×

Moderna ที่จองไว้ รอต่อไปหรือฉีดยี่ห้ออื่น? ตอบคำถามของผู้ฉีด Sinovac ครบ 2 เข็ม

05.10.2021
  • LOADING...
Moderna

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว จะถือว่าได้รับวัคซีนครบตามที่กำหนดไว้ตอนแรก เหมือนผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer 2 โดสครบแล้ว ซึ่งเรียกว่า ‘วัคซีนชุดแรก’ (Primary Series) ส่วนวัคซีนที่ได้รับหลังจากนั้น เช่น วัคซีนโดสที่ 3 จะมีแนวคิดในการใช้วัคซีน 2 แบบที่แตกต่างกันคือ โดสเพิ่มเติม (Additional Dose) และโดสกระตุ้น (Booster Dose) 
  • ข้อมูลจากการศึกษาของศูนย์วิจัยภายในประเทศพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันมีค่าลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 40 วัน ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบมานานกว่า 2 เดือนมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบไม่เกิน 2 เดือน และอีกการศึกษาหนึ่งพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ประมาณ 3 เดือนหลังได้รับวัคซีนครบ และแทบไม่สามารถยับยั้งสายพันธุ์กลายพันธุ์ได้
  • หากท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค หรืออาชีพเสี่ยงที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนจำนวนมากควรได้รับเข็มกระตุ้นตามกำหนด ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มมานานแล้ว และต้องการรอวัคซีน Moderna ควรประเมินความเสี่ยงในการได้รับเชื้อมากน้อยเพียงใดระหว่างที่รอวัคซีน ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะมาตามกำหนดหรือไม่

ฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว ควรรอ Moderna ที่จองไว้ต่อไปหรือไม่ ความลังเลเกิดขึ้นเมื่อกำหนดการส่งมอบวัคซีน Moderna ต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมในเดือนตุลาคมนี้ โดยบริษัทซิลลิค ฟาร์มา ชี้แจงว่าจะส่งมอบวัคซีน 1.9 ล้านโดสภายในไตรมาส 4 ของปี 2564 และคาดว่าจะเริ่มส่งมอบครั้งแรกได้ในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากกำลังการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ

 

ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็มีแผนการจัดสรรวันซีนเข็มกระตุ้น 1 เข็มให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็มตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว ควรฉีดวัคซีนกับทางภาครัฐหรือรอ Moderna ที่จองไว้กับภาคเอกชน? คำตอบอาจขึ้นกับว่าท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือไม่ ได้รับวัคซีน Sinovac มานานเท่าไร และมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อมากน้อยเพียงใด

 

การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3

 

ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว จะถือว่าได้รับวัคซีนครบตามที่กำหนดไว้ตอนแรก เหมือนผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer หรือยี่ห้อที่กำหนดให้ฉีดทั้งหมด 2 โดสครบแล้ว ซึ่งเรียกว่า ‘วัคซีนชุดแรก’ (Primary Series) ส่วนวัคซีนที่ได้รับหลังจากนั้น เช่น วัคซีนโดสที่ 3 จะมีแนวคิดในการใช้วัคซีน 2 แบบที่แตกต่างกันคือ โดสเพิ่มเติม (Additional Dose) และโดสกระตุ้น (Booster Dose) กล่าวคือ

 

  • โดสเพิ่มเติม เมื่อภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากวัคซีนชุดแรกไม่เพียงพอ พบในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดภูมิคุ้มกันจากการรักษาโรคมะเร็ง การปลูกถ่ายอวัยวะ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (FDA) อนุมัติการใช้วัคซีน Pfizer แบบนี้ตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2564 โดยฉีดห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 4 สัปดาห์

 

  • โดสกระตุ้น เมื่อภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากวัคซีนชุดแรกลดลงตามเวลาที่ผ่านไป ซึ่งจากการติดตามประสิทธิผลของวัคซีนในสหรัฐฯ พบว่าประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้วประมาณ 6 เดือน ในขณะที่ยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้ FDA จึงอนุมัติการใช้วัคซีน Pfizer แบบนี้เมื่อ 22 กันยายน 2564

 

ปัจจุบันศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ (CDC) ยังแนะนำการฉีดโดสกระตุ้นให้กับเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, ผู้มีอายุ 18 ขึ้นไปในสถานที่ดูแลระยะยาว (Long-term care setting), ผู้มีอายุ 18 ขึ้นไปที่มีโรคประจำตัว และผู้มีอายุ 18 ขึ้นไปที่ทำงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ โดยฉีดห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน

