×

COP26 ในโลกกีฬา 4 วิธีเยียวยาโลกอย่างยั่งยืน

03.11.2021
  • LOADING...
cop26-in-sports

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ในขณะที่ผู้นำทั่วโลกกำลังหารือกันในการประชุม COP26 เพื่อกู้วิกฤตภาวะโลกร้อนในเวลานี้ ในมุมของแฟนกีฬาทุกคนก็มีสิ่งที่เราสามารถช่วยกันได้เหมือนกัน
  • ตั๋วเข้าชมที่ทำจากกระดาษ รวมถึงใบเสร็จและซองที่มาพร้อมกันด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือมลพิษ ไม่นับหนังสือโปรแกรมซึ่งเป็นของสะสมยอดนิยมสำหรับแฟนกีฬา แม้ว่าบางคนจะเปิดอ่านแค่แป๊บเดียว หรือบางคนอาจจะแค่ซื้อเก็บไว้โดยไม่ใช้ทำอะไรเลยและเมื่อบ้านรกก็เอาไปทิ้ง
  • ชุดกีฬา เสื้อฟุตบอลที่ส่วนใหญ่มักจะทำจากโพลีเอสเตอร์นั้นจะมีคาร์บอนฟุตพรินต์มากกว่าเสื้อผ้าที่ทำจากฝ้ายมากกว่า 2 เท่าเลยทีเดียว

วาระของโลก ณ เข็มนาฬิกาเดินไปนี้ไม่ใช่เรื่องอนาคตของ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดอีกต่อไปแล้ว (ท่ามกลางความสับสนของแฟนปีศาจแดง ที่ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจดีกับชัยชนะนัดล่าสุดเหนือท็อตแนม ฮอตสเปอร์) หากแต่เป็นเรื่องการประชุมสุดยอด COP26 หรือการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน

 

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมของผู้นำทั่วโลกที่มารวมตัวกันเพื่อหารือในการกู้วิกฤตปัญหาโลกร้อน ซึ่งทวีความรุนแรงและมีสัญญาณอันตรายส่งออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

และเพราะนี่ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่คือเรื่องของทุกคนบนโลก ดังนั้นเราต่างมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ในวงการกีฬาที่เริ่มมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการร่วมมือกันเพื่อลดภาวะโลกร้อน โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการประกาศโครงการ #GameZero ที่จะพยายามในการลดการสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ให้น้อยที่สุดจนถึง 0 ให้ได้ผ่านวิธีการต่างๆ

 

ทีนี้สำหรับแฟนกีฬาทุกคน เราพอจะทำอะไรเพื่อช่วยโลกของเราได้บ้าง?

 

นี่คือ 4 วิธีง่ายๆ ที่ไม่ได้อยากให้จบแค่อ่านแล้วคิดตาม แต่อยากให้ลองช่วยทำตามกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ

 

cop26-in-sports

 

1. เปลี่ยนวิธีการเดินทางไปสนาม

อย่างแรกที่สุดที่แฟนกีฬาทุกคนสามารถช่วยกันทำได้คือเปลี่ยนวิธีการเดินทางไปสนามกีฬา

 

วิธีที่ดีที่สุดต่อสิ่งแวดล้อมคือการเดินหรือขี่จักรยานไปครับ เพราะเราจะไม่ทิ้งคาร์บอนฟุตพรินต์ (ปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการ (ตามข้อกำหนด ISO 14040) ตลอดวัฏจักรชีวิต ซึ่งแหล่งกำเนิดของก๊าซดังกล่าวมาจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล กระบวนการในภาคอุตสาหกรรมหรือกสิกรรม) เอาไว้ให้โลก

 

นอกจากนี้การเดินหรือการขี่จักรยานก็ยังดีต่อสุขภาพของเราด้วย

 

แต่หากเลี่ยงไม่ได้ เราอาจใช้วิธีการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ก็จะช่วยลดการสร้างมลภาวะได้มากกว่าการขับรถไปสนามกีฬา

 

หรือหากเลี่ยงไม่ได้อีกที่จะขับรถไป อย่างน้อยขอให้แชร์กันไปกับเพื่อนหรือแฟนบอลคนอื่นด้วยกัน จากขับกันไปคนละคันเป็นคันละ 4 คน ก็ช่วยได้แล้ว (ซึ่งการเดินทางโดยรถยนต์ 4 คนนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการขึ้นรถบัสด้วย!)

 

ส่วนวิธีการเลวร้ายที่สุดที่จะไปสนามคือการเดินทางด้วยเครื่องบิน และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดถูกตำหนิอย่างมากจากการนั่งเครื่องบินไปแข่งกับเลสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งใช้เวลาเดินทางแค่ 10 นาทีบนอากาศ แต่สร้างมลภาวะมากมายมหาศาล

 

cop26-in-sports

 

2. กินอะไรก็ได้ ไม่ได้!

