×

จับตา พ.ร.บ. ไซเบอร์ เข้า สนช. โลกออนไลน์กังวลจนติดเทรนด์ร้อนในทวิตเตอร์

โดย THE STANDARD TEAM
27.02.2019
  • LOADING...
CyberSecurity

ถือเป็นประเด็นร้อนที่ต้องรอลุ้นในวันนี้ (27 ก.พ.) เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้ว ท่ามกลางความกังวลของผู้คนบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับเนื้อหาใน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จนทำให้แฮชแท็ก #พรบไซเบอร์ ติดเทรนด์อันดับต้นๆ ในทวิตเตอร์เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

 

ความเคลื่อนไหววันนี้ที่รัฐสภา ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน เข้ายื่นหนังสือกับ นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. เพื่อเรียกร้องให้ สนช. ยุติบทบาทด้านนิติบัญญัติต่องานพิจารณาร่างกฎหมายภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

ด้านนายสมชายเปิดเผยว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สนช. คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐสภาชุดใหม่ ซึ่งการทำงานของ สนช. ตามที่ตกลงไว้คือจะพิจารณาร่างกฎหมายไปจนถึงวันที่ 15 มีนาคม ตามที่มีร่างกฎหมายบรรจุไว้ในระเบียบวาระประมาณ 20 ฉบับ และหลังจากนั้นอาจเรียกประชุมได้ แต่ต้องเป็นประเด็นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อไม่ให้กลายเป็นประเด็นในช่วงเวลาที่เดินหน้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้

 

ส่วนในโลกออนไลน์ การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างคึกคัก ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นคัดค้านเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว โดยหวั่นว่าจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากเนื้อหาร่างที่ตีความได้กว้าง และให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างมากในการรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์

 

โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวคือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ Cyber Security สามารถเข้าตรวจค้น ยึดข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ หรืออายัดคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ใดๆ เมื่อมีเหตุต้องสงสัย โดยไม่ต้องขอหมายค้นจากศาล ในกรณีที่เป็นภัยคุกคามระดับวิกฤตตามระดับภัยคุกคามทางไซเบอร์ 3 ระดับ คือเฝ้าระวัง ร้ายแรง และวิกฤต โดยให้คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการเป็นผู้พิจารณา

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X