×

เปิดรายละเอียดดีลสำคัญฉบับแรกใน COP26 หลังผู้นำโลกเห็นพ้องหยุดตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030

02.11.2021
  • LOADING...
COP26

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ ได้ข้อตกลงสำคัญฉบับแรกเมื่อวานนี้ (1 พฤศจิกายน) หลังบรรดาผู้นำมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ตกลงให้คำมั่นที่จะหยุดและพลิกฟื้นสถานการณ์การทำลายป่าและการเสื่อมโทรมของผืนดินให้ได้ภายในปี 2030

 

โดยรัฐบาลอังกฤษในฐานะเจ้าภาพและตัวแทนของที่ประชุม COP26 ประกาศในแถลงการณ์ร่วมที่เรียกว่า ‘ปฏิญญาว่าด้วยการใช้ป่าไม้และที่ดินของผู้นำกลาสโกว์ (Glasgow Leaders’ Declaration On Forests And Land Use)’ ซึ่งเผยแพร่ออกมาในวันนี้ (2 พฤศจิกายน) ชี้ว่า ผู้นำ 105 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีผืนป่ารวมกันคิดเป็น 85% ของผืนป่าทั่วทั้งโลก ต่างเห็นพ้องและลงนามร่วมกันในข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งจะส่งผลครอบคลุมผืนป่ากว่า 33 ล้านตารางกิโลเมตร

 

“วันนี้ที่ COP26 บรรดาผู้นำได้ลงนามในข้อตกลงครั้งสำคัญเพื่อปกป้องและฟื้นฟูผืนป่าของโลก เราจะมีโอกาสยุติประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติในฐานะผู้พิชิตธรรมชาติ และกลายเป็นผู้พิทักษ์แทน” บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าว พร้อมเรียกข้อตกลงฉบับนี้ว่าเป็น ‘ข้อตกลงที่ไม่เคยมีมาก่อน’


ใครเข้าร่วมบ้าง และจะทำอะไรบ้าง

ประเทศที่ตอบรับข้อตกลง รวมถึง สหรัฐฯ จีน บราซิล รัสเซีย แคนาดา อินโดนีเซีย และคองโก ที่มีผืนป่าขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยบราซิลเป็นประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเรื่องการทำลายป่า เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการอนุญาตให้ตัดไม้ในป่าแอมะซอนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับรายละเอียดของข้อตกลงฉบับนี้ มุ่งเสริมสร้างความพยายามร่วมกันของนานาประเทศในหยุดทำลายป่าและลดการเสื่อมโทรมของผืนดินในหลายด้าน ได้แก่

 

  1. การอนุรักษ์และเร่งฟื้นฟูป่าไม้และระบบนิเวศบนบกอื่นๆ
  2. การสนับสนุนนโยบายการค้าและการพัฒนาที่ส่งเสริมทั้งการพัฒนา การผลิต และการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ อย่างยั่งยืน โดยไม่ผลักดันให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ผืนดินเสื่อมโทรม

 

  1. ส่งเสริมศักยภาพของชุมชนและวิถีชีวิตในชนบท ด้วยการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนและสร้างผลกำไรได้ ตลอดจนยอมรับคุณค่าที่หลากหลายของผืนป่า และตระหนักถึงสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ที่เป็นไปตามกฎหมายของชาติและกลไกระหว่างประเทศตามที่เหมาะสม

 

  1. การดำเนินการ โดยหากจำเป็นให้ออกแบบนโยบายและแผนงานเกษตรกรรมใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจสำหรับการเกษตรแบบยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

 

  1. ยืนยันพันธกรณีทางการเงินระหว่างประเทศ และเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินและการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถในการเข้าถึง เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน การจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ตลอดจนให้การสนับสนุนชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น

 

  1. อำนวยความสะดวกด้านการเงิน เพื่อเป้าหมายในการฟื้นฟูความสูญเสียและความเสื่อมโทรมของป่าไม้ ในขณะที่ทำให้มั่นใจว่ามีระบบและนโยบายที่เข้มแข็งเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและก้าวหน้า ทั้งด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์จากผืนดินอย่างยั่งยืน ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพและเป้าหมายด้านสภาพอากาศ

 

ภาครัฐ-เอกชน จับมือยุติการทำลายป่า

ที่ประชุม COP26 ยังได้เปิดตัวข้อริเริ่มทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยบรรลุเป้าหมายในการหยุดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งรวมถึงการทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนกลุ่มชนพื้นเมืองผู้พิทักษ์ผืนป่าและการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

 

ภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ 12 ประเทศรวมถึงอังกฤษ ให้คำมั่นว่าจะร่วมขับเคลื่อนกองทุนสาธารณะวงเงิน 12 พันล้านดอลลาร์ ในระหว่างปี 2021-2025 เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการต่อต้านไฟป่าและฟื้นฟูผืนดินที่เสื่อมโทรม 

 

โดยบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ระดับโลกกว่า 30 ราย ที่มีทรัพย์สินรวมกันกว่า 8.7 ล้านล้านดอลลาร์ จะให้การสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 7.2 พันล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าจะหยุดลงทุนในกิจกรรมต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2025 

 

นอกจากนี้จะมีการจัดสรรเงินจากกองทุนดังกล่าว ประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยคุ้มครองป่าดิบชื้นในลุ่มน้ำคองโกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกด้วย

 

ด้านรัฐบาลของ 28 ประเทศ ยังประกาศคำมั่นในการยุติการตัดไม้ทำลายป่าในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ เช่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และโกโก้ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ผลักดันให้มีการทำลายผืนป่าเพื่อใช้ที่ดินสำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์หรือเพาะปลูกพืชผล

 

การจัดการผืนป่าเพื่อบรรลุเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิโลก

สำหรับเป้าหมายหลักของการประชุม COP คือการบรรลุเป้าหมายหลักของความตกลงปารีส ในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ด้วยการคงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และผลักดันความพยายามไปสู่เป้าหมายใหญ่ คือจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งที่ประชุม COP26 ยังเรียกร้องผู้นำของทุกประเทศ ให้ร่วมกันยุติการทำลายป่าและเปลี่ยนแปลงแนวทางการใช้ผืนดิน เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute: WRI) ชี้ว่าผืนป่ามีส่วนสำคัญในการดูดซับการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกได้ประมาณ 30% และจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อป้องกันไม่ให้สภาพภูมิอากาศโลกร้อนขึ้น

 

แต่ระบบป้องกันตามธรรมชาตินี้กำลังจะสูญสลายไปอย่างรวดเร็ว โดย WRI เผยว่าในปี 2020 ที่ผ่านมา โลกของเราสูญเสียผืนป่าไปถึง 258,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่กว่าสหราชอาณาจักร

 

ภาพ: Photo by Lebanese Governmental Palace / Handout/Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X