พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร กล่าวในงาน SET in the City 2021 หัวข้อ ‘เศรษฐกิจ การลงทุน ความท้าทาย ในปี 2022’ ว่าเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว และการฟื้นตัวของโลกทำให้เราเห็นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและข้อจำกัดด้านอุปทานเพิ่มมากขึ้น ประเทศที่พัฒนาแล้วบางแห่งมีอัตราเงินเฟ้อสูงในรอบหลายปี เป็นประเด็นสำคัญที่จะเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลัง รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นประเด็นที่นักลงทุนสนใจ
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาหดตัวไป 6% และผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวราว 0.7-0.9%
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอน โดยในปีหน้าคาดว่า GDP จะขยายตัวที่ระดับ 3.9-4% ซึ่งก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่อาจจะต้องใช้เวลาไปถึงปี 2566 ถึงจะฟื้นมาชดเชยกับที่หดตัวไปในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยและการลงทุนปีหน้าอยู่ที่การคุมการแพร่ระบาดในประเทศที่จะกระทบความมั่นใจของนักท่องเที่ยว
ปัจจัยถัดมาคือการชะลอตัวเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในจีน และการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศจีนเอง ซึ่งเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวจะกระทบกับไทยค่อนข้างมากที่สุดในอาเซียน เพราะเราอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน โดยไทยส่งออกไปจีน 12-13% เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย หากจีนชะลอการนำเข้าสินค้าจากไทย คาด GDP จีนปีหน้าโต 4% เทียบกับปีนี้ 7-8%
นอกจากนี้ยังต้องจับตาเงินเฟ้อที่จะกระทบค่าครองชีพ ความสามารถในการใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจ โดยเงินเฟ้อในสหรัฐฯ 6.2% กระทบอัตราค่าจ้างแรงงานและปัจจัยการผลิตหลายๆ ด้าน สะท้อนการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวผ่านตลาดพันธบัตร 5 ปีที่คาดการณ์เงินเฟ้อจะสูงถึง 3% ใน 5 ปีข้างหน้า และสูงกว่า 2.5% ใน 10 ปีข้างหน้า แนวโน้มดอกเบี้ยที่เคยขาลงมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา หากกลับมาเป็นขาขึ้นจะกระทบกับการลงทุนอย่างไรบ้าง
“สิ่งที่ธนาคารกลางกังวล หากเงินเฟ้อสูงเป็นเวลานานจะกดลงได้ลำบาก และอาจเหมือนสถานการณ์เมื่อปี 1970 ที่เงินเฟ้อสูงมากจนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงมากเพื่อกดเงินเฟ้อลงมา ซึ่งตลาดคาดการณ์แล้วว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งปีหน้าหลังจากเห็นสัญญาณเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มส่งสัญญาณถอนการกระตุ้นและขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว”
ขณะที่นโยบายดอกเบี้ยไทยกำลังเจอความท้าทายจากวงจรเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องประเทศใหญ่ โดยเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวในขณะที่เศรษฐกิจประเทศอื่นฟื้นแล้ว แต่เรากลับเผชิญอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นเช่นกัน มีผลต่อการกู้ยืมเงินของบริษัทและการลงทุนต่างๆ โดยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยเริ่มปรับขึ้นแล้ว
กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ที่ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 6% และจีนซึ่งคาดว่าจะเติบโต 8% ถือเป็นโอกาสสำหรับเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการส่งออกและการลงทุนที่มีทิศทางดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่ตามมาคือ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น รวมไปถึงค่าระวางเรือและราคาเซมิคอนดักเตอร์ที่ปรับเพิ่มขึ้น
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามคือ ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ และดอกเบี้ยโลก ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น หลัง Fed เริ่มลด QE ปลายปีนี้ และยุติ QE กลางปีหน้า ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ที่จะแข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกันอาจเห็น Fed เริ่มขึ้นดอกเบี้ยในปลายปี 2022 และยังมีการคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปี 2023
ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพิจารณาทิศทางเศรษฐกิจอีกครั้ง และอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2023 เช่นกัน
“เศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และคาดว่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดได้ในปี 2566 ทำให้ภาครัฐยังคงต้องใช้เม็ดเงินในมาตรการเยียวยาและการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก
โดยกิริฎาประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตใกล้เคียงระดับ 1% ส่วนปีหน้าจะขยายตัวประมาณ 3.5%
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพตลาดทุนไทยในปี 2022 จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ไม่เท่ากันในแต่ละอุตสาหกรรม โดยภาคอุตสาหกรรมโต 47% เทคโนโลยีโต 45% เกษตรและอาหารโต 11% ส่วนใหญ่มาจากรายได้จากต่างประเทศที่เติบโตจากภาคการส่งออก ซึ่งหากโลกฟื้นตัวได้ดี กลุ่มนี้จะได้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม ภาคที่ยังฟื้นตัวช้าอย่างภาคการเงิน ประกัน บริโภคครัวเรือน บริการ อสังหา พลังงานและทรัพยากร แม้จะยังไม่ฟื้นตัวเร็วนัก แต่ก็เป็นกลุ่มที่น่าสนใจที่จะเข้าไปหาโอกาสการลงทุน เช่นเดียวกับกลุ่ม Well-being ที่การฟื้นที่ไม่เร็ว เพราะถูกกระทบจากโควิดค่อนข้างมาก แต่เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว พักผ่อน เดินทางเครื่องบิน ฯลฯ
นอกจากนี้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับการลงทุนหุ้นยั่งยืน (ESG) มากขึ้น โดยปีนี้มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่เข้าสู่ดัชนีระดับโลกอย่าง Dow Jones Sustainability Index (DJSI) 24 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มี 21 บริษัท ขณะที่นักลงทุนก็ให้ความสำคัญกับกระแส ESG มากขึ้น โดยเฉพาะรายย่อยในประเทศ ซึ่งหากมาดูที่ผลตอบแทนเราจะเห็นว่าหุ้นที่อยู่ใน DJSI ให้ผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่ม SET 100 ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนไทยในขณะนี้มีบทบาททางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยมีขนาดใหญ่คิดเป็น 1.2 เท่าของ GDP ไปแล้ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดทุนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการเข้ามาระดมทุนที่หลากหลายทั้งตลาดแรกและตลาดรอง โดยเฉพาะการระดมทุนในตลาดรองที่มีเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ปริมาณการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 ปริมาณการซื้อขายต่อวันอยู่ที่วันละ 5.2 หมื่นล้านบาท แต่ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณการซื้อขายต่อวัน 9.5 หมื่นล้านบาท โดยมาจากนักลงทุนรายย่อย 47% ต่างประเทศ 37% ส่วนสถาบันและบริษัทหลักทรัพย์ 10% สัดส่วนของนักลงทุนนี้เข้ามาช่วยสร้างสมดุลของการซื้อขายได้ ที่น่าสนใจคือนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 9 เดือนแรกมีนักลงทุนรายย่อยเปิดบัญชีแล้ว 1.4 ล้านบัญชี ทำให้ภาพนักลงทุนเปลี่ยนไปมาก โดยซื้อขายออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอยู่ที่ 86%
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP