จากกรณีรถบัสนำเที่ยวสองชั้น ประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา บริเวณทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 242 ช่วงตอน วังน้ำเขียว-ดอนขวาง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 19 คน บาดเจ็บ 31 คน
นายไพรัช เสนามนตรี รองผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 10 (นครราชสีมา) วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า ถนนบริเวณจุดเกิดเหตุถือเป็นถนนที่มีการสร้างมานานแล้ว แต่ล่าสุดเพิ่งได้รับงบประมาณปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน โดยมีการปรับปรุงทั้งแนวทาง ผิวทาง และสัญญาณเตือน ทำให้ถนนมีสภาพค่อนข้างดี และอาจทำให้ผู้ขับขี่หลายคนใช้ความเร็วเกินกว่าที่กำหนด
“จริงๆ จุดที่เกิดอุบัติเหตุเราได้ทำการแก้ไขไปเยอะแล้วเหมือนกัน เพราะเราได้ตัดเขาด้านซ้าย เพื่อให้โค้งมีความกว้างมากขึ้น เราฉาบผิวถนนเพื่อเพิ่มความฝืด มีการตีเส้นจราจรเพื่อเป็นสัญญาณเตือนให้รถชะลอความเร็ว อีกทั้งยังมีการติดตั้งป้ายเตือนต่างๆ อย่างครบถ้วน ถือว่าเป็นการปรับปรุงอย่างเต็มที่แล้ว แต่รถอาจจะวิ่งเร็วเกินกว่าที่เราออกแบบไว้”
นอกจากนี้รองผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 10 ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ถนนเส้นดังกล่าวมีโค้งค่อนข้างมาก และเป็นทางลาดชัน ส่วนรถที่เกิดอุบัติเหตุเป็นรถนอกพื้นที่ที่ไม่ชินเส้นทาง ประกอบกับรถมีน้ำหนักมากและเบรกแตก จึงทำให้คนขับไม่สามารถควบคุมรถเอาไว้ได้ และหลุดโค้งพลิกคว่ำตามที่ปรากฏในข่าว ทั้งนี้ย้ำว่าการขับขี่ตามความเร็วควบคุมถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก
“จะเห็นว่ารถส่วนใหญ่วิ่งเกินกว่าความเร็วที่กำหนดไว้ทั้งนั้น เลยอยากให้ทำความเข้าใจเรื่องกฎหมาย และเคารพเรื่องการควบคุมความเร็วของรถ เพราะในทางวิศวกรรมเราออกแบบมาให้วิ่งตามความเร็วที่กำหนด หากเกินกว่านั้นจะมีผลต่อการควบคุมรถ”
สำหรับสถิติอุบัติเหตุที่ผ่านมาของเส้นทางดังกล่าวจากเว็บไซต์กรมทางหลวง พบว่า ปี 2558 ทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงวังน้ำเขียว-ดอนขวาง มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 34 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บ 22 คน ส่วนปี 2559 มีอุบัติเหตุ 46 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 62 คน
ส่วนบริเวณจุดเกิดเหตุ กิโลเมตรที่ 0242+000 พบว่าในปี 2559 มีอุบัติเหตุ 1 ครั้ง เป็นรถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนในปี 2560 มีอุบัติเหตุ 1 ครั้ง เป็นรถบรรทุกมากกว่า 10 ล้อ มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 2 คน
ด้าน นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบ GPS พบว่ารถบัสคันดังกล่าวใช้ความเร็วอยู่ที่ 83 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (จุดเกิดเหตุมีป้ายเตือนให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ส่วนสภาพแวดล้อมทางกายภาพของถนนเป็นทาง 4 ช่องจราจร ทางโค้งลงเขาลาดชัน ระยะทางยาวประมาณ 6 กิโลเมตร จุดเกิดเหตุมีไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายเตือน อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยครบ โดยมี Concrete Barrier Type II เป็นตัวแบ่งทิศทางจราจร ผิวทางเป็น AC และได้ฉาบ Para Slurry Seal Type III เบื้องต้นพบว่าอุปกรณ์รถบกพร่อง (เบรกแตก) โดยสอบถามจากผู้รอดชีวิตทราบว่า รถมีอาการส่าย โดยพนักงานขับรถได้แจ้งให้ผู้โดยสารจากชั้น 2 ลงมาอยู่ห้องโดยสารชั้นล่าง หลังจากนั้นรถก็ได้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว
นอกจากนี้ ขนส่งจังหวัดกาฬสินธุ์ยังเปิดเผยข้อมูลว่า รถทัวร์หมายเลขทะเบียน 30-0161 จังหวัดกาฬสินธุ์ คันที่ประสบอุบัติเหตุ มีการตรวจสภาพเพื่อต่ออายุทะเบียนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 จะสิ้นภาษีป้ายทะเบียนในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ซึ่งถือว่าเป็นรถที่มีการตรวจสภาพต่อภาษีและใช้งานได้ตามปกติตามระบบขนส่งอนุญาต และรถคันดังกล่าวได้ทำประกันภัยไว้ 2 ประเภท คือประกันภัยภาคบังคับ และประกันภัยภาคสมัครใจ ซึ่งได้ทำกับบริษัทอาคเนย์ประกันภัย
ส่วน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความเห็นว่า จากอุบัติเหตุดังกล่าวอาจต้องมีการทบทวนการใช้รถบัส 2 ชั้นบริการนำเที่ยว โดยในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมเตรียมความพร้อมการดูแลความปลอดภัยทางถนนและการจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ เบื้องต้นยังไม่มีมาตรการอื่นเพิ่มเติมเป็นพิเศษ เพราะมาตรการยึดรถ ตรวจจับความเร็ว และมาตรการเมาแล้วขับ ใช้ได้ผลดีอยู่แล้ว
Photo: ทีมฮุค
อ้างอิง: