×

ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด พ.ร.ก. ประมงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ย้ำอัตราโทษปรับเป็นไปตามหลักนิติธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
07.10.2020
  • LOADING...
เรือ ประมง พ.ร.ก. ประมงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (7 ตุลาคม) ผศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาสำนักงานประสานงานการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 14/2563 เรื่องพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 151 วรรค 4 ซึ่งเกี่ยวกับการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

โดยกำหนดให้เจ้าของเรือที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมง และดูแลให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและการทำประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ตามที่ให้สัตยาบันไว้ และปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการของคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรประมงของประเทศและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

 

จึงมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดการประมงในเรื่องระบบบริหารจัดการการทำการประมง จัดระบบติดตามตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงในเขตน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย และกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรประมงและสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยกำหนดมาตรการควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบการประมง อันเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับบทกำหนดโทษได้แก้ไขปรับปรุงโดยเฉพาะโทษทางอาญาให้เหมาะสมและได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดด้วยเช่นกัน

 

ผศ.ดร.ธนพรกล่าวต่อไปอีกว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 อธิบายความเจตนารมณ์ของการ ‘ปฏิรูป’ ประมงได้ชัดเจนมากและมีผลผูกพันกับทุกองค์กร ที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการ ‘ปฏิรูปประมง’ ในรอบ 70 ปีอย่างแท้จริง 

 

“ขณะเดียวกัน ในเรื่องบทลงโทษปรับตาม พ.ร.ก. ประมงฯ ถ้าพิจารณาถึงการคงไว้ซึ่งทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศในระยะยาวให้เกิดความยั่งยืนและเป็นไปตามหลักนิติธรรม เนื่องจากอัตราส่วนสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น โดยเฉพาะขนาดเรือ เช่น เรือขนาดตั้งแต่ 150 ตันกรอสขึ้นไป ต้องระวางโทษปรับ 4 ล้านบาท ตามมาตรา 151 วรรค 4 แม้จะเป็นอัตราค่าปรับจำนวนสูงและมีลักษณะเป็นการกำหนดโทษปรับอัตราเดียวโดยไม่มีกำหนดเพดานขั้นต่ำขั้นสูงก็ตาม แต่เป็นไปตามหลักการกำหนดโทษหนักเบาตามขนาดของเรือที่สอดคล้องกับมูลค่าของสัตว์น้ำที่ได้จากการกระทำผิด ดังนั้นถือว่าคำวินิจฉัยนี้เป็นการเลิกวาทกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะทำตามอียูสั่ง หรือโทษปรับสูงเกินกว่าจะรับได้ ไม่ตามหลักนิติธรรม รวมถึงรังแกชาวประมงบางส่วนที่ยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย” ผศ.ดร.ธนพรกล่าวในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising