×

โควิด-19 ระลอกใหม่ป่วน ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร หวัง ‘วัคซีน’ เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

07.01.2021
  • LOADING...
โควิด-19 ระลอกใหม่ป่วน ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร หวัง ‘วัคซีน’ เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ภาพบรรยากาศที่กำลังฟื้นตัวซึมลงอีกครั้ง ซึ่งกระทบหมดไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร 
  • สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับการระบาดในระลอกใหม่คือ ทำให้ทราฟฟิกของการเดินห้างลดลง ตลอดจนใช้เวลาที่น้อยลง สำหรับธุรกิจอาหารกระทบเต็มๆ ในช่วงมื้อเย็น ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาหลักที่ผู้บริโภคจะออกมากินข้าวนอกบ้าน
  • อย่างไรก็ตามทั้งเซ็นทรัล เดอะมอลล์ และไมเนอร์ ฟู้ด มองว่าเมื่อไรก็ตามที่มีการฉีดวัคซีนในเมืองไทย จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายอย่างแน่นอน

การระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในบ้านเรา ทำให้ภาพบรรยากาศที่กำลังฟื้นตัวซึมลงอีกครั้ง โดยเฉพาะในแง่ของธุรกิจทั้งกลุ่มศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยตรง 

 

 

ทราฟฟิกหายไป 30% 

ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) หรือ CPN ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ศูนย์การค้ามีความเข้มงวดขึ้นสำหรับการระบาดรอบสอง โดยหยิบมาตรการต่างๆ มา ทำให้รัดกุมและเข้มงวดมากขึ้น 

 

ทั้งการเว้นระยะห่าง การจำกัดจำนวนคนที่เข้ามาในพื้นที่ การหยิบฉากกั้นในศูนย์อาหารมาใช้อีกครั้ง รวมถึงการทำความสะอาดในจุดสัมผัสต่างๆ ทุกๆ 30 นาที รวมไปถึงมาตรการในส่วนของพนักงานที่แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ต้องเจอลูกค้าและพนักงานที่อยู่หลังร้าน ได้วางมาตรการให้ทั้งสองกลุ่มไม่ให้มาเจอกัน

 

จากการประเมินพบว่า ผลจากการระบาดระลอกใหม่ทำให้ยอดทราฟฟิกตั้งแต่ช่วงปีใหม่เป็นต้นมา หายไปราว 30% ด้วยกัน สิ่งสำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้คือการควบคุมการระบาด หากสามารถควบคุมได้เร็วจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ กลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มฉีดวัคซีนในไทย ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวก

 

“หากมีการเริ่มฉีดเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น และทำให้ธุรกิจกลับมาได้เร็วขึ้น เชื่อว่าหากสามารถคุมการระบาดได้ จะทำให้ยอดทราฟฟิกกลับมาอยู่ในระดับ 80-90% เหมือนในช่วงก่อนที่จะมีการระบาดระลอกใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะขึ้นมาทีเดียว ต้องใช้เวลา 4-5 เดือนตัวเลขถึงจะปรับมาถึงจุดนั้นได้” 

 

ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

 

สามเรื่องถึงภาครัฐ

สำหรับการจัดการของรัฐบาล ดร.ณัฐกิตติ์ มองว่า ตอนนี้รัฐบาลกำลังพยายามอย่างมากที่จะจัดการสถานการณ์ต่างๆ อย่างกรณีที่ยังไม่ถึงขั้นล็อกดาวน์ถือเป็นจุดที่เหมาะสมแล้ว เพราะหากล็อกดาวน์และต้องปิดห้างร้านต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เจ็บแต่จบก็จริง แต่จะตามมาด้วยผลกระทบเรื่องการจ้างงาน เพราะหากต้องปิดอีกครั้ง ธุรกิจต่างๆ อาจจำเป็นต้องปลดพนักงาน 

 

“ตอนนี้รัฐพยายามหาจุดสมดุลระหว่างการควบคุมโรคและเศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไปคือในแง่ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ หากพบหลักพันก็อาจจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการล็อกดาวน์ ถึงตอนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะประเมินสถานการณ์เป็นอย่างไร”

 

อย่างไรก็ตาม มีสามเรื่องที่อยากให้รัฐบาลช่วยดูแล เรื่องแรกคือมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของคนไทยที่อยากให้มีต่อเนื่อง อย่างโครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน ถือเป็นมาตรการที่สามารถกระตุ้นได้จริงๆ เรื่องที่สองมาตรการดูแลบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะ ‘สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)’ สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการและ SMEs เพื่อให้คงการจ้างงานไว้

 

เรื่องสุดท้าย นักท่องเที่ยว หากสถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น อยากให้รัฐช่วยประเมินถึงความเป็นไปได้ในการทำ Travel Bubble กับกลุ่มประเทศที่มีผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำ เพราะการมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจะทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น สำหรับ CPN มีเพียงบางศูนย์ที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป เช่น สมุยและพัทยา ที่มีสัดส่วนคนไทยกับนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 50:50, ภูเก็ต 60:40 และ เชียงใหม่ 70:30

 

สำหรับ CPN ในแง่ของกลยุทธ์ธุรกิจ ดร.ณัฐกิตติ์ กล่าวว่า มีการปรับแผนอยู่ตลอดเวลา โดยสิ่งที่ต้องเน้นคือการควบคุมค่าใช้จ่าย การบริหารเรื่องรายได้ กำไร และการจัดการในเรื่องของการจ้างงาน ขณะที่แผนการลงทุนยังเดินหน้าต่อ เพราะ CPN วางแผนระยะยาวอยู่แล้ว

 

ในปี 2564 เตรียมเปิดศูนย์การค้าสองแห่ง ซึ่งเป็นไปตามแผนได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา ศรีราชา ที่มีกำหนดเปิดในเดือนตุลาคม และเซ็นทรัลพลาซา อยุธยา มีกำหนดเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายนนี้ 

 

เซ็นทรัลพลาซา ศรีราชา

 

มาเร็วกลับเร็ว ใช้เวลาน้อยลง

วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า การที่ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าขยับมาปิดเวลา 21.00 น. เหมือนกันหมด แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบถึงจำนวนลูกค้าที่จะมาเดิน แต่ยังประเมินไม่ได้ชัดเจนว่าจะกระทบเท่าไร

 

แต่ที่แน่ๆ ข่าวการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ส่งผลต่อความรู้สึกของลูกค้า โดยเฉพาะกับกลุ่มที่อยากมาเดินเล่นก็เลี่ยงที่จะมาในช่วงนี้ไปก่อน ขณะที่ลูกค้าที่ตั้งใจมาซื้อของหรือมาทำธุรกิจพบว่า ส่วนใหญ่รีบมารีบกลับ ใช้เวลาน้อยลงเฉลี่ย 20% ด้วยกัน ส่วนยอดขายกระทบบ้าง แต่ไม่ได้เป็นจำนวนที่มากนัก

 

ขณะเดียวกันการกลับมาประกาศ Work from Home ของหลายๆ บริษัท ได้ส่งผลให้สินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคมียอดขายที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงสินค้าในกลุ่มไอทีและอุปกรณ์แก็ดเจ็ต ส่วนการกักตุนสินค้าที่จำเป็นยังไม่ค่อยพบ ด้วยผู้บริโภคทราบแล้วว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตยังเปิดตามปกติ รวมไปถึงสามารถสั่งออนไลน์ได้ ซึ่งเดอะมอลล์มีบริการที่รองรับไว้อยู่แล้ว

 

“การตั้งรับของเราในครั้งนี้ค่อนข้างจะรวดเร็วและทันการณ์มากขึ้น โดยเดอะมอลล์ได้หยิบมาตรการ 100 ข้อ กลับมาใช้อย่างเข้มงวดอีกครั้ง”

 

วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด

 

เน้นทำโปรโมชัน งดจัดกิจกรรม

สำหรับในภาพรวมของเดอะมอลล์ มีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของโรค โดยกลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบจะเป็นห้างในเมืองที่มีลูกค้าบางส่วนเป็นนักท่องเที่ยว ขณะที่ห้างรอบนอกยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย โดยสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไร แต่สินค้ากลุ่มร้านอาหารหรือแฟชั่นค่อนข้างได้รับผลกระทบ 

 

“การที่คนไทยไม่สามารถออกไปต่างประเทศได้ ทำให้ลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อหันมาซื้อสินค้าลักชัวรีเพิ่มมากขึ้น โดยบางแบรนด์พบว่าขายดีขึ้นมาก แต่อย่างไรก็ตามกำลังซื้อที่มาจากคนไทยยังไม่สามารถทดแทนกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวได้ 100%”

 

ในแง่ของกลยุทธ์การตลาด ทางเดอะมอลล์เน้นการทำโปรโมชันมากกว่าการจัดกิจกรรมและอีเวนต์ ด้วยไม่อยากให้ลูกค้ามารวมตัวกันมากๆ รวมไปถึงลดการใช้โฆษณาลงด้วย ขณะเดียวกันเดอะมอลล์ก็ได้อานิสงส์จากโครงการช้อปดีมีคืน ซึ่งลูกค้ากว่า 30% ได้เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อโดยตรง และทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ามากขึ้นในการจับจ่าย ซึ่งหากเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลต่อโครงการนี้ออกไปอีก 

 

สำหรับความท้าทายในปี 2564 นี้ ซึ่งอาจมีผลทำให้กำลังซื้อซึมลง วรลักษณ์มองว่า มีสามเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือการที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก อาจทำให้ลูกค้าบางส่วนเลี่ยงที่จะออกจากบ้าน เรื่องที่สองความไม่มั่นใจเรื่องงาน ด้วยยังไม่รู้ว่าบริษัทจะมีการลดเงินเดือนอีกไหม และเรื่องสุดท้ายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคต

 

“เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ รวมไปถึงความรู้สึกของลูกค้าจะดีขึ้นหากมีความชัดเจนเรื่องวัคซีน โดยเฉพาะในแง่ของประสิทธิภาพ ซึ่งหากได้วัคซีนมาก็เหมือนได้เบรก ตอนนี้ทุกคนอยากได้เบรก แต่คำถามคือเบรกที่ว่านี้จะหยุดได้จริงๆ ไหม และมีประสิทธิผลหรือเปล่า” วรลักษณ์กล่าว

 

 

กระทบเต็มๆ กับมื้อเย็น 

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในระลอกใหม่ที่มากกว่ารอบแรก เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอย่างน้อยอาจจะเท่ากันหรือสถานการณ์ดีกว่า แต่คงไม่มากกว่าแน่ๆ 

 

ขณะที่การหยุดให้นั่งกินในร้านตั้งแต่เวลา 21.00 น. หรือเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ในแง่ของจิตวิทยา การเปิดหรือปิดอาจจะไม่ใช่ประเด็นมากนัก สิ่งที่กระทบกับความรู้สึกของผู้บริโภคคือ จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน 

 

“สิ่งที่กระทบแน่ๆ ในช่วงนี้คือการนั่งกินในร้าน โดยเฉพาะในช่วงมื้อเย็นตั้งแต่เวลา 17.00-19.30 น. เป็นช่วงที่ยอดขายกว่า 45-50% อยู่ในช่วงเวลานี้ ซึ่งตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าจะสร้างผลกระทบมากน้อยแค่ไหน สำหรับช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ถึงไม่ได้แย่มาก แต่ก็ไม่ได้คึกคักอย่างที่คิด ยอดขายลดลงเล็กน้อยไม่ถึง 10%”

 

อย่างไรก็ตามพบว่า ยอดขายจากช่องทางเดลิเวอรีได้เติบโตแบบก้าวกระโดด เฉพาะของ ‘แอปพลิเคชัน 1112 เดลิเวอรี’ ตั้งแต่วันที่ 1-5 มกราคมที่ผ่านมา พบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 300% โดยมี The Pizza Company และ Sizzler เป็นสองแบรนด์หลักที่ขับเคลื่อนการเติบโต

 

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

 

ครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น 

สำหรับ ไมเนอร์ ฟู้ด ในแง่ของมาตรการได้หยิบมาตรการที่เคยทำไว้มาทำให้เข้มข้นขึ้น สำหรับในแง่ของกลยุทธ์ทุกแบรนด์ในเครือต้องกลับไปประเมินแผนการตลาดใหม่ บางแบรนด์แผนที่วางไว้ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วอาจจะต้องรื้อใหม่ทั้งหมด และปรับใหม่เพื่อรับกับสถานการณ์ต่างๆ 

 

“เราประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน และต้องประเมินถึงสถานการณ์ที่แย่ที่สุดไว้ก่อน หากไม่มีการนั่งกินในร้านจะเป็นอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือการประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน เพื่อให้สามารถรับมือได้ทันทีหากมีสถานการณ์อะไรเปลี่ยนแปลง”

 

ด้านร้านอาหารในเครือกำลังประเมินอยู่ว่าจะต้องปิดไหม เช่น ร้านที่ตั้งอยู่ในอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี หากไม่มีการจัดงานแล้วอาจจะต้องพิจารณาปิดชั่วคราว ซึ่งช่วงปลายปีก่อนยอดขายค่อนข้างดี เพราะมีการจัดงานต่างๆ เช่น มอเตอร์โชว์

 

ในแง่ของการขยายสาขาปีนี้อาจจะมีการชะลอการขยาย แต่หากอยู่ในทำเลที่สามารถทำเดลิเวอรีหรือซื้อกลับบ้านได้ ไมเนอร์ ฟู้ดก็พร้อมที่จะขยายสาขา อย่างไตรมาสนี้ยังมีการขยายอยู่ เช่น Burger King จะเปิดเพิ่มสองสาขา และ BonChon ก็จะเปิดเพิ่มสองสาขาเช่นเดียวกัน

 

“ปีที่แล้วเราโชคดีว่าได้ไตรมาส 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในช่วงไฮซีซัน มาช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลประกอบการในภาพรวมเติบโตและมีกำไร สำหรับปีนี้ความหวังทั้งหมดไปอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก”

 

 

ความท้าทายในการทำธุรกิจปีนี้ ประพัฒน์มองว่ามีสามเรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องคน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่า เรื่องที่สอง โปรดักต์ที่ต้องตอบโจทย์ลูกค้า และเรื่องสุดท้าย ราคาและโปรโมชันที่จำเป็นต้องมี

 

“เราผ่านมาเกินครึ่งทางแล้วสำหรับการระบาดของโรคโควิด-19 ทุกคนทำดีที่สุดแล้ว ตอนนี้เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จากการมีวัคซีน เชื่อว่าหากเริ่มฉีดจริงๆ ในไทย จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ระหว่างนี้เองเราก็คงต้องสู้กันอีกสักตั้ง” ประพัฒน์กล่าวทิ้งทาย 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising