ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 39 เดือน มอง GDP ไทยปีนี้ยังขยายตัวได้ 3.-3.5% แต่จับตาสถานการณ์การเมือง หากตั้งรัฐบาลล่าช้า-ม็อบลงถนนอาจโตได้แค่ 2.5-3%
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 55.07 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา โดยปัจจัยหลักเกิดจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจพบว่าผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้ง และเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้ารวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.2, 52.8 และ 64.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเมษายน ที่อยู่ในระดับ 49.4, 52.0 และ 63.6 ตามลำดับ สะท้อนว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจโลก และสถาบันการเงินของโลกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ตลอดจนยังคงกังวลในสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินแนวโน้มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะข้างหน้าว่าจะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทำให้ทั้งนักลงทุนและภาคธุรกิจชะลอการตัดสินใจลงทุน ขณะที่ผู้บริโภคจะระมัดระวังการใช้จ่าย
“คนยังรอความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ความชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอาจต้องติดตามดูอีก 3-4 เดือนกว่าจะมีความชัดเจน” ธนวรรธน์กล่าว
ธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันศูนย์พยากรณ์ฯ ยังคงคาดการณ์ GDP ไทยในกรณีฐานปีนี้ไว้ที่ 3.-3.5% ภายใต้สมมติฐานไม่ว่าใครจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และสามารถเดินหน้าบริหารประเทศยังมีเสถียรภาพ มีการใช้งบประมาณเดิมไปพลางก่อน ไม่มีการประท้วงนอกสภา และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 25-28 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ในกรณีแย่ที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยืดเยื้อไม่สามารถทำได้ภายในเดือนสิงหาคม และการบริหารประเทศอยู่ภายใต้รัฐบาลรักษาการ คาดว่า GDP ก็จะยังขยายตัวได้ราว 3% ส่วนในกรณีดีหากจัดตั้งรัฐบาลสามารถทำได้เร็ว ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตอยู่ในกรอบ 3.6-4% ขณะที่ในกรณีเลวร้ายที่สุดที่สถานการณ์บานปลายจนเกิดการประท้วง GDP ไทยอาจขยายตัวได้ในระดับ 2.5-3%