 

สังเกตว่า CDC ใช้เกณฑ์อายุ (Age-based) และความเสี่ยง (Risk-based) ในการกำหนดลำดับความสำคัญ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีน 2 เข็มแรก ตามที่ ดร.โรเชล วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 ว่า “การตัดสินใจเกี่ยวกับการฉีดโดสกระตุ้นจะไม่เบี่ยงเบนเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของเรา นั่นคือการฉีดวัคซีนชุดแรกในสหรัฐฯ และทั่วโลก”

 

ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน Sinovac 2 เข็ม

 

หากจะพิจารณาการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมในผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มด้วยหลักการเดียวกันกับข้างต้น จะต้องอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับระดับภูมิคุ้มกันและประสิทธิผลของวัคซีนชุดแรกและหลังได้รับโดสกระตุ้น ซึ่งเป็นฝั่ง ‘ประโยชน์’ ชั่งน้ำหนักกับฝั่ง ‘โทษ’ เช่น ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน แต่ข้อมูลของวัคซีน Sinovac มีค่อนข้างจำกัด ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย

 

ข้อมูลประสิทธิผลในประเทศชิลีที่ตีพิมพ์ในวารสาร The New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ซึ่งประเมินในช่วง 3 เดือนแรกหลังเริ่มฉีดวัคซีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่าป้องกันการติดเชื้อ 65.9% และป้องกันการนอนโรงพยาบาล 87.5% แต่สายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนั้นคือสายพันธุ์แกมมาและอัลฟา ส่วนข้อมูลในประเทศไทยมีการเผยแพร่ผ่านสื่อ แต่ไม่มีการตีพิมพ์ 

 

โดยกรมควบคุมโรคศึกษาประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม 2564 พบว่าเท่ากับ 71, 74 และ 71% ตามลำดับ ถือว่ามีแนวโน้มคงที่ ทั้งที่ในเดือนมิถุนายนเริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาแล้ว แต่หลังจากนั้น (17 สิงหาคม 2564) กรมควบคุมโรคก็ไม่ได้เผยแพร่ประสิทธิผลของวัคซีนภายในประเทศต่ออีกเลย

 

ส่วนข้อมูลระดับภูมิคุ้มกัน เดือนกรกฎาคม 2564 มีผลการศึกษาของศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับ BIOTEC พบว่าภูมิคุ้มกันหลังจากได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 40 วัน ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบมานานกว่า 60 วันมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบไม่เกิน 60 วัน และเทียบเท่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 50% 

 

ล่าสุดมีผลการศึกษาของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) ร่วมกับศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตีพิมพ์ในวารสาร Emerging Infectious Diseases เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 พบว่าระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งไวรัสของผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ 10-12 สัปดาห์ และแทบไม่สามารถยับยั้งสายพันธุ์เบตา (1.2%) และเดลตา (1.0%) 

 

ถึงแม้จะไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีน Sinovac จากการติดตามในระยะยาว แต่อาจใช้ข้อมูลระดับภูมิคุ้มกันเป็นตัวแทนหรือบอกแนวโน้มได้ ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม จึงควรได้รับวัคซีนโดสกระตุ้นอย่างเร็วที่สุด 3 เดือน ปลายเดือนที่แล้วกระทรวงสาธารณสุขจึงเริ่มมีนโยบายฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนทั่วไปที่ได้รับวัคซีน Sinovac ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนเข็มกระตุ้น

 

ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 โดยเริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์ก่อน เพราะได้รับวัคซีนไปตั้งแต่เดือนมีนาคม และเป็นกลุ่มอาชีพเสี่ยง วัคซีนที่ใช้ในช่วงแรกคือ AstraZeneca ต่อมาเป็น Pfizer ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม แต่จนถึงปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังมีเพียงในระดับภูมิคุ้มกัน 

 

เดือนสิงหาคมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยแพร่ผลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งไวรัสสายพันธุ์เดลตาหลังจากได้รับวัคซีนสูตรปกติและสูตรไขว้ครบโดส 2 สัปดาห์ พบว่า วัคซีน Sinovac 2 เข็มยับยั้งไวรัสได้ต่ำที่สุด 24.3 หน่วย แต่เมื่อกระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3 ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นเป็น 271.2 หน่วยซึ่งสูงที่สุด (เปรียบเทียบกับวัคซีน AstraZeneca 2 เข็มเท่ากับ 76.5 หน่วย)

 

เดือนถัดมามีผลการศึกษาของศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปรียบเทียบการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยี่ห้อต่างๆ ในผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม 8-12 สัปดาห์ พบว่า วัคซีน Pfizer เต็มโดสกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้สูงที่สุด 5,723 หน่วย รองลงมาเป็น Pfizer ครึ่งโดส และ AstraZeneca ซึ่งเท่ากับ 4,598 และ 1,599 หน่วย ตามลำดับ 

 

 

สำหรับวัคซีน Moderna ยังไม่มีผลการศึกษา เนื่องจากยังไม่ได้นำเข้ามาในประเทศไทย แต่เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนกับ Pfizer จึงน่าจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้อาจต้องรอผลการศึกษาในอินโดนีเซีย เพราะบุคลากรทางการแพทย์ในอินโดนีเซียที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มได้รับการจัดสรรวัคซีน Moderna เป็นโดสกระตุ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 

 

ชิลีกำหนดให้ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม เกิน 5 เดือนขึ้นไปฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นโดสกระตุ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ส่วนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ใช้วัคซีน Sinopharm ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายเหมือนกับ Sinovac กำหนดให้วัคซีน Pfizer เป็นโดสกระตุ้น โดยฉีดห่างจากวัคซีนชุดแรก 3 เดือนหากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง และ 6 เดือนสำหรับประชาชนทั่วไป

 

คำแนะนำในประเทศไทย

 

แนวทางการให้วัคซีนโควิดของกรมควบคุมโรค ฉบับสิงหาคม 2564 ยังไม่มีคำแนะนำการฉีดวัคซีนโดสกระตุ้นในประชาชนทั่วไป แต่มีคำแนะนำในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็ม ควรได้รับวัคซีน AstraZeneca หรือวัคซีนชนิด mRNA อีก 1 เข็ม โดยฉีดห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้มีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง และป้องกันโรคจากไวรัสกลายพันธุ์ได้ดีขึ้น

 

ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2564 ศบค. แถลงแผนการจัดสรรวัคซีนโควิด เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 ระบุกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในแต่ละเดือนดังนี้

  • ตุลาคม 2564 ผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็มในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564 
  • พฤศจิกายน 2564 ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็มในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 และผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดช่วงเดือนธันวาคม 2562-เมษายน 2564
  • ธันวาคม 2564 ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 เข็มทุกราย และผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดทุกราย

 

แสดงว่ากระทรวงสาธารณสุขกำหนดระยะห่างระหว่างเข็มกระตุ้นและเข็มที่ 2 อย่างน้อย 5 เดือนในประชาชนทั่วไป ซึ่งใกล้เคียงกับคำแนะนำการฉีดโดสกระตุ้นในสหรัฐฯ ของ CDC ซึ่งกำหนดระยะห่างอย่างน้อย 6 เดือน แต่กระทรวงฯ อนุมัติให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายทุกคน (ไม่ได้กำหนดกลุ่มเสี่ยง) และถ้าเป็นไปได้ควรอธิบายเหตุผลหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าใช้หลักฐานใดประกอบการพิจารณา

 

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตอบคำถามเรื่องการฉีดโดสกระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca จากรัฐ หรือวัคซีนชนิด mRNA ของเอกชนที่จองไว้ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “บูสไปก่อนได้เลย ภูมิของคนส่วนใหญ่ขึ้นสูงดีมาก สู้ความรุนแรงของไวรัสเดลตาได้” ส่วนจะกระตุ้นอีกครั้งเมื่อไรให้รอข้อมูลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันที่ 3-6 เดือนอีกครั้ง 

 

โดยสรุปผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำหนดระยะเวลาระหว่างเข็มที่ 2 กับเข็มที่ 3 ไว้อย่างน้อย 5 เดือน แต่มีข้อมูลจากการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันพบว่าลดลงมากเมื่อผ่านไปประมาณ 3 เดือน หากท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค หรืออาชีพเสี่ยงที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนจำนวนมากควรได้รับเข็มกระตุ้นตามกำหนด 

 

ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มมานานแล้ว และต้องการรอวัคซีน Moderna ควรประเมินความเสี่ยงในการได้รับเชื้อมากน้อยเพียงใดระหว่างที่รอวัคซีน ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะมาตามกำหนดหรือไม่ โดยบริบทในขณะนี้ประเทศไทยใช้แนวคิดอยู่ร่วมกับโควิด ซึ่งยอมรับความเสี่ยงของการติดเชื้อในระดับต่ำที่ไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข ทำให้มีโอกาสเกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์ได้ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X