตือนในทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ ไหนจะยังมีการบ้านภาคต่อในระยะยาวอีก ว่าด้วยเรื่องโลกหลังจากนี้จะไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ยากนะ แต่ผู้ที่มองขาดเขาก็ต้องวิ่งทัน เพราะคนฉลาดจริงยังพอมีอยู่

 

 

Warner Records กับประสบการณ์เสียวรูปแบบใหม่ในการพาศิลปินฝ่าไฟแดง

หันมองออกไปในสเกลระดับโลก ศิลปินใหญ่หลายรายตัดสินใจที่จะเลื่อนกำหนดวันปล่อยผลงานใหม่ออกไป แต่ก็มีค่ายเพลงอย่าง Warner Records ที่เลือกที่จะพาศิลปินในสังกัดฝ่าไฟแดงไปด้วยกันในช่วงนี้ ณ วันที่ 27 มีนาคม 2020 อย่าง ดัว ลิปา และ PARTYNEXTDOOR โดยที่เบอร์หลังเป็นการร่วมทุนกับค่าย OVO Sound ที่มีศิลปินใหญ่อย่าง เดรก เป็นเจ้าของ และยังโปรโมตซิงเกิล Believe It ที่ได้ริฮานนามาร่วมฟีเจอริง ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกของเธอในรอบ 3 ปีเลยทีเดียว

 

ผู้บริหารอย่าง ทอม คอร์สัน ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า “ดนตรีเป็นเรื่องของจังหวะเวลา มันเป็นเครื่องบันทึกเอกลักษณ์แห่งช่วงเวลา” ทอมเสริมว่า “เราเคยได้พิจารณาเรื่องการเลื่อนวันปล่อยอัลบั้มไว้เหมือนกัน แต่ด้วยจุดยืนของเราที่เล็งเห็นว่า ณ ตอนนี้เรามีทั้งแรงผลักดันและมีเพลงดีๆ ที่ผู้คนพร้อมจะเสพ เราก็เลยปล่อยมันออกมาเสียเลย ซึ่งผลตอบรับทางด้านยอดขายและยอดสตรีมมิงออกมาสูงเกินคาด และได้รับการต้อนรับอย่างหอมหวานจากสื่อสตรีมมิงอย่าง Spotify และ Apple Music ที่ตื่นเต้นกับการเอาคอนเทนต์ดีๆ มาโปรยลงบนหน้าร้านที่กำลังเงียบเหงา ซิงเกิล Believe It ของ PARTYNEXTDOOR มียอดการสตรีมมิงใน Spotify มากกว่า 20 ล้านครั้งภายในสัปดาห์แรกของการปล่อยเพลง และอัลบั้มของ ดัว ลิปา ก็ติดอันดับ Top 5 ทันทีในสัปดาห์ที่มันถูกปล่อยออกมา

 

 

นอกจากนี้ยังมีศิลปินร่วมสังกัดอย่าง NLE Choppa กับซิงเกิล Walk Em Down ที่ถูกปล่อยออกมา 1 สัปดาห์ก่อนหน้า ดัว ลิปา ก็ทำยอดสตรีมมิงใน Spotify ไปได้ถึง 19.5 ล้านครั้ง ส่วนแผนการโปรโมตก็มีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์อย่างเก๋ไก๋ ศิลปิน PARTYNEXTDOOR ได้จัดงาน Listenning Party ผ่าน Twitch และส่งข่าวสารผ่านข้อความส่วนตัวไปยังผู้ติดตามกว่าล้านคน ส่วน ดัว ลิปา เองก็ได้ทำการแสดงแบบจัดเต็มกับวงดนตรีและแดนเซอร์ที่อยู่คนละทิศละทางผ่านเว็บแคสต์ในรายการ Late Late Show ของพิธีกรชื่อดังอย่าง เจมส์ คอร์เดน

 

 

คอร์สันได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราขอสนับสนุนให้ทั้งเพื่อนฝูงและคู่แข่งในธุรกิจดนตรีนี้ ไตร่ตรองกันดีๆ ก่อนที่จะเลื่อนกำหนดการณ์ปล่อยเพลงของศิลปินในสังกัดออกไป แม้ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องเลื่อนจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ถ้าคุณสามารถสร้างแผนการที่รองรับสถานการณ์แบบนี้ได้ ก็จงผลักดันให้มันมีงานเพลงออกมาเถอะ เพราะเหล่าผู้บริโภคยังต้องการอาหารหูที่สดใหม่ และแน่นอน ของสดใหม่เหล่านั้นย่อมมีวันหมดอายุ เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าการชะลอเวลาการปล่อยของแล้วผลตอบรับจะเป็นเหมือนเดิม ในวันที่ความสดใหม่ของผลงานได้โรยราไปแล้ว”

 

 