เรื่องต่อมาที่หลายคนอาจจะไม่ตระหนักมาก่อนเลยคือเรื่องอาหารการกินของเรานั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดมลพิษต่อโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน

 

เพราะกว่าที่จะเป็นอาหารให้เรารับประทานนั้นมีกระบวนการมากมายเกิดขึ้นมาก่อนและกระบวนการเหล่านั้น (ปศุสัตว์ การจัดเก็บอาหาร การขนส่ง การแปรรูป ฯลฯ) ล้วนแต่ทำให้เกิดมลพิษทั้งสิ้น ซึ่งตามข้อมูลจาก EAT-Lancet Commission นั้นระบุว่า หากเราต้องการจะให้โลกอยู่อย่างยั่งยืนแล้วทุกคนต้องรับประทานผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่วให้มากกว่าเดิม 2 เท่า

 

เพราะแค่เราลดการทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม ก็สามารถลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ถึง 2 ใน 3 ของปริมาณที่เกิดขึ้นจากวงจรอาหารแล้ว

 

ดังนั้น อาหารวีแกนหรือแพลนต์เบส (อาหารที่มาจากพืช) นั้นคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต เพียงแต่หากอดไม่ได้ที่จะทานเนื้อสัตว์ การทานเนื้อหมู เนื้อปลา และเนื้อไก่ นั้นดีกว่าการทานเนื้อวัวและเนื้อแกะ

 

วัตถุดิบไม่ใช่แค่เรื่องเดียวแต่ยังมีเรื่องของการประกอบอาหารไปจนถึงภาชนะที่ใช้ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีหลายสโมสรที่ตระหนักเรื่องเหล่านี้และเลิกใช้ภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้ว หรือใครอยากจิบเบียร์เชียร์บอลนั้น เบียร์สดก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าเบียร์กระป๋องหรือขวด

 

แต่ให้ดีที่สุดที่แนะนำกันได้คือเตรียมอาหารมาจากบ้านเลย และใช้ภาชนะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (แต่บางสนามก็ไม่อนุญาตให้ทำแบบนั้น)

 

ดังนั้นเพื่อโลกของเราแล้ว ถ้าใครถามว่ากินอะไรดี? และจะตอบว่าอะไรก็ได้ ไม่ได้แล้วนะ

 

cop26-in-sports

 

3. ของสะสมหรือขยะ

ในอดีตหรือในปัจจุบันเองก็ตาม หนึ่งในสิ่งที่เป็นของที่ระลึกสำหรับแฟนกีฬาคือตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ซึ่งเป็นเครื่องเตือนความทรงจำที่ดี

 

แต่เพื่อโลกของเราแล้ว บางทีเราอาจจะต้องเก็บความทรงจำในรูปแบบของความทรงจำจริงๆ (คือไม่มีวัตถุแล้ว) หรือไม่เช่นนั้นต้องเก็บไว้บนคลาวด์ ก้อนเมฆที่บันทึกความทรงจำในรูปแบบดิจิทัลแทน เพราะชัดเจนแล้วว่าตั๋วที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดคือตั๋วที่ไม่ได้ทำจากกระดาษ

 

ปัจจุบันในพรีเมียร์ลีกเอง บรรดาสโมสรต่างๆ ก็ได้รับการผลักดันให้ใช้ระบบตรวจการเข้าชมแบบดิจิทัล เพื่อทำตามมาตรการการป้องกันโควิดอยู่แล้ว เพียงแต่ก็ยังคงมีตั๋วเข้าชมที่ทำจากกระดาษ รวมถึงใบเสร็จและซองที่มาพร้อมกันด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือมลพิษ

 

ไม่นับหนังสือโปรแกรมซึ่งเป็นของสะสมยอดนิยมสำหรับแฟนกีฬา แม้ว่าบางคนจะเปิดอ่านแค่แป๊บเดียว หรือบางคนอาจจะแค่ซื้อเก็บไว้โดยไม่ใช้ทำอะไรเลยและเมื่อบ้านรกก็เอาไปทิ้ง พฤติกรรมเหล่านี้อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกันใหม่

 

เผื่อสนใจ! การรีไซเคิลกระดาษ 1 ตัน หมายถึง ต้นไม้ 17 ต้น, น้ำมัน 1,727 ลิตร, พื้นที่ในการกลบฝัง 2.29 ลูกบาศก์เมตร, ใช้พลังงานไฟฟ้า 4,000 กิโลวัตต์ และน้ำอีก 31,822 ลิตร

 

cop26-in-sports

เสื้อวินเทจก็ช่วยลดโลกร้อนได้!

