×

ประชุม COP27 ผู้นำโลกทำอะไรแล้วบ้างในปี 2022 เพื่อแก้ไขภาวะโลกรวน

07.11.2022
  • LOADING...

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 เปิดฉากขึ้นวานนี้ (6 พฤศจิกายน) ที่เมืองชาร์มเอลชีคของอียิปต์ ท่ามกลางความคาดหวังจากนานาชาติที่ต้องการเห็นความคืบหน้าในการรับมือและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

โดยหากย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ บรรดาผู้นำโลกที่เข้าร่วมประชุมต่างเห็นพ้องในการดำเนินการหลายอย่าง เพื่อเร่งรับมือกับภาวะโลกรวน โดยเฉพาะการลดการแพร่กระจายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายหลักที่วางไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement)

 

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศหลายคนชี้ว่า ความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนงานต่างๆ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมายังเป็นไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากรัฐบาลนานาชาติเผชิญความท้าทายอื่นๆ ทั้งวิกฤตพลังงานและวิกฤตการเงิน รวมถึงวิกฤตความขัดแย้งที่ลุกลามอย่างภาวะสงครามในยูเครน

 

รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วชี้ว่า โลกกำลังมุ่งสู่หายนะด้านสภาพอากาศจากความล้มเหลวของนานาชาติในการดำเนินนโยบายเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ซึ่งนโยบายที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน จะทำให้ระดับอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงถึง 2.4-2.6 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้

 

ความหวังสำคัญที่ยังพอมองเห็นในตอนนี้ มีทั้งการแก้ไขกฎหมายรับมือภาวะโลกรวนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ และการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ของบราซิล ซึ่งอาจช่วยลดการทำลายผืนป่าแอมะซอนได้

 

ขณะที่บรรดาผู้นำโลกต่างตบเท้าเข้าร่วมการประชุม COP27 ระหว่างวันนี้และวันพรุ่งนี้ (7-8 พฤศจิกายน) ซึ่งประเทศที่ถูกจับจ้องคือประเทศที่มีบทบาทสำคัญ เช่น จีน อินเดีย สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย บราซิล และประเทศใน EU ที่ต้องตอบคำถามสำคัญว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้ทำอะไรและเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้างในการดำเนินการเพื่อรับมือกับวิกฤตโลกรวน

 

สหรัฐฯ: ผู้นำแก้ปัญหาโลกรวน?

สหรัฐฯ ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในปีนี้ เมื่อผ่านกฎหมายฉบับใหม่เพื่อเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีหลายมาตรการภายใต้ พ.ร.บ.ลดเงินเฟ้อฉบับใหม่ ที่สามารถลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ 

 

แดน ลาชอฟ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรโลกของสหรัฐฯ ชี้ถึงการผ่านกฎหมายฉบับใหม่เพื่อรับมือวิกฤตโลกรวนของสหรัฐฯ ว่า เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความคืบหน้าอย่างมาก

 

กฎหมายฉบับใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้พลังงานสีเขียวกลายเป็นพลังงานเริ่มต้นที่ใช้ในภาคส่วนสำคัญหลักๆ อย่างไฟฟ้า การขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดสำหรับผู้บริโภคคือ การให้เครดิตภาษีประมาณ 7,500 ดอลลาร์ (ประมาณ 2.8 แสนบาท) สำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

 

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของวอชิงตันไม่ได้ทำให้เกิดแค่ข่าวดี โดยหลังจากที่นักการเมืองอาวุโสของสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันจนกลายเป็นประเด็นถกเถียง ทำให้จีนตัดสินใจยุติความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่าอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเจรจาด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศ

 

นอกจากนี้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยังได้ปล่อยน้ำมัน 15 ล้านบาร์เรลจากคลังสำรองสู่ตลาดโลกเพื่อรับมือวิกฤตพลังงาน ขณะที่ได้อนุมัติสัญญาเช่าใหม่สำหรับการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมันและก๊าซ

 

และในฐานะมหาอำนาจ สหรัฐฯ ยังไม่ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินที่เหมาะสมและยุติธรรมต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ในการประชุม COP27

 

อังกฤษ: ผู้นำและความลังเล

สหราชอาณาจักรนั้นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว และได้ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญต่อทั่วโลก อีกทั้งยังแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นผู้นำโลกในการรับมือกับภาวะโลกรวน

 

อย่างไรก็ตาม เอลิสซา กิลเบิร์ต ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของสถาบันแกรนแธมแห่งราชวิทยาลัยลอนดอน ชี้ว่า สหราชอาณาจักรนั้นกำลังเข้าร่วมใน COP27 ด้วยความ ‘อ่อนแอ’ และเป็นผู้นำที่ ‘น่าผิดหวัง’

 

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้กลับลำยอมเข้าร่วมประชุม COP27 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาตัดสินใจว่าจะไม่เข้าร่วมประชุม COP27 เนื่องจากติดภารกิจอื่น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่านี่เป็นท่าทีประนีประนอมของสหราชอาณาจักร

 

“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ COP คือการเป็นผู้นำทางการเมืองจากระดับสูงสุด ความลังเลจากนายกรัฐมนตรีจะแย่กว่านั้นในปีที่เราเป็นประธาน COP” กิลเบิร์ตกล่าว

 

จากการวิเคราะห์ของแผนติดตามการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action Tracker) ที่ส่งให้แก่ UN พบว่า สหราชอาณาจักรไม่ได้เพิ่มความทะเยอทะยานที่จะดำเนินการกับบทบาทของตน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไม่เป็นไปตามคำสัญญาที่ให้ไว้ในความตกลงปารีสว่าจะเพิ่มความทะเยอทะยานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

ขณะที่วิกฤตด้านพลังงานยังส่งผลให้สหราชอาณาจักรหันหลังให้กับคำมั่นที่จะยุติการสกัดน้ำมันและก๊าซในแหล่งใหม่ในทะเลเหนือ และปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน

 

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจไม่ได้เปลี่ยนสมดุลทางด้านพลังงานของสหราชอาณาจักร แต่เป็นการ ‘ส่งสัญญาณที่ผิด’

 

EU: ถูกบีบโดยรัสเซีย

ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปมีประวัติความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่การรุกรานยูเครนของรัสเซียและผลกระทบต่อการจัดส่งพลังงานแก่ยุโรปได้บ่อนทำลายสิ่งเหล่านั้น

 

โรเบิร์ต ฟอล์กเนอร์ ศาสตราจาร์ยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ลอนดอน กล่าวว่า “ผู้นำได้ยืดอายุโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และเราคาดว่าการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกในยุโรปจะเพิ่มขึ้นราว 2% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้”

 

ข้อมูลในแผนติดตามการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศให้คะแนนเป้าหมายการดำเนินการด้านสภาพอากาศ นโยบาย และการสนับสนุนด้านการเงินของ EU ว่า ‘ไม่เพียงพอ’ อีกทั้งยังไม่ได้ส่งแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contributions: NDC) ฉบับอัปเดตของปีนี้ให้แก่ UN

 

อย่างไรก็ตาม ศ.ฟอล์กเนอร์ มองว่า การกลับมาลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลของ EU เป็นเพียง ‘ความล้มเหลวชั่วคราว’ และแนะนำว่า EU สามารถใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน

 

ทั้งนี้ แผนรับมือวิกฤตพลังงานฉบับใหม่ของ EU ในชื่อ REPowerEU ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนจากเดิมที่ 40% เป็น 45% ในปี 2030

 

อินเดีย: ความทะเยอทะยานอันยิ่งใหญ่ที่ถูกขัดขวางโดยถ่านหิน

อินเดียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เผยแพร่เป้าหมายด้านสภาพอากาศที่ได้รับการปรับปรุงในปี 2022 โดยให้คำมั่นว่าจะลดความเข้มข้นของการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 45% ภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็น 50%

 

อย่างไรก็ตาม แผนของอินเดียที่จะเปิดเหมืองถ่านหินกว่า 100 แห่งอีกครั้งอาจเป็นอุปสรรคต่อความทะเยอทะยานเหล่านั้น (FYI: ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่แพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด) 

 

ศา.นาฟรอฟ ดูบาช จากศูนย์นโยบายสาธารณะ และที่ปรึกษาด้านสภาพอากาศของ UN ชี้ว่า ภาษีจากถ่านหินนั้นสามารถช่วยค่าใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และการสูญเสียรายได้นั้นจำเป็นจะต้องมีรายได้ทดแทน

 

ขณะที่แผนติดตามการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศชี้ว่า อินเดียนั้นไม่ได้มีความทะเยอทะยานมากนักในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ก็สามารถทำให้สำเร็จตามเป้าหมายได้ด้วยการดำเนินการอย่างจำกัดของรัฐบาล

 

บราซิล: ประธานาธิบดีใหม่ ความหวังใหม่?

บราซิลถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากป่าแอมะซอนถือเป็นป่าดิบชื้นขนาดใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ปอดของโลก’ จากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล

 

โดยในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนาโร ได้พ่ายแพ้ให้แก่อดีตประธานาธิบดี ลูอิซ อินาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา ซึ่งความพ่ายแพ้ของโบลโซนาโรนั้นอาจเปลี่ยนแปลงอนาคตของผืนป่าแอมะซอนในชั่วข้ามคืน ขณะที่ลูลายืนยันว่า บราซิลพร้อมที่จะกลับมาเป็นผู้นำในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

 

สาเหตุที่ความพ่ายแพ้ของโบลโซนาโรเป็นความหวังสำคัญในการฟื้นฟูผืนป่าแอมะซอน เนื่องจากการดำเนินนโยบายของโบลโซนาโรที่เปิดทางให้มีการทำเหมืองมากขึ้นในป่าแอมะซอน โดยในปี 2021 มีการตัดไม้ทำลายป่าในป่าแอมะซอนเพิ่มขึ้นถึง 48%

 

ในการประชุม COP26 ปีที่แล้วนั้น เป้าหมายการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของบราซิลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ‘มีความทะเยอทะยานที่ลดน้อยลง’ เมื่อเทียบกับคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในปี 2016 อีกทั้งยังล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำสัญญา

 

ในอดีตนั้นบราซิลใช้โรงไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อผลิตพลังงานสีเขียวจำนวนมาก แต่ภัยแล้งในปี 2564 ทำให้น้ำในเขื่อนลดลง และเพื่อรับมือกับพลังงานที่หายไป รัฐบาลบราซิลได้ลงทุนในน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น โดยคาดว่าการใช้น้ำมันในบราซิลจะเพิ่มขึ้นถึง 70% ภายในปี 2030

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า พลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถชดเชยการสูญเสียพลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของบราซิลได้

 

ออสเตรเลีย: รัฐบาลใหม่เร่งชดเชยความถดถอย

สำหรับออสเตรเลียเองก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในปีนี้เช่นกัน โดยมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม ซึ่ง แอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้เร่งรัดแผนดำเนินการสภาพภูมิอากาศ และยุติความถดถอยที่มีมากว่าทศวรรษ

 

รัฐบาลออสเตรเลียได้ส่งเป้าหมายการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ให้แก่ UN โดยสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 43% ภายในปี 2030 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ก้าวกระโดดครั้งใหญ่เมื่อเทียบกับเป้าหมายเดิมที่ 26%

 

อย่างไรก็ตาม บิล แฮร์ ซีอีโอขององค์กร Climate Analytics ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลออสเตรเลียชุดใหม่ดูเหมือนจะเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมานั้นออสเตรเลียมีความถดถอยและดำเนินการรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศไปเพียงเล็กน้อย

 

“จนถึงตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพียงเล็กน้อย และแน่นอนว่าไม่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล” เขากล่าว

 

ขณะที่รัฐต่างๆ ของออสเตรเลียนั้นเป็นผู้นำในการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ออสเตรเลียเองยังคงเป็นประเทศผู้ผลิตถ่านหินชั้นนำ 5 อันดับแรกของโลก

 

ทั้งนี้ แม้ว่าออสเตรเลียจะให้คำมั่นในการประชุม COP26 ว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่า แต่ในการจัดอันดับเมื่อปีที่แล้ว ออสเตรเลียยังคงเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวที่อยู่ในจุดอันตรายจากการสูญเสียต้นไม้ในประเทศ โดยพบว่าผืนป่าทางตะวันออกของออสเตรเลียถูกทำลายไปแล้วเกือบครึ่ง

 

จีน: ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ กำลังลงทุนในพลังงานหมุนเวียน

จีนนั้นมีบทบาทที่ซับซ้อนในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศต่างจากบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว โดยปฏิเสธการรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมา แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจะชี้ว่ามีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกรวน

 

ขณะที่ นีล เฮิร์สต์ นักวิชาการอาวุโสด้านพลังงานจากสถาบันแกรนแธม มองว่า จีนในตอนนี้เป็นประเทศ ‘ผู้ก่อมลพิษที่น่ากลัว’ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ในขณะที่ยังดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เผาผลาญถ่านหินบนโลกไปกว่าครึ่ง อีกทั้งยังไม่เต็มใจที่จะลดปริมาณการใช้ถ่านหินเนื่องจากการขาดแคลนพลังงาน

 

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งจีนยังเป็นนักลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุด โดย 1 ใน 4 ของรถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ในจีนนั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

 

“พวกเขากำลังใช้ความพยายามอย่างมากและกำหนดเป้าหมายที่เรียกร้อง ซึ่งรวมถึงการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงระดับสูงสุดภายในปี 2030” เฮิร์สต์กล่าว

 

นอกจากนี้จีนยังมีความทะเยอทะยานอย่างมากในการแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการเพิ่มการปลูกต้นไม้ ซึ่งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ให้คำมั่นว่าจะปลูกต้นไม้ให้ได้ถึง 7 หมื่นล้านต้นภายในปี 2030

 

ภาพ: Photo by Per-Anders Pettersson / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X