อุตสาหกรรมดนตรีหลังยุคโควิด-19

แม้เหตุการณ์ในปัจจุบันนี้จะเป็นเรื่องที่คนทั้งโลกอยากให้มันผ่านพ้นไปเสียที แต่สิ่งที่เราต้องเผชิญหลังจากนี้อย่างแน่นอนคือความเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นในทุกวงการ เราคงไม่สามารถเดินผิวปากกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศได้เหมือนเดิมเหมือนก่อนหน้านี้ เหล่าผู้บริหารองค์กร ค่ายเพลงก็คงได้เห็นด้วยตาตัวเองแล้วว่าบุคลากรที่มีอยู่มีศักยภาพพอดีกับตำแหน่งของตนหรือไม่ บางองค์กรอาจต้องลดขนาดลง เหมือนบางค่ายที่เป็นองค์กรขนาดเล็กที่เก๋าเกมมานานแล้ว แต่ก็สามารถสร้างผลงานได้ยิ่งใหญ่กว่าองค์กรใหญ่ที่ไม่เข้าใจกลไกอะไรเลย

 

มาลองมองในภาพกว้างขึ้นกันบ้าง ในประเทศเราที่ไม่ได้มีการสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่จากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมมาอย่างช้านาน อย่าคาดหวังว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นอุทาหรณ์ หรือจุดประกายให้หน่วยงานใดเกิดดวงตาเห็นธรรมเข้ามาช่วยเหลือ และป่วยการที่จะตีโพยตีพายให้เปลืองแรง ในทางกลับกัน สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการร่วมกันสร้างระบบที่เป็นปึกแผ่น แบบที่ฝั่งตะวันตกเขามีองค์กรและสมาคมมากมายที่มีชื่อย่อเก๋ๆ งงๆ ยิบๆ ย่อยๆ แทบจะแยกเป็นสมาพันธ์แห่งทุกอาชีพในสา ยงานดนตรีทั้งระบบ ตั้งแต่แผนกสร้างสรรค์, แผนกเทคนิค ไปยันแผนกผู้ใช้แรงงานทางดนตรี ซึ่งมีผลดีทั้งในยามสงบสุขและยามสงัด ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถ, การสร้าง สังคมแห่งมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมอาชีพ เพื่อลดกลไกความเหลื่อมล้ำของอัตราค่าจ้างและความสามารถที่ผู้ว่าจ้างหลายๆ รายไม่มีทางเข้าใจ นอกจากคนวงในต้องร่วมด้วยช่วยกันสร้างมาตรฐานใหม่ในวิชาชีพขึ้นมาเอง และหากเกิดภาวะไม่ปกติอันทำให้การติดขัดในการประกอบอาชีพเหมือน เวลานี้อีกครั้ง จะได้มีการระดมสมองหาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกันจากภายในโดยใช้ความอเนจอนาถจากเหตุการณ์โควิด-19 ครั้งนี้เป็นกรณีตัวอย่าง

 

บทเพลงหลังยุคโควิด-19

ในอดีตเรามีบทเพลงมากมายที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยได้รับแรงบันดาลใจจากสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะไทยหรือเทศ ตั้งแต่สงครามโลก, สงครามเวียดนาม, การแบ่งโลกเป็นสองขั้วการปกครองต่างระบอบที่มีแนวคิดและอุดมการณ์ต่างกัน หรือเหตุการณ์รุนแรงอันเป็นประวัติศาสตร์ในประเทศเราเองตั้งแต่ยุค Baby Boomer และ Gen X ที่ยังไม่ถูกชำระ จนตัวละครสำคัญหลายตัวที่เหลือรอดในคราวนั้นได้ทยอยล้มหายตายจากไปด้วยอายุขัย หรือโรคกรรมไปบ้างแล้ว เราได้ศิลปินอย่าง บ็อบ ดีแลน, ดอน แม็กลีน, จอห์น เลนนอน, มาร์วิน เกย์ และอีกมากมายมาเป็นผู้ส่งสารอันสืบเนื่องจากสถานการณ์โลกในยุคนั้นผ่านบทเพลงอมตะมากมาย และในบ้านเราเองก็ได้กำเนิดศิลปินเพื่อชีวิตที่มาร่วมขับขานบทเพลงสะท้อนสังคมผ่านภาษาอันคมคายอยู่หลายท่าน

 

เมื่อช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งและความยากลำบากได้ผ่านพ้นไปเนิ่นนาน มาถึงยุคของ Gen ใหม่อันสะดวกสบายและมีแรงผลักดันในการสร้างสรรค์อย่างอิสระราวกับการกลับมาเกิดใหม่ของแนวคิดแบบ Renaissance Humanism ในยุโรปจากคริสต์ศตวรรษที่14-15 เพราะบังเอิญบริบทของสังคมมันวนลูปมาสู่จุดที่คล้ายกับยุคนั้น ซึ่งก็ไม่ผิดที่เราจะไม่แคร์เรื่องไกลตัวที่ไม่เกี่ยวกับตนในโลกที่สะดวกสบายเหลือรับประทาน ศิลปินจะเขียนเพลงแนวชวนกิ๊กมานอนพลิกดู Netflix กันที่ห้อง, เล่นคำป้อยอสาว, ไหนใครโสดชูแก้วสูงๆ ความบันเทิงแบบปราศจากสาระและความสละสลวยในภาษาไม่ใช่เรื่องผิดเลยแม้แต่น้อยในโลกใบเล็กอันสงบสุข เมื่อผู้บริโภคต้องการแค่นั้น ผู้ผลิตก็จัดให้ได้แค่นั้น ต่างฝ่ายต่างก็ชนะไปด้วยกัน

 

แต่หลังจากนี้ไป ไม่ว่าใครก็จะตระหนักถึงตัวตนอันกระจ้อยร่อยของพวกเราชาวโลกที่บอบบาง พร้อมจะปลิวไปตามหายนะสัญจรที่จะพัดเข้ามาเมื่อไรก็ได้ ความคิดตริตรองจะถูกพัฒนาจนแยบยลขึ้นในจิตใจมนุษย์ จิตสาธารณะจะถูกยกระดับขึ้นในหมู่ผู้มีปัญญา บทเพลงเพื่อชีวิตบทใหม่อาจจะกำเนิดขึ้นให้เราได้ฟังกันแพร่หลายมากขึ้นก็ได้ หลังจากที่เราวนฟังเพลงระดับตำนานยุคก่อนมาได้ 3-4 ทศวรรษแล้ว ราวกับว่ามันเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ครานั้นใส่ลงบนตัวโน้ต และในครั้งนี้โลก เราก็ต้องการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ลงบนตัวโน้ตใหม่ๆ เช่นกัน ด้วยภาษาของคนรุ่นใหม่ และอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นบนดินแดนอันเสรีที่ไม่มีองค์กรลับไอ้โอ๋ใดๆ มาปิดกั้นได้ นี่อาจจะเป็นโอกาสของศิลปินที่เป็นศิลปินที่สร้างงานศิลปะที่เป็นประโยชน์ และคอยป้อนคำถามปลายเปิดให้กับสังคมได้สังเกตและตระหนักถึงความเป็นไปในด้านอื่นๆ ของโลกบ้าง นอกจากเรื่องการจับคู่ชู้ชื่นหรือขื่นขม

 

 

The New Normal

ตอนนี้เราเริ่มเข้าสู่ช่วงที่เริ่มเคยชินกับการปรับตัว แต่ไม่ใช่ว่าสถานการณ์มันจะคงที่ไปเรื่อยๆ อาจจะมีเรื่องดีและร้ายให้เข้ามาปรับตัวกันในขั้นต่อไปอีก ครั้นจะด่วนสรุปว่าอะไรเป็น The New Normal ในตอนนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของอุตสาหกรรมดนตรี ก็ไม่ถึงกับสมเหตุสมผลไปเสียทีเดียว ยังต้องดูกันอีกไกล เราประเมินได้แค่เพียงว่ามันต้องเปลี่ยนไปเยอะแน่นอน เราน่าจะเรียกช่วงนี้ว่าเป็นช่วง The New Dynamic มากกว่า เป็นจังหวะที่จิตใจมนุษย์เปราะบาง อ่อนไหวเพราะความเครียด จนสามารถดราม่าได้กับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง สามารถซูมด่าทอกันด้วยถ้อยคำดอกไม้เน่าให้สารคัดหลั่งแตกฟอง แพร่เชื้อโรคแห่งความเกลียดชังให้โลกยิ่งเหม็นโฉ่ สำหรับคดีนี้ไวรัสโคโรนาไม่ได้มีส่วนร่วมในปลุกระดมดราม่าอะไรทั้งสิ้น หากแต่จิตใจของมนุษย์เราเองนี่เองแหละที่ร้อนรุ่มพร้อมจะระเบิดอยู่แล้ว เรามาตั้งสติสักหน่อยในยามที่ไม่มีสตางค์ ให้สมศักดิ์ศรีกับที่เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงปัญญาที่สุดบนดาวดวงนี้

 

ลองเปิดเพลงที่เราชอบกลบเสียงเซ็งแซ่แง่ลบวันละนิดละหน่อยก็ยังดี เพื่อให้จิตตั้งต้นได้ผ่อนคลายลงบ้าง ถึงแม้การฟังเพลงจะไม่ช่วยบรรเทาความหิวโหยในท้อง แต่มันเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยประคองจิตใจเราไว้ อย่าได้มองข้ามคุณภาพของจิตใจ เพราะมันเชื่อมโยงกับคุณภาพของร่างกายโดยตรง เหมือนผู้ป่วยที่มีกำลังใจดี ไม่ว่ากับโรคใด ย่อมมีโอกาสในการฟื้นตัวได้ดีกว่าผู้ป่วยที่หมดอาลัยตายอยาก ดนตรีมีบทบาทกับจิตใจมนุษย์เสมอ ไม่ว่าโลกจะต้องผ่านวิกฤตมาสักกี่ครั้ง และครั้งนี้มันก็ ยังทำหน้าที่เดิมของมันอยู่เสมอ ลองหันหูไปหามันดูบ้างสิ มันหาได้ง่ายกว่าหน้ากากอนามัยที่เราใช้เกี่ยวหูอยู่ทุกวันอีกนะ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X