 

4. ชุดทีมไม่ต้องซื้อบ่อยก็ได้

หนึ่งในสิ่งย้อนแย้งสำหรับแฟนกีฬาคือเรื่องของชุดทีม ที่ไม่ว่าจะยุคไหนก็มีการบ่นกันตลอดว่าชุดแข่งแพง สิ้นเปลือง สโมสรจะทำออกมาบ่อยๆ ทำไม แต่ไม่ว่าสโมสรจะออกชุดไหนมาก็กวาดต้อนเข้ากรุกันเป็นล่ำเป็นสันเสมอ

 

รู้ไหมว่าการซื้อเสื้อผ้าใหม่ตามแฟชั่น (ในภาพรวมนะไม่ใช่แค่เรื่องชุดกีฬา) มีส่วนในการปล่อยมลพิษมากถึง 10% จากมนุษย์โลก

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดกีฬา เสื้อฟุตบอลที่ส่วนใหญ่มักจะทำจากโพลีเอสเตอร์นั้นจะมีคาร์บอนฟุตพรินต์มากกว่าเสื้อผ้าที่ทำจากฝ้ายมากกว่า 2 เท่าเลยทีเดียว (เสื้อโพลีเอสเตอร์ 1 ตัว ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ 5.5 กิโลกรัม ส่วนเสื้อจากฝ้าย 2.1 กิโลกรัม)

 

และถึงโพลีเอสเตอร์จะสามารถรีไซเคิลได้ การจะย่อยสลายต้องใช้เวลานับร้อยปี และอาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกในอนาคต

 

รู้แบบนี้แล้วถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องซื้อเสื้อบ่อยก็ได้ ความรักต่อทีมมันไม่ได้แสดงออกผ่านเสื้อผ้าอย่างเดียว หรือถ้าซื้อจะดีกว่าถ้าไม่พิมพ์ชื่อนักฟุตบอลหรือชื่อตัวเองลงด้านหลัง เพราะมันสามารถส่งต่อให้คนอื่นได้

 

หรือหากคิดว่าก็เงินของฉัน ซื้อแล้วก็ขอให้ใส่ให้คุ้มแล้วกัน! (แล้วไปลดการซื้อเสื้ออย่างอื่นแทน)

 

 

นี่คือทีมฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส สโมสรที่ได้ชื่อว่า ‘เขียวที่สุดในโลก’ เวลานี้

           

สำหรับ 4 วิธีนี้ถึงอาจจะฟังดูยังไงๆ ในความรู้สึกตอนนี้ แต่หากมีเวลาก็ลองทบทวนอีกที จะมองเห็นภาพใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียดเล็กๆ

 

เพราะทุกการกระทำของเราไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สามารถทำร้ายโลกได้ทั้งนั้น ดังนั้นหากทุกคนตระหนักและช่วยกันทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ปรับตัวกันไป

 

แล้วจะภูมิใจว่าในฐานะแฟนกีฬาเราก็ช่วยโลกได้เหมือนกัน 🙂

 

อ้างอิง:

FYI
  • ทีมกีฬาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสโมสรสีเขียวที่สุดในปัจจุบันคือ ทีมฟอเรสต์ กรีน ในสหราชอาณาจักร ที่มีแนวทางชัดเจนในการเป็นสโมสรสีเขียวที่เป็นแบบอย่างในการรักษ์โลก ด้วยวิธีการ เช่น การใช้พลังงานที่สามารถผลิตขึ้นใหม่ได้เอง, น้ำฝนและน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารจะถูกนำมารีไซเคิลที่สนาม, มีที่จอดรถสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และจุดจอดรถเพื่อเดินทางมาสนามด้วยกัน
  • ในเกมระหว่างสเปอร์สกับเชลซีเมื่อเดือนที่แล้ว เป็นเกมที่ไม่สร้างคาร์บอน โดยทั้งสองทีมเดินทางมายังสนามด้วยรถโค้ชที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ และดื่มน้ำในบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษไม่ใช่ขวดพลาสติก
  • สเปอร์สเป็นสโมสรในพรีเมียร์ลีกที่ได้คะแนนความยั่งยืนสูงสุด (21 คะแนน) รองลงมาคืออาร์เซนอล, ไบรท์ตัน และแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ได้ 20 คะแนน จากการจัดอันดับโดย The Sport Positive Summit League ซึ่งประเมินจากการใช้พลังงานสะอาด, การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, ระบบขนส่งที่ยั่งยืน, การลดการใช้พลาสติก, การจัดการขยะ, การใช้น้ำอย่างมีคุณค่า, การปรุงอาหารที่ผลิตจากพืชหรืออาหารที่ก่อให้เกิดคาร์บอนน้อย และการสื่อสารกับการมีปฏิสัมพันธ์จากทุกฝ่าย
  • เซาแธมป์ตันจะปลูกต้นไม้ 250 ต้น ทุกครั้งที่มีนักเตะจากอคาเดมีได้ลงแจ้งเกิดในทีมชุดใหญ่
  • แมนเชสเตอร์ ซิตี้เสิร์ฟกาแฟที่สนามเอติฮัด สเตเดียม ในแก้วที่สามารถรับประทานได้!
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X