×

สมอง ‘ล้า’ จากคอนเทนต์ล้น นักจิตวิทยาชี้ ‘เราเสพสื่อมากเกินไป’ ทำลายสมาธิ-พลังความคิด ‘โดยไม่รู้ตัว’

30.04.2025
  • LOADING...
content-overload-mental-fatigue

ทุกนาทีบนโลกออนไลน์กำลังเกิดปรากฏการณ์มหาศาล มีการอัปโหลดวิดีโอบน TikTok 16,000 คลิป มีการเปิดรับชม Reels บน Instagram และ Facebook มากถึง 138.9 ล้านครั้ง และมีการรับชมวิดีโอบน YouTube กว่า 3 ล้านครั้งทั่วโลก เราอาศัยอยู่ในมหาสมุทรของข้อมูลที่ไม่มีวันหยุดไหล ทำให้เกิดคำถามว่า เราบริโภคคอนเทนต์มากเกินไปหรือไม่?

 

“ใช่” Gloria Mark นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ตอบอย่างไม่ลังเล “และมันกำลังทำให้เราหมดแรง” เธอบอกว่า “เมื่อถูกโหมกระหน่ำด้วยข้อมูลมากมาย ทรัพยากรความคิดของเราจะเหือดแห้ง จิตใจของเราก็เหนื่อยล้า” เหมือนแบตเตอรี่ที่ถูกใช้งานหนักจนเกินไป

 

สมองส่วนที่เรียกว่า ‘Executive Function’ มีหน้าที่ควบคุมให้เราอยู่ในเส้นทาง ช่วยในการตัดสินใจและมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย แต่เมื่อเราป้อนข้อมูลมากเกินไป มันก็ล้าและไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

คอนเทนต์ในทุกวันนี้มีหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เราเข้าถึงได้ ‘ทุกที่ทุกเวลา’ Mark แบ่งคอนเทนต์เป็นแบบสั้นกับแบบยาว และแบบลึกกับแบบตื้น โดยคอนเทนต์แบบสั้นและตื้นคือสิ่งที่ผู้คนบริโภคมากที่สุด

 

สิ่งที่พบบนโซเชียลมีเดียถูกออกแบบมาเพื่อดึงดูดอารมณ์พื้นฐาน ทั้งความตกใจ ความประหลาดใจ ความโกรธ หรืออารมณ์ขัน เหมือนอาหารที่เต็มไปด้วยน้ำตาล อารมณ์พื้นฐานเหล่านี้ทำให้เราอยู่ในระดับความคิดที่ตื้นเขิน ต่างจากการอ่านหนังสือที่เหมือนอาหารที่มีประโยชน์ ที่อาจจะไม่อร่อยทันทีแต่ให้คุณค่าที่ยาวนาน

ปัญหาใหญ่คือ ‘เราไม่สามารถดึงตัวเองออกมาได้’ การบริโภคคอนเทนต์แบบสั้นและตื้นมากเกินไปกำลังทำลายช่วงความสนใจของเรา 

 

จากการศึกษาพบว่าความสนใจของผู้คนเมื่อมองหน้าจอลดลงจากเฉลี่ย 2.5 นาทีในปี 2004 เหลือเพียง 47 วินาทีในปี 2016 ซึ่งพอดีกับความยาวของวิดีโอส่วนใหญ่บนโซเชียลมีเดีย

 

“เมื่อติดนิสัยบริโภคคอนเทนต์แบบสั้นและตื้น จะยากมากที่จะดึงตัวเองออกมาและหันไปอ่านหนังสือ” Mark แนะนำให้จัดสรรเวลาสำหรับการอ่าน เลือกหนังสือที่เราจมดิ่งไปกับมันได้ และถ้าเป็นไปได้ให้อ่านจากกระดาษจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกรบกวนจากโทรศัพท์

 

Maria Paula Colmenares นักศึกษาแฟชั่นวัย 22 ปี เล่าความรู้สึกว่า “บางทีฉันดู TikTok แล้วจำไม่ได้เลยว่าเพิ่งดูอะไรไป” เธอบอกว่าการดูวิดีโอบนโซเชียลนานๆ เหมือน ‘ติดอยู่ในห้องเสียงสะท้อน’ ที่ทำให้เธอมองโลกผิดเพี้ยนไป

 

เพื่อควบคุมสิ่งที่เธอให้ความสนใจ Colmenares เริ่มจำกัดเวลาบนโซเชียลมีเดีย สมัครรับจดหมายข่าว ค้นหาบทความวิชาการที่มีคุณภาพ ฟังพอดแคสต์และหนังสือเสียงระหว่างทำกิจกรรมอื่นๆ

 

ผลลัพธ์ที่ได้คือ “ฉันได้ชะลอจิตใจลง ฉันมีความชัดเจนในความคิดมากขึ้น ไม่มัวหมองอีกต่อไป เพราะฉันไม่ได้โหลดข้อมูลเข้าไปมากเกินไป” เป็นเหมือนการทำความสะอาดห้องในสมองที่รกเกะกะด้วยข้อมูลไร้สาระ ให้กลับมาโล่งและสว่างอีกครั้ง

 

ท่ามกลางกระแสธารข้อมูลที่ไหลบ่าไม่หยุด เราทุกคนเสี่ยงที่จะจมอยู่ในวังวนของการบริโภคคอนเทนต์ไร้สาระ การตระหนักรู้และตั้งใจชะลอจังหวะชีวิตในโลกดิจิทัล อาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เราทวงคืนความใส่ใจและพลังความคิดที่กำลังจะสูญหายไปในห้วงเวลาแห่งข้อมูลล้นเกินของศตวรรษที่ 21


ภาพ: Pixel-Shot / Shutterstock

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising