หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า การฝังยาคุมกำเนิด (Contraceptive Implant) กันมาบ้างแล้ว แต่มีน้อยคนมากที่ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมต้องมีสิ่งนี้เกิดขึ้นมาบนโลก มีสาเหตุอะไรกันแน่ที่ทำให้ทางการแพทย์ผลิตยาฝังคุมกำเนิดขึ้นมา แล้วมันมีข้อดี-ข้อเสียอะไรไหม? การฝังยาคุมกำเนิดเมื่อฝังลงบนร่างกายแล้วจะอยู่ได้นานแค่ไหนกัน? ใครบ้างที่เหมาะกับการฝังยาคุมกำเนิด? วันนี้เราจึงชวนทุกคนมา Cracked เรื่องที่อาจเข้าใจยากให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นไปพร้อมๆ กัน อย่าลืมว่าเรื่องที่เคยคิดว่าไกลตัว สักวันมันอาจจะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวโดยไม่ทันคาดคิดก็เป็นได้ ใครที่อยากรู้จักการฝังยาคุมกำเนิดให้มากขึ้น
การฝังยาคุมกำเนิดคืออะไร?
- การฝังยาคุมกำเนิด หรือยาคุมกำเนิดแบบฝัง มันก็คือวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราววิธีหนึ่ง ที่จะใช้หลอดบรรจุฮอร์โมนชื่อว่า โปรเจสติน ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 มิลลิเมตร ความยาว 4-4.3 เซนติเมตร ลักษณะนิ่ม งอได้ โดยจะเอาหลอดอันนี้ไปฝังใต้ท้องแขน พอฝังไปแล้วฮอร์โมนจะค่อยๆ ซึมออกจากหลอดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งมันจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้
- การฝังยาคุมกำเนิดถือเป็นการคุมกำเนิดชั่วคราวที่ระยะยาว ในประเทศไทยมีสองยี่ห้อ ได้แก่ยี่ห้ออิมพลานอน (Implanon) ฝัง 1 แท่งนาน 3 ปี และยี่ห้อจาเดล (Jadelle) ฝัง 2 แท่ง นาน 5 ปี จากงานวิจัยพบว่าวิธีนี้ช่วยลดการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนหันมาสนใจการฝังยาคุมกำเนิด?
- จริงๆ แล้วการคุมกำเนิดไม่ว่าจะวิธีใด มันเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนและไม่พร้อม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ส่งผลทางลบมากมาย ทั้งต่อตัววัยรุ่นผู้ตั้งครรภ์ ผู้ปกครอง สังคมเศรษฐกิจ และประเทศชาติ
- หากไปลงเอยด้วยการทำแท้ง อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของวัยรุ่น รวมถึงกระทบต่อสภาพสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของสังคม หากตั้งครรภ์ต่อก็ส่งผลเรื่องการเรียน เรียนไม่จบ ต้องลาออกจากการเรียน, คลอดก่อนกำหนด, คลอดยาก, ตกเลือด, มีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูบุตร, ปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัว, ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศชาติ ฯลฯ เด็กที่เกิดมาโดยไม่มีใครต้องการ ก็อาจกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาในสังคม ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยก็มีปัญหานี้เช่นกัน
ข้อดีของการฝังยาคุมกำเนิดคืออะไร?
- มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงถึงร้อยละ 99 เป็นการคุมกำเนิดระยะยาว 3-5 ปี งานวิจัยพบว่าวัยรุ่นมีความพึงพอใจและอัตราการคงใช้สูงกว่าการคุมกำเนิดระยะสั้น เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดกิน
- ไม่มีอันตรายใดๆ อาจมีผลข้างเคียง เช่น เลือดออกกะปริบกะปรอย ซึ่งเป็นเหตุผลอันดับหนึ่งที่วัยรุ่นขอเอาออก แต่สามารถแก้ไขได้โดยผู้บริการต้องมีแนวทางปฏิบัติ
- เมื่อครบกำหนดหรือเมื่อต้องการมีลูก สามารถเอายาฝังออกได้โดยง่าย ตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังเอายาฝังออก
ข้อเสียหรือผลข้างเคียงมีไหม?
- การฝังและการถอดจะต้องทำโดยแพทย์ที่ได้รับการอบรมแล้ว (ไม่สามารถถอดหรือฝังโดยแพทย์ทั่วไปได้) จึงไม่สามารถใช้หรือถอดได้เอง
- ในบางรายสามารถคลำแท่งยาในบริเวณท้องแขนได้
- ประจำเดือนอาจมาแบบกะปริบกะปรอย จึงทำให้ต้องใส่ผ้าอนามัยอยู่เสมอ จะไม่ใส่ก็ไม่ได้ เพราะบางครั้งก็มาแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งหลายๆ คนกังวลกับปัญหาเหล่านี้ (แต่เมื่อผ่านระยะหนึ่งปีขึ้นไปแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะน้อยลง)
- อาจพบภาวะแทรกซ้อนหลังการฝังยาคุมกำเนิดได้ เช่น มีก้อนเลือดคั่งบริเวณที่กรีดผิวหนัง
- อาจพบว่าตำแหน่งของแท่งยาเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม แต่ก็พบได้น้อย
ข้อห้ามในการฝังยาคุมกำเนิด
- ห้ามทำในคนที่มีโรคตับ การทำงานของตับบกพร่อง มีเนื้องอก หรือมะเร็งตับ
- ห้ามทำในคนที่มีเลือดออกจากช่องคลอดไม่ทราบสาเหตุ
- ห้ามทำในคนมีโรคแอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus) ที่มีภูมิต้านทานต่อฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid) หรือไม่ทราบผล
- ห้ามคนที่มีแนวโน้มว่าจะเป็น หรือมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม
อย่างไรก็ตาม แม้วัยรุ่นจะเลือกการคุมกำเนิดด้วยยาฝัง แต่แนะนำว่าควรใช้ถุงยางอนามัยควบคู่กันไปเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ภาพ: Shutterstock
อ้างอิง: