×

โควิด-19 ทำพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน แบรนด์และนักการตลาดควรต้องรู้อะไร?

10.04.2020
  • LOADING...

จากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ทำภาคธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมต้องปรับตัว ปรับรูปแบบการให้บริการ การดำเนินธุรกิจกันยกใหญ่ เนื่องจากฝั่ง ‘ผู้บริโภค’ ก็มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเช่นกันตามข้อจำกัด และมาตรการต่างๆ ที่ทางรัฐบาลได้ประกาศออกมา

 

เมื่อเร็วๆ นี้ กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย ได้จับมือกับเอเจนซีในเครือ ‘มายด์แชร์ มีเดียคอม เวฟเมคเกอร์’ และพาร์ตเนอร์อย่าง คันทาร์ ผู้นำด้านการวิจัย และ ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) สรุปภาพรวม ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศ และระดับธุรกิจสินค้าและบริการในแต่ละหมวดหมู่ พร้อมเสนอข้อแนะนำที่ควรรู้สำหรับนักโฆษณาและการตลาด

 

ข้อมูลจาก ZOCIAL EYE โดย บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ระหว่างเดือนมกราคมจนถึงกลางเดือนมีนาคม ผู้ใช้งานไทยกล่าวถึง ‘โควิด-19’ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากกว่า 148 ล้านข้อความ โดยแพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมใช้ในการพูดถึงสถานการณ์นี้คือ Twitter ที่ 65% และอีก 20% อยู่บน Facebook

 

ในข้อมูลเชิงพฤติกรรมคนไทย พบว่าส่วนใหญ่มีการปรับตัวมาใช้จ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ และใช้บริการอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยในจำนวนนี้ 52% เริ่มสมัครดูสตรีมมิงแบบจ่ายเงิน ส่วนอีก 44% เริ่มสั่งอาหารออนไลน์ (สั่งมากขึ้น) ทั้งนี้การสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มผ่านช่องทางออนไลน์ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 116% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ

 

สำหรับคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ และนักการตลาดในแต่ละหมวดหมู่อุตสาหกรรมมีดังนี้

 

ยานยนต์: แบรนด์ควรทำการปรับกลยุทธ์เพื่อเข้าหาผู้บริโภคที่ยังมีความต้องการซื้อรถผ่านการใช้ Search Engine Marketing รวมถึงให้โปรโมชันและข้อเสนอที่น่าสนใจเพื่อปิดการขายกับผู้บริโภคที่มีความสนใจอยู่แล้วให้เร็วที่สุด เนื่องจากการยกเลิกงานจัดแสดงรถยนต์ และสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภควางแผนการใช้เงินรัดกุมขึ้น

 

อสังหาริมทรัพย์: แบรนด์สามารถที่จะประยุกต์ใช้สื่อดิจิทัลแทนการโฆษณาแบบปกติ เช่น การใช้ Search Engine Marketing เข้าถึงผู้ที่มีความต้องการซื้อโดยตรง และต่อเนื่องด้วยการใช้กลยุทธ์การสื่อสารการขายผ่านทาง VDO Conference หรือ Short Video เพื่อให้คำแนะนำและพาชมสถานที่ในแบบ Virtual Reality แทนการไปชมสถานที่จริงคือช่องทางที่จะสามารถกระตุ้นยอดขาย

 

การท่องเที่ยวและบริการ: แบรนด์ต้องรักษาความน่าเชื่อถือ พร้อมรับฟังเสียงจากผู้บริโภคให้มากและอย่างใจเย็นที่สุด เพราะสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงเช่นนี้ส่วนมากจะมาพร้อมกับอารมรณ์ของผู้บริโภค และสามารถนำมาซึ่งกระแสดราม่าในทางลบให้กับแบรนด์ได้ 

 

ดังนั้นในทุกการสื่อสารที่ออกจากแบรนด์จะต้องมาพร้อมกับความโปร่งใส และความพร้อมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความจริงใจ โดยแบรนด์สามารถปรับกลยุทธ์จากการใช้การสื่อสารเพื่อการตลาดไปเป็นการสื่อสารเพื่อองค์กรแทน และยังสามารสร้างความมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบ CSR

 

สินค้าความงามและแฟชั่น: แม้การปิดร้านค้าต่างๆ รวมถึงการที่ผู้บริโภคไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ในแบบปกติ เช่น การช้อปปิ้ง หรือออกไปเสริมสวย แต่จากข้อมูลที่สำรวจมายังพบว่าผู้บริโภคกลุ่มผู้หญิงและผู้ที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ยังคงมีความกังวลต่อภาพลักษณ์ โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการประชุมผ่านระบบดิจิทัลจากที่บ้าน

 

ดังนั้น แม้ว่าจะมีการทำงานจากที่บ้าน แต่ก็พบว่าผู้บริโภคยังคงมีความต้องการที่จะแต่งหน้าและแต่งตัว เพื่อคลายความเครียดและถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย

 

นักการตลาดจึงสามารถใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ การค้นหาข้อมูลออนไลน์ และโปรโมชันเพื่อสร้างโอกาสเพิ่มยอดขาย และสามารถใช้โอกาสสร้างแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นในช่วงกักตัวผ่านคอนเทนต์ หรือการใช้กลยุทธ์สร้างแรงบันดาลใจผ่าน KOL ในช่วงทำงานที่บ้าน 

 

ขณะที่ในประเด็นกำลังซื้อของผู้บริโภคมีการลดลงนั้น การโปรโมตสินค้าที่เป็นแบบซองในร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์

 

สินค้าอุปโภคบริโภค: การประกาศภาวะฉุกเฉินไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าในกลุ่มนี้มากนัก เพราะผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนและอาหารถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ดังนั้น สิ่งที่แบรนด์ควรทำคือ รักษาระดับการสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง สร้างความความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าจะไม่เกิดการขาดแคลนสินค้าผ่านการใช้สื่อดิจิทัลร่วมกับสื่อโทรทัศน์

 

นอกจากนี้ การสร้างเครื่อข่ายหรือพันธมิตรกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและธุรกิจการขนส่งให้ทั่วถึง ก็นับเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์ด้วยเช่นกัน

 

ร้านอาหาร: ธุรกิจร้านอาหารต้องรักษามาตรฐานการจัดส่ง คุณภาพ เวลา ศูนย์บริการข้อมูลแก่ผู้บริโภค และด้านสุขอนามัยและความสะอาด รวมถึงร่วมมือกับแพลตฟอร์มการสั่งอาหารออนไลน์ก็จะสามารถเพิ่มพื้นที่การให้บริการในการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นอีกด้วย

 

โดยแบรนด์จะต้องไม่ลืมเรื่องของการสร้างการจดจำ และรักษาการรับรู้ของผู้บริโภคผ่านการใช้สื่อโทรทัศน์และ Search Engine Marketing เพราะช่วงเวลานี้ผู้บริโภคจะทำการค้นหาข้อมูลเพิ่มมากขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติ

 

สำหรับร้านอาหารปกติสามารถนำเสนอโปรโมชันและส่วนลดพิเศษ เพื่อเป็นการดึงผู้บริโภคให้เกิดการกลับมาที่ร้านเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติได้อีกด้วย

 

ธนาคารและสินค้าเทคโนโลยี: แบรนด์สามารถยกกลยุทธ์การให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลมาเป็นจุดขายสร้างประสบการณ์ความสะดวกสบายของระบบดิจิทัลแทนการใช้เงินสด โดยต้องพัฒนาแพลตฟอร์มการใช้งานผ่านระบบดิจิทัลให้ง่ายต่อผู้บริโภคมากที่สุด และเตรียมความพร้อมการให้บริการแบบตัวต่อตัว ทั้ง Call Centre หรือ VDO Conference

 

สำหรับแบรนด์สินค้าประเภทเทคโนโลยี ควรจับมือกับการแฟลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และบรรดาผู้ให้บริการการขนส่งเพื่อสร้างการเข้าถึงผู้บริโภค

 

ศึกษาข้อมูลและผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2V4MddW (ภาษาอังกฤษ) หรือสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่แผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) และบริษัทในเครือฯ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising